ไทยยังคงสถานะค้ามนุษย์ “Tier 2″

ปลัด พม. ย้ำ ต้องทำงานหนักต่อเนื่อง ตั้งเป้าค้ามนุษย์หมดไปจากไทย ด้าน ผอ. LPN ระบุรัฐบาลไทยทำงานได้ดี เอาจริงเอาจังในการติดตามปัญหา ทำให้ไทยยังคงสถานะในระดับที่พอใช้ได้ ทุกภาคส่วนต้องจับมือแน่นแฟ้นขยับเป็น “Tier 1″ 

17 มิ.ย. 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เปิดเผยว่า จากรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ ประจำปี พ.ศ. 2566 หรือ Trafficking In Person (TIP) Report 2023  ซึ่งสหรัฐอเมริกายังคงสถานะการจัดอันดับสถานการณ์การค้ามนุษย์ของไทยให้อยู่ในเทียร์ 2 “Tier 2″ เช่นเดียวกับปี พ.ศ. 2565 โดยที่ผ่านมา ทุกภาคส่วนได้บูรณาการการทำงานร่วมกันอย่างเข้มแข็งในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ของประเทศ ทั้งด้านนโยบาย การป้องกัน การดำเนินคดีและบังคับใช้กฎหมาย และการบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วน รวมถึงการคุ้มครองช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ซึ่งเป็นภารกิจหลักของกระทรวง พม. ส่งผลให้การแก้ปัญหาเห็นผลในเชิงประจักษ์มากขึ้น

“ผลการจัดอันดับของสหรัฐอเมริกาครั้งนี้ เป็นเสียงสะท้อนหนึ่งที่กระตุ้นให้เรายังคงต้องเพิ่มความเข้มแข็งในการทำงานอย่างต่อเนื่อง ด้วยเป้าหมายของรัฐบาลไทย คือการขจัดปัญหาการค้ามนุษย์ให้หมดสิ้นไปจากประเทศไทย”

ด้าน สมพงษ์ สระแก้ว ผอ.มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) ระบุถึงกรณีการคงสถานะการค้ามนุษย์ของไทย ที่ “Tier 2″ ว่า ที่ผ่านมาถือว่ารัฐบาลทำงานได้อย่างเข้มแข็ง เอาจริงเอาจัง โดยเฉพาะสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดีเอสไอ รวมถึงอีกหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และการกำหนดเป็นวาระแห่งชาติ สะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับปัญหา ซึ่งต้องดูว่ารัฐบาลใหม่จะให้ความสำคัญแค่ไหน ไม่ใช่พอใจในระดับนี้ แต่ว่าการที่ไทยจะขยับขึ้นไปอยู่ “Tier 1” ได้ ก็ต้องมีเกณฑ์ตามการชี้วัดหลายประการที่ไทยยังคงต้องทำงานต่อเนื่องต่อไป 

“เรามีการจัดการปัญหาได้ดี ผู้ประสบปัญหาได้รับการดูแลอย่างดี กลไกภาครัฐทำงานได้มีประสิทธิภาพ แต่ถ้าเรามีโอกาสขึ้น ”Tier 1” มีตัวบ่งชี้สำคัญ ซึ่งต้องยอมรับว่าเขาทำการบ้านมาดี การทำงานร่วมมือกันระหว่างรัฐ ภาคประชาสังคม ต้องจับมือแน่นแฟ้น ทำงานให้หนักในปีหน้า เพื่อที่จะอัปเป็น ”Tier 1” ก็ต้องฝากกับรัฐบาลชุดต่อไปว่าให้ความสำคัญแค่ไหน ต้องขอบคุณสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่เอาจริงเอาจังแตกต่างจากชุดก่อน ทั้งติดตามเคส ค่าสินไหมทดแทน”

สมพงษ์ ยังระบุเพิ่มเติมว่า การทำงานที่ผ่านมายังเป็นข้อจำกัดอยู่มาก โดยเฉพาะการเข้าถึงกลุ่มคนเปราะบาง เช่น แรงงานข้ามชาติ อุปสรรคที่พบมากที่สุด คือข้อจำกัดด้านเอกสาร เวลาตกเป็นผู้เสียหาย การได้รับเงินเยียวยายากลำบาก เพราะมีปัญหาเรื่องสถานะบุคคล รวมถึงล่ามยังคงต้องส่งเสริมให้มีมากขึ้น ทั่วถึง เพราะการทำงานกับแรงงานข้ามชาติต้องพึ่งพาเป็นอย่างมาก 

