TTRS แจง กสทช. ไม่สนับสนุนงบฯ เหตุปิดการให้บริการล่ามภาษามือ

ศูนย์บริการถ่ายทอดการสื่อสารแห่งประเทศไทย (TTRS) ประกาศปิดให้บริการล่ามภาษามือ ทุกช่องทางบริการอย่างน้อย 7 วัน เรียกร้อง นายกฯ เศรษฐา เร่งแก้ปัญหา ‘ตัวแทนคนหูหนวก’ ชี้ กระทบการใช้ชีวิตประจำวันอย่างมาก

3 ต.ค. 2566 ศูนย์บริการถ่ายทอดการสื่อสารแห่งประเทศไทย (TTRS) ประกาศปิดให้บริการล่ามภาษามือทุกช่องทางบริการ โดยเริ่มปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 3 – 9 ตุลาคม 2566 โดยให้เหตุผลว่า เนื่องจากประสบปัญหาการเงินที่ไม่ได้รับงบประมาณในการสนับสนุนการดำเนินงานนานกว่า 15 เดือน จึงประกาศปิดให้บริการในทุกช่องทาง ทั้งระบบวิดีโอ ไลฟ์แชท ตู้ให้บริการสาธารณะ และระบบเชื่อมต่อระหว่างคนหูดีกับคนหูหนวก

นับดาว องค์อภิชาติ ตัวแทนคนหูหนวก ผู้ใช้งานบริการ TTRS ให้ความเห็นว่า ที่ผ่านมาทาง TTRS ไม่เคยหยุดให้บริการ โดยที่ผ่านมาได้ให้บริการคนหูหนวก/หูตึง ตลอด ไม่ว่าเหตุฉุกเฉินหรือเวลากลางคืน แต่วันนี้ซึ่งเป็นวันแรกที่ TTRS ปิดบริการ และอาจนานถึงวันที่ 9 ตุลาคม ซึ่งรวมเป็นเวลา 7 วัน มีผลกระทบและสร้างความเดือดร้อนของกลุ่มคนหูหนวกและคนหูตึงเป็นอย่างมาก เพราะขาดการสื่อสารกับคนหูดี ขาดการติดต่อที่จำเป็นในการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การสั่งอาหาร ส่ง/รับพัสดุ และการคุยกับหมอในโรงพยาบาลหรือคลินิก รวมถึงการประสานงานกับคนหูดีในที่ทำงาน ฯลฯ

“ทำให้คนพิการเหมือนกลับมาอยู่โลกแคบ พื้นที่ก็ลดลง ความเท่าเทียมคนหูหนวกลดลง นับดาว กังวลว่าคนหูหนวกที่มีอาชีพประจำ ไม่ทราบว่าจะดำรงชีวิตอย่างไร เพราะที่ผ่านมาใช้ TTRS ช่วยในการสื่อสารประจำ เช่น grab ฯลฯ และองค์กร เช่น ชมรมฯ กองประกวดฯ ก็ใช้ประสานงานการสื่อสารในการทำงาน วันนี้ TTRS หยุด คือ การสื่อสารในการทำงานต้องหยุดไปด้วยหรือ สิทธิคนหูหนวกอยู่ที่ไหนคะ เพราะคนหูหนวกเป็นคนไทยเหมือนกัน ควรได้รับสิทธิด้วย”

นับดาว องค์อภิชาติ (ภาพจาก thisable.me)

นับดาว ย้ำว่า ในฐานะตัวแทนคนหูหนวก มีความประสงค์ ขอเรียกร้องรัฐบาล หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาร่วมสนับสนุนทาง TTRS เร่งด่วน เพื่อเปิดบริการให้การสื่อสารให้คนหูหนวกเข้าถึงและมีความเท่าเทียม “ถ้าไม่มี ttrs พวกเราคงอยู่ไม่ได้ค่ะ ลำบากมากขึ้นค่ะ”

ด้าน ศ.วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ ที่ปรึกษา TTRS และกรรมการบริหาร TTRS กล่าวว่า เหตุผลที่ต้องหยุดการดำเนินงานเนื่องจากไม่ได้รับงบประมาณจาก คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ซึ่งโดยปกติแล้ว กสทช. จะให้งบประมาณในการดำเนินกิจการเป็นรายปี แต่ปัญหาอยู่ที่รอยต่อระหว่างปี เป็นช่วงขาดงบฯ เดิม กสทช. จะอนุโลมให้ใช้งบฯ ที่เหลือรายปีต่อเนื่องไปก่อน เพื่อให้สะดวกต่อการดำเนินกิจการ แล้วจึงหักลบกลบหนี้เมื่อมีงบประมาณปีต่อไปจ่ายมา

แต่เนื่องจากผู้บริหารชุดใหม่ที่เข้ามาดูแลการจัดสรรงบประมาณในส่วนนี้ยึดเอาหลักการการจ่ายเงินว่า จะต้องคืนเงิบงบประมาณก่อนแล้วจึงจะจ่ายงบฯ ใหม่ให้ ซึ่ง TTRS ค้างจ่ายอยู่ 19 ล้านบาท 15 ปีที่ผ่านมาได้ใช้งบฯ ที่เหลือในการดำเนินงาน โดยไม่มีงบฯ รายปีเข้ามาให้ใหม่ กระทั่งงบประมาณหมด ก็ยังไม่ได้รับการสนับสนุน ซึ่งทาง TTRS ได้มีการชี้แจงปัญหา และข้อกังวลว่าหากจะปรับรูปแบบการจ่ายเงินจะกระทบกับสิทธิ์ของคนหูหนวก แต่ทาง กสทช. ยืนยันที่จะยึดตามระเบียบ ทำให้การดำเนินงานต้องสะดุดลง

“วันนี้ประกาศหยุด 1 สัปดาห์ แต่หากว่ายังไม่มีการจ่ายงบประมาณ ก็คงจะต้องหยุดต่อเนื่องไป หวังว่านายกฯ จะเห็นความสำคัญของเรื่องนี้ และเร่งรัดจัดการให้สามารถให้บริการคนหูหนวกได้ ตามสิทธิคนพิการที่ควรจะได้รับ”

สำหรับ TTRS เกิดขึ้นจากการสนับสนุนของ กสทช. ผ่านแผนแม่บทกิจการโทรคมนาคม ฉบับที่ 2 (พศ. 2551 -2553) ที่กำหนดเป้าหมายไว้ว่า ให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงบริการโทรคมนาคมได้อย่างทั่วถึง ไม่ว่าจะเป็นมิติเชิงพื้นที่หรือมิติเชิงสังคม ซึ่งปรากฏในยุทธศาสตร์ที่ 3 เรื่อง การกระจายบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการสังคมว่า เพื่อสร้างโอกาสให้แก่ประชาชนในพื้นที่ชนบทห่างไกล และประชาชนกลุ่มเป้าหมายผู้ด้อยโอกาสทางสังคมได้มีโอกาสในการเข้าถึงบริการโทรคมนาคมตามความเหมาะสม และส่งเสริมให้มีการกระจายบริการโทรคมนาคมพื้นฐานให้ครอบคลุมและทั่วถึง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active