“Policy Watch”รับรางวัลนวัตกรรมเชิงนโยบายระดับประเทศ

ในฐานะสื่อแรก เปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมติดตามตรวจสอบนโยบายสาธารณะ ครั้งแรก! สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) มอบรางวัลเชิดชู “ผลงานนวัตกรรมระดับองค์กร และระดับประเทศ” หวังสร้างแรงบันดาลใจ “ปูทางไทยสู่ประเทศที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม

วันนี้ (12 ตุลาคม 2567) เวทีเชิดชูเกียรติผู้ขับเคลื่อนนวัตกรรมเชิงนโยบาย  Policy Innovation Recognition ของ สถาบันวิทยาการนวัตกรรม (NIA Academy) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) จัดขึ้นเป็นครั้งแรกให้กับนักเรียนศิษย์เก่าหลักสูตร PPCIL รุ่น 1-6 เพื่อเป็นการสร้างแรงบันดาลใจและส่งเสริมให้นำเอาองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมไปประยุกต์ใช้ทั้งในระดับองค์กร และประเทศ โดยมีการเข้าร่วมประกวดชิงรางวัลกว่า 40 นวัตกรรมเชิงนโยบาย และได้รับการคัดเลือกเหลือเพียง 17 นวัตกรรม แบ่งป็น นวัตกรรมเชิงนโยบายระดับองค์กร จำนวน 4 รางวัล และรางวัลนวัตกรรมเชิงนโยบายระดับประเทศ 13 รางวัล

ทั้งนี้ Policy Watch จับตาอนาคต ประเทศไทย ของ Thai PBS เป็นหนึ่งใน 13 นวัตกรรม ที่ได้รับการคัดเลือกให้รับรางวัลการขับเคลื่อนนวัตกรรมเชิงนโยบายระดับประเทศ ซึ่งที่ผ่านมายังไม่มีสื่อที่ทำเว็บไซต์เกี่ยวกับการติดตามตรวจสอบนโยบาย

ณาตยา แวววีรคุปต์ ผู้อำนวยการศูนย์สื่อสารวาระทางสังคมและนโยบายสาธารณะ ให้สัมภาษณ์ว่า กว่าจะมาเป็น Policy Watch ต้องผ่านกระบวนการออกแบบนโยบายสาธารณะ ด้วยการสร้างนวัตกรรมประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม ผ่าน 3 กิจกรรมต่อเนื่อง ตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้ง 2566


ก่อนการเลือกตั้ง
1.Post election Project “ภาพอนาคต หลังเลือกตั้ง” ซึ่งไทยพีบีเอส และองค์กรภาคีเครือข่าย นำเครื่องมือนวัตกรรมทางสังคมมาใช้พัฒนาโจทย์คำถาม หาคำตอบ และกระบวนการการมีส่วนร่วม เพื่อค้นหาฉากทัศน์ของประเทศ (Scenario Thailand) และภาพอนาคตเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Foresight) ซึ่งจะเป็นพลังของพลเมืองที่ร่วมค้นหาภาพอนาคตของประเทศร่วมกัน


โค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง
2.Hack Thailand 2575 “พลิกโฉมประเทศไทย สู่ภาพอนาคตหลังเลือกตั้ง” ไทยพีบีเอส และองค์กรภาคีเครือข่าย ร่วมกันจัดกิจกรรม Hackathon เปิดพื้นที่ให้ ประชาชนในหลากหลายภาคส่วน มีส่วนร่วมในการระดมความคิดและเสนอนโนบาย ผ่าน 6 ประเด็น 12 นโยบาย ซึ่งได้การตอบรับจาก 8 พรรคการเมืองที่เข้าร่วมฟังพร้อมนำไปออกแบบเป็นนโยบายของพรรค


หลังการเลือกตั้ง
3.Policy Watch เป็นนวัตกรรมการสื่อสารนโยบายสาธารณะบนแพลตฟอร์มออนไลน์ ที่เห็นความสำคัญของการมีเครื่องมือนวัตกรรมเพื่อติดตามความคืบหน้าในการดำเนินนโยบายพร้อมทั้งเปิดพื้นที่ให้ประชาชนได้ร่วมติดตามตรวจสอบรวมถึงมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนนโยบายอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นที่มาของการสร้างพื้นที่การสื่อสารนโยบายสาธารณะ

