“จะให้เราไปอยู่ไหน ?” คนไทยพลัดถิ่น ถาม “เศรษฐา” วอนทบทวน “แลนด์บริดจ์”

คนไทยพลัดถิ่น ต.ราชกรูด จ.ระนอง หวั่นท่าเรือน้ำลึกอ่าวอ่าง กระทบวิถีชีวิต สูญสิ้นที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย หวังรัฐบาลฟังเสียง ทบทวนการตัดสินใจ  

วันนี้ (22 ม.ค. 67) ตัวแทนคนไทยพลัดถิ่นตำบลราชกรูด อำเภอเมืองระนอง จ.ระนอง ยื่นหนังสือถึง เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ระหว่างลงพื้นที่ติดตามโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝังทะเลอ่าวไทย- อันดามัน (Land Bridge ระนอง – ชุมพร) ที่อุทยานแห่งชาติแหลมสน จ.ระนอง โดยอ้างถึงโครงการแลนด์บริดจ์ ที่ต้องสร้าง ท่าเรือน้ำลึกอ่าวอ่าง (ฝั่งระนอง) ซึ่งต้องใช้พื้นที่ทะเลทั้งหมด 6,975 ไร่ และต้องขุดร่องน้ำให้ได้ความลึกที่ 19 เมตร มีความยาวถึง 11.5 กิโลเมตร และยังไม่นับร่วมการใช้พื้นที่ชายฝั่งทะเลอีกจำนวนมากเพื่อเป็นลานเทกองตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งการดำเนินทั้งหมดนี้จะส่งผลกระทบต่อประชาชนที่อยู่ในพื้นที่อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ และในจำนวนนั้นคือกลุ่มคนไทยพลัดถิ่น

ในหนังสือยัง ระบุว่า แม้คนไทยพลัดถิ่นจำนวนหนึ่ง ได้รับการรับรองสัญชาติตาม พ.ร.บ. ปี 2555 ไปแล้ว แต่ยังมีคนตกค้างที่ยังไม่ได้รับการรับรองอยู่อีกจำนวนมาก ซึ่งเกิดขึ้นจากความล่าช้าของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และหนึ่งในนั้นคือคนไทยพลัดถิ่นที่อยู่อาศัยอยู่ในพื้นที่ตำบลราชกรูด จ.ระนอง ซึ่งมีที่อยู่อาศัยอยู่ริมทะเลชายฝั่ง และมีอาชีพการทำประมงพื้นบ้านเป็นหลัก ดังนั้นการเกิดขึ้นของโครงการแลนด์บริดจ์ จะส่งผลกระทบต่อชีวิตโดยตรง ทั้งที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน

“ในฐานะพลเมืองผู้ไร้สิทธิ์แทบทุกด้าน ทั้งด้านการศึกษา ด้านสุขภาพ ด้านการการเมือง และรวมถึงสิทธิประโยชน์อื่น ๆ ทั่วไปแบบพลเมืองปกติ ที่พวกเราจะต้องทนรับกับสภาพเช่นนั้น อย่างหวานอมขมกลืนมาอย่างยาวนาน และต่อโครงการนี้ เราแทบไร้สิทธิ์ที่จะแสดงออกใด ๆ เพื่อให้ภาครัฐได้รับรู้ถึงความทุกข์ร้อนของพวกเรา”

ทั้งนี้หนังสือที่ตัวแทนคนไทยพลัดถิ่น ยื่นต่อนายกฯ ยังได้ย้ำว่า คนไทยพลัดถิ่นในตำบลราชกรูด คือกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากโครงการแลนด์บริดจ์ จนอาจทำให้ไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ในพื้นที่แห่งนี้อีกต่อไป พร้อมตั้งคำถามว่า “แล้วท่านจะให้พวกเราไปอยู่ที่ไหน ?”

จึงขอให้รัฐบาลได้เห็นรายละเอียดของผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับชาวบ้าน และนำประเด็นปัญหาดังกล่าวนี้ไปพิจารณาประกอบการตัดสินใจดำเนินโครงการนี้ต่อไป พร้อมทั้งหวังว่ารัฐบาลจะช่วยเร่งให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องกับการรับรองสัญชาติ ได้ดำเนินการรับรองคนที่ตกค้างอย่างอย่างรวดเร็วมากขึ้นต่อไป


Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active