สำหรับคำแนะนำของสหรัฐอเมริกาในการรายงานครั้งนี้ ระบุไว้ 12 ข้อเสนอแนะสำคัญ

  1. การสืบสวนเชิงรุกและดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ที่ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนร่วมในการอำนวยความสะดวกในการค้ามนุษย์ และแสวงหาบทลงโทษที่เหมาะสมสำหรับผู้ค้ามนุษย์ที่ถูกตัดสินว่ามีความผิด ซึ่งรวมถึงการกำหนดอัตราโทษจำคุกอย่างมีนัยสำคัญ 
  2. เพิ่มความพยายามในการระบุและคุ้มครองผู้เสียหายจากค้ามนุษย์ที่ถูกแสวงหาประโยชน์ด้านแรงงานจากกระบวนการหลอกลวงทางไซเบอร์ที่เดินทางมาถึงประเทศไทย ยุติการส่งผู้เสียหายเข้าห้องกักของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และตรวจสอบให้แน่ใจว่าผู้เสียหายจะไม่ถูกลงโทษอย่างไม่เหมาะสม 
  3. ขับเคลื่อนกลไกการส่งต่อระดับชาติ (NRM) และระยะเวลาฟื้นฟูและไตร่ตรอง (Reflection Period) และเปิดใช้ศูนย์คัดแยกผู้เสียหายเต็มรูปแบบ 
  4. ใช้วิธีการที่เน้นผู้เสียหายเป็นศูนย์กลางและการคำนึงถึงบาดแผลทางจิตใจ โดยรวมถึงในระหว่างการสัมภาษณ์ของทีมสหวิชาชีพ และการตรวจแรงงาน 
  5. เพิ่มการปฏิบัติและความพร้อมของล่ามเพื่อช่วยเหลือผู้เสียหาย รวมถึงในที่พักพิงและกระบวนการพิจารณาคดีในศาล 
  6. เพิ่มการจัดทำวีซ่าเพื่อให้ผู้เสียหายสามารถอยู่และทำงานในประเทศไทยได้หลังจากเสร็จสิ้นการดำเนินคดีกับผู้ค้ามนุษย์ 
  7. ฝึกอบรมเจ้าหน้าที่และรับรองการดำเนินการตามแนวทางการปฏิบัติตามมาตรา 6/1 ของ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ และดำเนินการคัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ด้านแรงงานอย่างมีประสิทธิภาพ
  8. เพิ่มความสามารถของผู้เสียหาย โดยเฉพาะผู้ใหญ่ ในการเข้าและออกจากสถานคุ้มครองได้อย่างอิสระ รวมถึงการใช้อุปกรณ์สื่อสาร และทบทวนการจัดให้ผู้เสียหายเดินทางเข้าออกและอยู่ในสถานคุ้มครองเป็นระยะ เพื่อไม่ให้ผู้เสียหายอยู่ในที่สถานคุ้มครองนานเกินความจำเป็น 
  9. กำหนดให้สถานคุ้มครองของรัฐและนอกภาครัฐดูแลผู้เสียหาย โดยคำนึงถึงบาดแผลทางจิตใจและให้การดูแลผู้เสียหายเป็นรายบุคคลอย่างเพียงพอ เช่น การให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายและการเยียวยาสภาพจิตใจ รวมทั้งดำเนินนโยบายที่สอดคล้องกันในสถานคุ้มครองทุกแห่ง
  10. ตรวจสอบให้แน่ใจว่ามีการสืบสวนการละเมิดแรงงานและข้อร้องเรียนของแรงงานต่างด้าว ที่มีข้อบ่งชี้การบังคับใช้แรงงานเพื่อระบุอาชญากรรมการค้ามนุษย์ รวมทั้งการบังคับใช้ขั้นตอนของเจ้าหน้าที่แรงงานในการส่งต่อกรณีที่อาจะเข้าข่ายการค้ามนุษย์ด้านแรงงานไปยังทีมสหวิชาชีพและเจ้าหน้าที่ที่บังคับใช้กฎหมาย 
  11. เพิ่มความตระหนักแก่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับตัวชี้วัดการค้ามนุษย์ เช่น การบังคับให้ใช้หนี้ การทำงานล่วงเวลาเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด การยึดเอกสารสัญญา และการค้างจ่ายค่าจ้าง 
  12. ตรวจคัดกรองคนงานชาวเกาหลีเหนือเพื่อหาสัญญาณของการค้ามนุษย์ และส่งต่อพวกเขาไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบตามพันธกรณีภายใต้มติที่ 2397 ของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active