3 ปี แก๊งขอทาน ‘จีน’ ทะลักไทย กว่า 70 คน โยงค้ามนุษย์-ทารุณกรรม

ล่าสุดพบอีก 1 คน นั่งขอทาน 6 ชั่วโมง ได้เงิน 10,000 บาท มูลนิธิกระจกเงา ชี้ หยุดทำบุญบนธุรกิจบาป สืบสวนถึงตัวการใหญ่

ขอทาน

วันนี้ (22 พ.ย. 2566) กัณฐัศว์ พงศ์ไพบูลย์เวชย์ หรือ กัน จอมพลัง พร้อมพลเมืองดี นำข้อมูลเป็นภาพถ่าย และคลิปวิดีโอของชายต้องสงสัยว่าเป็น 1 ในกลุ่มขอทานคนจีน มาส่งมอบให้กับ พ.ต.อ. พรรณลบ สำราญสม ผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลจรเข้น้อย เพื่อใช้เป็นเบาะแสในการติดตามจับกุมตัว

กัน จอมพลัง ระบุว่า ได้รับแจ้งผ่านเพจว่าพบเห็นชายคนหนึ่งนั่งขอทานอยู่ในตลาดเย็น ย่านลาดกระบัง โดยลักษณะของชายคนนี้มีใบหน้าผิดรูป ตาบอด และเดินไม่ได้ ซึ่งคล้ายกับกลุ่มคนจีนที่ถูกจับกุมไปแล้วก่อนหน้านี้ แต่เมื่อถูกคนจับจ้องกลับลุกขึ้นเดินหนีออกไป

สำหรับรายได้ของชายคนนี้ พบว่านั่งขอทาน 6 ชั่วโมง ได้เงิน 10,000 บาท หากวันนี้สามารถจับกุมได้ก็จะเป็นขอทานชาวจีน คนที่ 7 จาก 10 รายชื่อ ส่วนกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า ขอทานคนจีนกลุ่มนี้ เข้ามาในประเทศไทยอย่างผิดกฎหมายทำให้ต้องซ่อนตัว แต่จากการตรวจสอบหนังสือเดินทางของขอทานคนจีน 6 คนที่ถูกจับกุมไปก่อนหน้านี้ พบว่าเกือบทุกคนวีซายังไม่หมดอายุ และเข้ามาในช่วงที่รัฐบาลมีนโยบายวีซาฟรีให้กับคนจีน เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ กลุ่มขอทานคนจีนอาจอาศัยช่องทางนี้เข้ามาในประเทศไทยเพื่อก่อเหตุ

ขอทาน
ที่มา : กัน จอมพลัง

3 ปี ขอทานจีนทะลักเข้าไทย กว่า 70 คน ‘วราวุธ’ วอน ประชาชนอย่าสนับสนุนการให้ทาน

วราวุธ ศิลปอาชา รมว.กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ให้สัมภาษณ์ถึงมาตรการการจัดระเบียบขอทานว่า พม. โดย กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) ได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่ และภาคประชาสังคม ลงพื้นที่จัดระเบียบเป็นระยะอย่างต่อเนื่อง โดยหากเป็นคนต่างด้าวก็ต้องส่งสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ผลักดันกลับประเทศต้นทาง ส่วนขอทานที่เป็นคนไทยก็จะนำเข้าสู่สถานคุ้มครองเพื่อรับการฝึกอาชีพตามความสมัครใจ หรือส่งกลับภูมิลำเนา ส่วนใหญ่ไม่ค่อยสมัครใจเข้าสถานคุ้มครอง หากบังคับก็อาจจะถูกมองขัดหลักสิทธิมนุษยชน และเมื่อส่งกลับสักระยะก็กลับเข้ามาอีก เนื่องจากเห็นว่าเป็นช่องทางที่หารายได้ง่าย ขณะที่เจ้าหน้าที่ พม. ไม่มีอำนาจดำเนินการจับกุมต้องอาศัยเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการ แนวทางการเพิ่มความเข้มข้นของกฎหมายก็เป็นอีกทางหนึ่งในการป้องปรามกระบวนการขอทาน

รมว.พม. กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม ขณะนี้คงต้องขอความร่วมมือประชาชนอย่าสนับสนุนการให้ทาน เพราะเราไม่รู้ว่าขอทานคนนั้นยากจนจริงหรือไม่ หรืออาจเป็นกลุ่มขบวนการค้ามนุษย์ก็ได้ ยิ่งเป็นการส่งเสริม ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนพิจารณาเลือกทำบุญในกิจกรรมที่เหมาะสม เช่น ทำบุญกับโรงพยาบาลจัดซื้อเครื่องมือแพทย์ หรือกายอุปกรณ์ หรือตามสถานสงเคราะห์ที่อยู่ภายใต้หน่วยงานรับผิดชอบของ พม. ซึ่งมีทั้งการช่วยเหลือเด็ก ผู้สูงอายุ คนด้อยโอกาส ผู้พิการ, ฝึกอาชีพ โดยเฉพาะใกล้เทศกาลปีใหม่คนส่วนใหญ่นิยมทำบุญ ก็จะประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจร่วมกันตรวจตราให้เข้มงวดมากขึ้น และประชาสัมพันธ์ให้เข้มข้นให้เกิดการตระหนักว่า การขอทานเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ตาม พ.ร.บ.การควบคุมการขอทาน ปี 2559