ปัจจุบัน Policy Watch มีการ Tracking นโยบาย 8 หมวด 47 หัวข้อ คลอบคลุมนโยบายด้านสังคม เศรษฐกิจ คุณภาพชีวิต การเกษตร สิ่งแวดล้อม รัฐธรรมนูญและกฎหมาย การบริหารงานภาครัฐ การศึกษา และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทำให้ผู้ที่สนใจสามารถติดตามความคืบหน้านโยบายต่างๆ ที่ได้รวบรวมไว้อย่างครบถ้วนมากที่สุด

ขณะที่ รางวัลนวัตกรรมเชิงนโยบาย ระดับองค์กร 4 นวัตกรรม ประกอบด้วย

  • True Digital Park กับการสร้างและสนันสนุน tech startup ecosystem ให้กลุ่มบริษัททรู และประเทศไทย
  • Real Smart Innovation Lab: การปฏิรูปกระบวนการทำงานด้วย AI และ Automation เพื่อขับเคลื่อนนวัตกรรมและประสิทธิภาพองค์กร
  • โครงการจัดตั้งศูนย์วิจัยเกี่ยวกับอุตสาหกรรมทางทหารพื้นที่ Defense-related industry research zone
  • AIoT Innovation Park อุทยานนวัตกรรมด้าน AI และ IoT คือ สถานที่ที่ช่วยพัฒนา ปรับปรุง Smart Solution ให้กับลูกค้าแบบครบวงจร

รางวัลนวัตกรรมเชิงนโยบาย ระดับประเทศ 13 นวัตกรรม ประกอบด้วย

  • โครงการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันภัยอาชญากรรมทางเทคโนโลยี Cyber Vaccinated สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
  • Regional Entrepreneurial Management Trainee (REMT)
    มุ่งเน้นการให้ผู้ประกอบการได้ทำงานร่วมกับนักศึกษาทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศจากกว่า 10 ประเทศ และ 40 มหาวิทยาลัยทั่วโลก
  • Saturday School มูลนิธิโรงเรียนวันเสาร์
  • นโยบายเยาวชนเพื่อเยาวชนโดยเยาวชน-สุขภาพจิตเยาวชน Thailand Policy Lab, UNDP
  • Thailand Coffee Fest และ Thailand Rice Fest บริษัท Cloud & Ground Co, LTD
  • Smart PIPO: ระบบแจ้งเข้าแจ้งออกเรือประมง และตรวจสอบแรงงานประมงอัจฉริยะ
  • การสร้าง New S-Curve ให้กับประเทศ
  • โครงการพัฒนานักศึกษาและอาจารย์อาชีวะศึกษารุ่นใหม่ สู่เทคโนโลยีแห่งอนาคต
  • HOPE Task Force: ทีมปฏิบัติการพิเศษป้องกันการฆ่าตัวตาย
  • Policy Watch จับตาอนาคต ประเทศไทย
  • สร้างโอกาส SME ไทยสู่สากลผ่านเครือ CP การพัฒนาและนวัตกรรมเชิงนโยบายเพื่อความยั่งยืน
  • กรณีศึกษา ARI Verse (Metaverse)
  • EGAT EV Business Solutions/นวัตกรรมด้านสถานีอัดประจุไฟฟ้า โดย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ย้ำว่า งานนี้คือจุดเริ่มต้นของการต่อยอดนวัตกรรมเชิงนโยบาย และในอนาคตจะยกระดับสู่รางวัลระดับประเทศ เพื่อให้ประเทศไทยเข้าใกล้การเป็นประเทศที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมเชิงนโยบาย

นอกจากนี้ภายในงานยังมีเสวนาพิเศษ“แนวทางการออกแบบนวัตกรรมเชิงนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาภัยพิบัติ” เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และแนวทางในการสร้างสรรค์นโยบายเชิงนวัตกรรมที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืน โดยมีวิทยากร รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร, รศ.เสรี ศุภราทิตย์ รองประธานกรรมการมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ, กริชผกา บุญเฟื่อ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน), ผศ.นิอร สิริมงคลเลิศกุล อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา, ณาตยา แวววีรคุปต์ ผู้อำนวยการศูนย์สื่อสารวาระทางสังคมและนโยบายสาธารณะ และครอบครัว PPCIL ที่มาร่วมกันคิดออกแบบนวัตกรรม เพื่อหาแนวทางการแก้ปัญหา และการป้องกันภัยพิบัติ จ.เชียงราย และพื้นที่ภาคใต้ต่อไป


Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active