ครม. เห็นชอบโครงการแก้หนี้สินชาวนา ช่วยเหลือเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูฯ กว่า 50,000 ราย ใช้งบประมาณ 9,000 ล้านบาท ตลอดระยะเวลา 3 ปี สั่งการ คลัง – เกษตร หารือแนวทาง ก่อนนำเข้าสู่ที่ประชุมอีกครั้งหนึ่ง
วันนี้ (22 มี.ค. 2565) ที่ทำเนียบรัฐบาล ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ถึงโครงการแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกร โดยเฉพาะโครงการช่วยเหลือเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ที่เป็นหนี้กับธนาคารของรัฐ 4 แห่ง ได้แก่ ธ.ก.ส. ธอส. ธนาคารออมสิน และธนาคาร SME D Bank หลังชาวนาหลายร้อยคนปักหลักชุมนุมเรียกร้องนานกว่า 2 เดือนด้านหน้ากระทรวงการคลัง
ธนกร กล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบในหลักการสำหรับโครงการดังกล่าว โดยจะช่วยเหลือเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูฯ ที่ขึ้นทะเบียนองค์กร และทะเบียนหนี้เอาไว้ และเป็นหนี้ NPL จำนวน 50,621 ราย โดยต้องใช้งบประมาณเงินต้น 9,282 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินโครงการ 3 ปี มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ปัญหาหนี้สิน และฟื้นฟูการทำอาชีพของเกษตรกร ผ่านกลไกของกองทุนฟื้นฟูฯ
ทั้งนี้ แนวทางดำเนินการ จะเป็นการพักชำระหนี้เงินต้นทั้งหมดเอาไว้ก่อน และให้ผ่อนชำระเงินต้นเพียงครึ่งหนึ่ง ระยะเวลาไม่เกิน 15 ปี ส่วนดอกเบี้ยคงค้าง และเงินต้นอีกครึ่งหนึ่ง หากเกษตรกรชำระได้ครบตามกำหนดเวลา รัฐจะยกเงินจำนวนนั้นให้เกษตรกรทั้งหมด ส่วนเงินดอกเบี้ยค้างชำระจำนวน 6,813 ล้านบาท ได้สั่งการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงการคลัง กำหนดวันหารือแนวทางการชดเชยเงินให้กับสถาบันการเงินของรัฐ และนำเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. อีกครั้งหนึ่งต่อไป
สำหรับความเคลื่อนไหวในม็อบชาวนาวันนี้ ชาวนาต่างรอฟังมติ ครม. หลังจากที่ตัวแทนฝ่ายการเมืองเดินทางมารับหนังสือ และครบกำหนด 2 สัปดาห์ที่รับปากในวันนี้ ถือเป็นความคืบหน้าครั้งสำคัญ ที่ทำให้ชาวนาพึงพอใจ เพราะหากลากเวลาออกไปนานกว่านี้ อาจส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ และสุขภาพร่างกายที่ต้องเผชิญอยู่ในพื้นที่ชุมนุมด้วย