ไทยพีบีเอส จัดกิจกรรม “Open House” เปิดบ้านไทยพีบีเอส ในวาระครบรอบ 15 ปี ประกาศคำมั่นสัญญาก้าวต่อไปของการเป็นสื่อสาธารณะเพื่อประชาชน พร้อมเปิดตัว “Policy Watch” แพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วม ปิดช่องว่างระหว่างนโยบายและสาธารณะ และเวทีแสดงทัศนะเกี่ยวกับนโยบายสาธารณะที่มีความเป็นประชาธิปไตย
วันนี้ (15 ธ.ค. 2566) ที่องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย หรือ ส.ส.ท. (Thai PBS) จัดกิจกรรม “Open House” เปิดบ้านไทยพีบีเอส ในวาระครบรอบ 15 ปี และเปิดตัวแฟลตฟอร์มใหม่ Policy Watch พื้นที่เพื่อการมีส่วนร่วมและขับเคลื่อนนโยบายให้มีความเป็นประชาธิปไตย พร้อมเวทีเสนอทิศทางการติดตามนโยบายสาธารณะโดยตัวแทนภาคการเมืองฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน นักวิชาการนโยบายสาธารณะ สื่อ และประชาชน
รศ.วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการ ส.ส.ท. กล่าวว่า การจัดงานเปิดบ้านครั้งนี้ เพื่อเป็นการขอบคุณประชาชนสนับสนุนการทำงานเพื่อสังคมของไทยพีบีเอสมาโดยตลอด ซึ่งที่ผ่านมาได้มีความพยายามในการพัฒนา แก้ไขข้อผิดพลาด จากสื่อที่ทำทีวีช่องเดียว สู่การเป็นสื่อที่มีหลากหลายช่องทาง รวมทั้งการใช้ AI มาพัฒนา ให้เข้าถึงประชาชนมาขึ้น โดยในวาระครบรอบ 15 ปี มีคำมั่นสัญญาจากไทยพีบีเอส สู่พี่น้องประชาชน 5 เรื่อง คือ
- One Thai PBS เชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียว เข้าถึงเนื้อหาเราในหนึ่งเดียว
- More than TV การเป็นมากกว่าสื่อโทรทัศน์ คือจะเป็นสื่อที่ชวนสังคมเดินไปข้างหน้า เป็นสื่อเพื่อร่วมหาทางออกให้สังคมอย่างสร้างสรรค์ เป็นพื้นที่ขับเคลื่อนประเด็นสาธารณะร่วมกัน และเตรียมประกาศวาระทางสังคม ร่วมขับเคลื่อนกับทุกภาคส่วน โดยเฉพาะ “สุขภาวะทางจิต” และผลักดันให้เป็นนโยบายสาธารณะ ผ่านกลไกของ “Policy Watch”
- Thai Originals ภาคภูมิไทย คือเป็นส่วนหนึ่งในการนำความภาคภูมิใจของท้องถิ่น ความภาคภูมิใจของประเทศเคลื่อนสู่สากล นำเนื้อหาที่สร้างสรรค์ไปสู่พลังขับเคลื่อนทางวัฒนธรรม ส่วนหนึ่งของ Sofe Power
- Global Citizen เตรียมความพร้อมสู่การเป็นพลเมืองโลก โดยเทคโนโลยีในทำงาน สร้างระบบนิเวศสื่อสาธารณะและท้องถิ่นให้มีความเข้มแข็งยืนได้ด้วยตัวเอง
- Connecting the Nation สานต่อคุณค่า เชื่อมต่อความหลากหลาย ทำงานร่วมกันในโครงการ Policy Watch
“ปี 2567 เป็นปีที่เราจะทำตามเจตจำนงที่เราเคยประกาศไว้จะไม่มีการเปลี่ยนแปลง คือการเป็นสื่อที่สร้างสังคมที่วางใจได้ การเป็นสื่อที่สร้างความเข้มแข็งในภาคพลเมือง และนำไปสู่สังคมที่ยังยืน … ภาพ Jenga (เกมตึกถล่ม) เปรียบได้กับไทยพีบีเอส ที่เราอยู่ตรงนี้ เราเป็นจิ๊กซอว์สำคัญ ถ้าดึงเราออกตึกนี้ก็ล้ม แต่ถ้าใส่เราไว้และช่วยกันประกอบสร้างให้ตึกนี้แข็งแรงมากขึ้น เชื่อว่าสังคมไทยก็จะแข็งแรง”