ขณะที่ กระทรวง พม. พบในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา ตรวจพบขอทาน 7,158 คน เป็นคนไทย 4,685 คน และคนต่างด้าว 2,473 คน โดยประเทศที่เข้ามาทำขอทานมากที่สุด คือ กัมพูชา เมียนมา ส่วนขอทานจีนพบว่าในปี 61-63 มีจำนวน 68 ราย

มูลนิธิกระจกเงา ชี้ ขอทานจะกลับมาถ้าแค่จับกุม #หยุดทำบุญบนธุรกิจบาป

ด้าน มูลนิธิกระจกเงา โพสต์ถึงกรณีนี้ว่า เมื่อไม่กี่เดือนมานี้ พลเมืองดีแจ้งข้อมูล พบเด็กหญิงวัยรุ่นหน้าตาสะอาดสะอ้านมานั่งขอทาน จึงอยากให้มูลนิธิกระจกเงาช่วยตรวจสอบเพื่อช่วยเหลือ ทีมงานจึงลงพื้นที่ไปพูดคุย

เด็กหญิงคนนั้น เธอเล่าว่า ที่ต้องนั่งขอทาน เพราะต้องหาเงินไปจ่ายค่าเช่าห้องที่ค้างไว้ ระหว่างพูดมีทั้งรอยยิ้มและน้ำตาสลับกัน เธอว่ายายป่วยเป็นเบาหวานต้องตัดขา ไม่มีรายได้จากทางอื่น เธอตั้งเป้าว่าวันนี้ต้องได้เงินประมาณ 2,000-3,000 บาท เธอถึงจะกลับที่พัก

ระหว่างนั่งขอทาน ก็มีคนให้เงินตลอด เพราะความสะอาดสะอ้าน กลายเป็นความน่าสงสาร ว่าเหตุใดเด็กสาววัยรุ่นหน้าตาดี ถึงมีชีวิตมานั่งขอทานอยู่แบบนี้

ความจริงเปิดเผยภายหลังว่า เธอไม่ได้เลี้ยงดูยายที่พิการขาขาด ไม่ได้มีห้องที่ค้างค่าเช่าที่ต้องรอเงินจากการขอทานไปจ่าย มีเค้าโครงของความจริงอยู่บ้าง แต่เรื่องราวส่วนใหญ่ เล่าเพื่อทำให้คนสงสาร

เรื่องราวข้างต้น เป็นหนึ่งในกรณีตัวอย่าง ที่ทำให้เห็นความสำคัญของการสอบสวน ก่อนให้ความช่วยเหลือ หรือการตัดสินใจดำเนินการใด

มูลนิธิกระจกเงา ยังกล่าวอีกว่า การจับกุมขอทานในบ้านเรา โดยเฉพาะข้ามชาติและค้ามนุษย์ ถ้าไม่สืบสวนมาก่อน ก็ยากจะเอาผิด แนวโน้มดำเนินการจับปรับ ผลักดันกลับประเทศจะเป็นแนวทางที่ง่าย สะดวก และประหยัดงบที่สุด แต่ไม่นานขอทานเหล่านั้นจะกลับเข้ามาอีก

โดยเฉพาะถ้าการขอทานนั้นเป็นการค้ามนุษย์ การสืบสวนเก็บหลักฐาน ตั้งแต่เงินที่หย่อนลงแก้ว ระยะเวลาการขอทานที่แสดงถึงเกินกว่าความยากจน การบังคับเพื่อหาประโยชน์ ตามถึงแหล่งพักพิง ไล่จนถึงเส้นทางการเงิน จะนำมาซึ่งการดำเนินคดีอย่างมีประสิทธิภาพ ถึงจะอยู่หมัด

ขณะที่โลกยุคปัจจุบัน ก็มีคนยากจนเข้าสู่การขอทานจริง ๆ คนที่ถูกค้ามนุษย์โดยขบวนการจริง ๆ และยังมีคนที่เหมือนถูกขบวนการนำพามา แต่จริง ๆ มาด้วยตัวเองอยู่จริง

การสืบสวนเก็บข้อมูลก่อนดำเนินการ จึง “สำคัญมาก” เพราะจะรู้ว่าเคสนั้นต้องจัดการอย่างไร

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active