‘วิโรจน์’ บุกแฟลต ‘นายพล’ เล็งขอที่ราชพัสดุ สร้างที่พักให้คนจนได้อยู่ในเมือง

ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ลงพื้นที่แฟลตสวัสดิการข้าราชการกองทัพบก เปิด นโยบายที่อยู่อาศัยเพื่อประชาชน เล็งขอความอนุเคราะห์ที่ราชพัสดุ มาสร้างบ้านให้คนมีรายได้น้อยได้อาศัยอยู่ในเมือง

วันนี้ (10 มี.ค.) วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. จากพรรคก้าวไกล และ ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรค เดินทางมายังแฟลตสวัสดิการข้าราชการกองทัพบก เพื่อนำเสนอ นโยบาย Affordable Housing ที่อยู่อาศัยเพื่อประชาชน

โดย วิโรจน์ได้ชี้แจงถึงเหตุผลที่เลือกแฟลตสวัสดิการข้าราชการกองทัพบกเป็นที่เปิดนโยบายนี้ว่า หากเราสามารถสร้างที่อยู่อาศัยใจกลางเมืองให้กับเหล่านายพลได้ เราก็ควรต้องสร้างที่อยู่อาศัยให้กับประชาชนได้เช่นเดียวกัน

ในการลงพื้นที่ครั้งนี้ วิโรจน์ ตั้งคำถามว่า ที่ทำการฝ่ายความมั่นคง – เหมาะสมหรือไม่ที่จะตั้งอยู่ใจกลางเมือง? เพราะหากค่ายทหารไม่จำเป็นต้องอยู่ในเมือง ตนก็เล็งจะขอพื้นที่กองทัพใช้เป็นพื้นที่สาธารณประโยชน์แทน

โดยระหว่างการสำรวจแฟลตนายพล วิโรจน์ ยังให้ข้อมูลถึงสวัสดิการบ้านพักของทหาร ว่าเฉพาะแฟลตที่กำลังเยี่ยมชมอยู่นี้ ใช้งบประมาณมากกว่า 2,100 ล้านบาท มีทั้งหมด 94 ยูนิต 18 ชั้น และแต่ละห้อง มีความกว้างถึง 90 ตร.ม. 2 ห้องนอน 2 ห้องน้ำ 1 ห้องนั่งเล่น แต่จะเข้าอยู่ได้เฉพาะนายทหารระดับนายพลเท่านั้นซึ่งเวลานี้มีอยู่ประมาณ 1,600 คน

ทั้งนี้ ทำให้ผุดไอเดียขึ้นว่าจะขอความอนุเคราะห์ ที่ราชพัสดุ และที่ของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ มาทำเป็นที่อยู่อาศัยให้กับคนรายได้น้อย ได้เข้ามาอยู่ในเมือง เพื่อเป็นสวัสดิการที่พักให้คนกรุงเทพฯ สามารถเข้าถึงได้ในราคาที่จ่ายไหว

“ผู้ที่มีรายได้น้อยถึงปานกลางจำนวนมาก ถูกถีบให้ออกไปอยู่ในเขตชานเมือง ในทุกวันพวกเขาต้องแบกรับค่าโดยสาร เข้ามาทำงานในเมือง ไปกลับกว่า 100 บาท จะดีกว่าหรือไม่ ถ้าเรานำที่ดิน ที่ทุกวันนี้ไม่ได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ มาสร้างที่อยู่อาศัยในเขตเมืองให้กับประชาชน

ด้าน ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ระบุว่า ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ราคาที่อยู่อาศัยในกรุงเทพมหานครถีบตัวสูงขึ้น และโตเร็วกว่าเงินเดือนเฉลี่ยถึง 3 เท่า ผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลางไม่สามารถเข้าถึงที่อยู่อาศัยที่มีคุณภาพได้ คนอยู่ไกลก็ต้องแบกรับภาระค่าเดินทางที่เพิ่มขึ้น เป็นปัญหาของเมือง เพราะคนรายได้น้อย จะไม่สามารถเข้ามาทำงานในเมืองได้

อีกทั้งที่ผ่านมาก็มีแต่มาตรการช่วยเหลือคนรายได้น้อย การลดหย่อนภาษี ส่วนคนจนที่เช่าบ้าน กลับเข้าไม่ถึงสิทธิประโยชน์ตรงนี้เลย ที่ผ่านมาการแก้ปัญหาในรูปแบบของ “การเคหะฯ” ก็มักจะผลักคนจนออกไปอยู่ชานเมือง ทำให้ไม่สามารถสร้างสมดุลระหว่างที่อยู่อาศัย กับแหล่งทำมากหากินของประชาชนได้เลย

เล็งสร้างบ้านคนจนในเมือง 20,000 ยูนิต งบ 15,000 ล้านบาท

วิโรจน์ ระบุว่า มีนโยบายที่ตั้งเป้าสร้างบ้าน 20,000 ยูนิต โดยวางเป้าหมาย 4 ปีแรก จำนวน 10,000 ยูนิต งบประมาณ 15,000 ล้านบาท โดยช่วงแรกจะต้องเจรจาขอความอนุเคราะห์ที่ดินราชพัสดุ ที่ดินสำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ด้วยวิธีการซื้อ หรือ เช่า และอาจเวนคืนที่ดินตาบอด และที่ดินรกร้างที่ใช้ไม่เกินประโยชน์ นำมารวมรวมไว้สร้างเป็น สวัสดิการให้กับประชาชนได้มีที่อยู่อาศัยมั่นคงโดยไม่ตีตราว่าต้องเป็นผู้มีรายได้น้อยเท่านั้น

สำหรับฟสแรก 10,000 ยูนิต ใน 4 ปีแรก จะต้องตรวจสอบคุณสมบัติผู้มีรายได้น้อย-ปานกลาง คู่ขนานไปกับการแก้ปัญหาของรัฐที่ทำอยู่แล้ว โดยมองว่า การเคหะฯ คงสร้างบ้านไม่เพียงพอความต้องการบ้าน

นอกจากนี้ ยังได้เสนอไอเดียว่าที่อยู่อาศัยยังจำเป็นต้องมีระบบสุขาภิบาลที่ดี มีที่ทำมาหากิน ขนส่งสาธารณะ และมีช่องทางให้นิติบุคคลหารายได้ เช่น ค่าเช่าตลาด ค่าที่จอดรถ ฯลฯ เพื่อเป็นทุนไว้ใช้ในการบำรุงรักษาตึกระยะยาวไม่ให้ทรุดโทรม ขณะที่รัฐเองก็ควรมีนโยบายอุดหนุนเงินบางส่วนให้อยู่ในสภาพที่ดี มีค่าบำรุงส่วนกลางโดยไม่ผลักภาระไปให้กับผู้เช่าทั้งหมด โดยย้ำว่า สวัสดิการที่จะสร้างจะพยายามให้ตั้งอยู่ใน ทำเลใจกลางเมืองใกล้รถไฟฟ้ามากที่สุด ลดค่าใช้จ่ายด้านการเดินทางให้กับ คนจนเมือง

Author

Alternative Text
AUTHOR

บุศย์สิรินทร์ ยิ่งเกียรติกุล

เรียนจบสายวิทย์-สังคมฯ-บริหารรัฐกิจฯ ทำงานไม่ตรงสาย และกลายเป็น "เป็ด" โดยไม่รู้ตัว สนใจการเมือง จิตวิทยาเด็ก วิธีคิดการมองสังคม และรักการสัมภาษณ์ผู้คน