รศ.วิลาสินี พิพิธกุล
ผศ.ธีรพัฒน์ อังศุชวาล นักวิชาการนโยบายสาธารณะ กล่าวถึง การสื่อสารนโยบายสาธารณะ ว่า การสื่อสาร คือ การตีความ การถอดรหัสการสื่อสารทำให้เกิดความเข้าใจซึ่งกันและกัน ซึ่งการสื่อสาร กับนโยบายสาธารณะเป็นสิ่งที่ยึดโยงกัน ที่เราต้องสร้างความหมาย ควรให้ความสำคัญว่านโยบายนั้นทำอย่างไร แก้ปัญหาอย่างไร โดยที่ผ่านมาการสื่อสารนโยบาย “มีช่องว่าง” เป็นการสื่อสารแบบเดิมที่เป็นไปเพื่อเผยแพร่ข้อมูลนโยบายเท่านั้น คนกำหนดคือผู้เขียนนโยบายหรือผู้มีอำนาจ ประชาชนเป็นเพียง “ผู้รับและปฏิบัติตาม” สื่อ เป็นผู้นำส่ง ทำให้เป็นความสัมพันธ์ “เชิงอุปถัมภ์” ส่วนการสื่อสารแบบใหม่ผ่าน Policy Watch ที่เน้นการสื่อสารที่มีการสร้างความสัมพันธ์อย่างมีส่วนร่วม โดย สื่อ มีหน้าที่ตีความนโยบายเพื่อให้ความหมายของนโยบายเป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชนให้มากที่สุด จะเกิดเป็นความสัมพันธ์ที่มีความ “เป็นประชาธิปไตย” มากยิ่งขึ้น
“อะไรที่จะตอบโจทย์ คือ สื่อใหม่ เรียกว่า แพลตฟอร์มที่มีลักษณะสำคัญพิเศษ คือ เป็นสะพานเชื่อม ที่จะไปเติมเต็มช่องว่างระหว่างภาคส่วนนโยบายและสาธารณะ มีการสร้างความหมายร่วมกัน สร้างวัฒนธรรมการมีส่วนร่วม วางบนหลักการทำงานอย่างมีส่วนร่วมให้คนมีโอกาส นอกจากรับดูรับชม แต่มีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้น และขับเคลื่อนด้วยข้อมูลไม่ใช่ข้อมูลเชิงตัวเลข สถิติ แต่เป็นข้อมูลจากพื้นที่ จากนักวิชาการ”
ผศ.ธีรพัฒน์ อังศุชวาล
ด้านภาคประชาชน พฤ โอ่โดเชา นักข่าวพลเมือง ชาวปกาเกอะญอ กล่าวถึงประเด็นประชาชนกับการมีส่วนร่วมในนโยบายสาธารณะ ว่า นโยบายสาธารณะ ชื่อ “สาธารณะ” แต่รู้สึกว่า “ไม่เป็นสาธารณะ” ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา ทรัพยากร งบประมาณ การเข้าถึงชีวิตผู้คนไม่ทุกกลุ่ม โดยยกตัวอย่าง “นโยบายการหาปลา” และ “นโยบายล่าสัตว์” ของหมู่บ้านตนเองที่ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญ ไปหาปลา ไปล่าสัตว์ ปลาหรือเนื้อที่ได้มาก็จะถูกแบ่งให้ทุกคนเท่า ๆ กัน ไม่มีใครได้มากกว่ากัน
“ก็คิดว่าทุนนิยมในประเทศไทยเรา คนที่มีมากก็มาก มันไม่เหมือนกับว่าเราได้งบประมาณ มาแล้วจะแบ่งปันกัน เหมือนอย่างในชุมชน ถ้านโยบายสาธารณะที่ดี ผมคิดว่าประชาชนต้องมีส่วนร่วมและจะไม่เหลื่อมล้ำสูงขนาดนี้”
พฤ โอ่โดเชา
ด้านตัวแทนรัฐบาล เผ่าภูมิ โรจนสกุล รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวถึง มิตินโยบายเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทย คือ เป็นนโยบายเศรษฐกิจเชิงรุก มีนวัตกรรม และหลากหลาย เกิดเงินหมุนในระบบที่สูงตลอดเวลา โดยเปรียบเทียบเศรษฐกิจเป็นเค้ก และพยายามทำให้เค้กขยายใหญ่ขึ้น โดยพุ่งเป้าไปที่เกษตรกร ผู้รายได้น้อย คนรากหญ้า เพราะพรรคเพื่อไทยมีกำเนิดมาจากคนกลุ่มนี้ จึงพยายามลดความเหลื่อมล้ำ ลดช่องว่างให้ได้มากที่สุด โดยได้ถ่ายทอดลงสู่รัฐบาลและกระทรงการคลัง เน้นการทำให้มีเงินหมุนในระบบเศรษฐกิจ ทั้งในเชิงโครงสร้างและภาคประชาชน
พริษฐ์ วัชรสินธุ โฆษกพรรคก้าวไกล กล่าวถึง รัฐสภากับการติดตามนโยบายรัฐบาล ว่าได้มีความพยายามเปลี่ยนจากสภาฯ เชิงรับ เป็น สภาฯ เชิงรุก ผ่านวาระสำคัญ 5 ด้าน คือ 1. การต่อสู้ทางความคิด โดยเฉพาะการเสนอกฎหมาย ที่แม้ว่าท้ายที่สุดจะไมผ่าน 3 วาระ แต่อย่างน้อยรัฐบาลจะผลักดันกฎหมายฉบับรัฐบาลประกอบ แม้ว่าเนื้อหาอาจจะไม่เหมือนกันทั้งหมด แต่อย่างน้อยก็เกิดการผลักดันเรื่องนั้นขึ้นในสภาฯ เช่น พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม 2. การตรวจสอบย้อนหลังและล่วงหน้า 3. การตั้งคำถาม เสนอทางออก 4. ตลาดแข่งขันนโยบาย และ 5. ตัวกลางเชื่อมประชาชน
ด้าน กริชผกา บุญเฟื่อง ผอ.สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า ในเรื่องของนโยบายสาธารณะ จะเห็นคำสัญคำหนึ่งนั่นคือ “การเปลี่ยนแปลง” เช่น การเปลี่ยนแปลงไปสู่การมีส่วนร่วม โดยเสนอว่า “นวัตกรรม” มีส่วนสำคัญและแทบจะทั้งหมด นวัตกรรมจะเป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น และการที่ภาครัฐต้องทำนวัตกรรม เพื่อการใช้งบประมาณอย่างเกิดคุณค่า เพื่อการดึงดูดคนที่มีศักยภาพ เพื่อให้เกิดความสามารถในการแข็งขัน ทำให้ชุมชนและอุตสาหกรรมเติบโต และเกิดความน่าเชื่อถือ
“ประเทศไทย เป็นเหมือนต้นไม้ จะเติบโตอย่างไร จะเติบโตอย่างเข้มแข็งเป็นต้นไม้ที่รับฟังเสียงจากรากหญ้าทุกคน หรือเป็นต้นไม้ที่สนใจแต่ทุนนิยมเพียงอย่างเดียว ขึ้นอยู่กับการออกแบบ จะเห็นว่าเรามีรากแก้ว รากแขนง รากฝอย ถ้า 3 รากของต้นไม้เข้มแข็ง คือทุกภาคส่วนเข้มแข็ง ก็จะเติบโต นโยบายภาครัฐต้องเป็นนโยบายที่สะท้อนถึงรากหญ้า เมื่อเราเห็นสิ่งนี้ร่วมกัน เราจะเห็นว่านวัตกรรม การเกษตร ต้นไม้เติบโตอย่างไร ระบบนิเวศอย่างไร ให้น้ำอย่างไรถึงเหมาะสม นวัตกรรมทางด้านการเมืองก็เช่นเดียวกัน”
กริชผกา บุญเฟื่อง
สุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชน กล่าวในหัวข้อ “สื่อสาธารณะกับการตรวจสอบกลไกนโยบายสาธารณะของรัฐ” ว่าการทำงานในการติดตามตรวจสอบนโยบายรัฐ แค่คำว่า “Policy Watch” อาจไม่เพียงพอ เพราะเชื่อว่า นักการเมืองไม่ได้กลัวการจับตาหรือตรวจสอบ โดยเสนอว่าในภาวะที่มีข้อมูลมหาศาล ใครก็เป็นสื่อได้ สิ่งสำคัญที่สื่อสาธารณะในฐานะสื่อหลักควรทำคือการจัดเก็บ Digital Footprint การรวมรวบสิ่งที่รัฐบาลพูดเกี่ยวกับวาระต่าง ๆ ในสังคม และทำให้เห็นว่าเวลาตั้งคำถามเราถามทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล การทำงานต้องสะท้อนให้เห็นภาพชัดเจนว่าในสิ่งที่รัฐบาลพูดหรือทำนั้นมีผลตามมาอย่างไร