ชาวมันนิ ร้องกสม. หลังได้รับผลกระทบกรณีที่ทำกิน-ที่อยู่อาศัย

กสม. เตรียมลงพร้อมลงพื้นที่ พร้อมประสานความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ปัญหา เน้นรับฟังเสียงสะท้อนความต้องการชาวมันนิ แก้ไขให้ตรงจุดสอดคล้องวิถีวัฒนธรรม เสนอนำร่องพื้นที่คุ้มครองทางวัฒนธรรมชาวมันนิ

วันนี้ (24 ก.ค.65 ) ปรีดา คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยกับ​ The Active ว่า ล่าสุดกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ( กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากกลุ่มชาติพันธุ์มันนิ หรือมานิในหลายจังหวัด ทั้ง ตรัง พัทลุง รวมถึงที่ร้องเรียนมาก่อนหน้านี้จากจังหวัดสตูล  โดยเป็นปัญหาที่ร้องเรียนเข้ามาใกล้เคียงกันทุกจังหวัด เนื่องจากทั้งพัทลุง ตรัง สตูล อยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาบรรทัด และเมื่อมีกฎหมายอุทยานแห่งชาติและกฎหมายป่าสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าฉบับใหม่ ซึ่งมีข้อกำหนดสำคัญให้สำรวจการถือครองที่ดินของประชาชน นั่นหมายความว่าจะต้องรวมไปถึงพื้นที่ใช้สอย พื้นที่ทำกินของกลุ่มชาติพันธุ์มันนิ 

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่พวกเขากังวล เนื่องจากกลุ่มชาติพันธุ์มันนิ มีการใช้ป่าลักษณะหมุนเวียน ตั้งทับหมุนเวียนไปในพื้นที่แหล่งอาหารตามฤดูกาลในเขตเทือกเขาบรรทัด ซึ่งอยู่ในทั้งเขตอุทยานและเขตป่าสงวน เพราะฉะนั้นจึงต้องไปดูว่า ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้สำรวจการถือครองที่ดินของประชาชนโดยเฉพาะในมาตรา 64 และ 65  จะต้องมีการสำรวจทั้งผลอาสินที่ชาวมันนิเขาใช้สอยอยู่ ทรัพยากรธรรมชาติที่กลุ่มมันนิใช้สอยอยู่ หรือแม้แต่การที่กลุ่มมันนิเขาจะต้องไปตั้งทับหมุนเวียน ซึ่งก็เหมือนไร่หมุนเวียนของกะเหรี่ยง  ทะเลหมุนเวียนของชาวเล ว่าใช้พื้นที่ตรงไหนบ้าง และในการสำรวจนั้น ได้ใส่รายละเอียดเหล่านี้ไปแล้วหรือไม่

“ที่พวกเขาร้องเรียนเข้ามา คือไม่มั่นใจว่าพื้นที่ที่พวกเขาอยู่อาศัย ยกตัวอย่างที่จังหวัดสตูล ที่อยู่อาศัยบางจุด มีการตั้งบ้านเป็นแบบกึ่งถาวรแล้ว แต่ก็ยังอยู่ในเขตป่า ในเขตอุทยาน ดังนั้นแม้พวกเขาจะมีบ้านกึ่งถาวรแล้ว  แต่ยังมีความจำเป็นตามวิถีชีวิตดั้งเดิม คือการใช้ทรัพยากรในป่า และมีการหมุนเวียนไปตั้งทับ(กระท่อม)ในพื้นที่ต่าง ๆ ที่เป็นแหล่งอาหารตามฤดูกาล และจะมีช่วงได้กลับมาอยู่พื้นที่เดิม  เพราะฉะนั้น สิ่งที่เครือข่ายที่ทำงานกับชาวมันนิ และชาวมันนิเองกลัวและกังวล  คือความไม่มั่นใจในความมั่นคงในการอยู่อาศัยระยะยาว เพราะหากการสำรวจพื้นที่ไม่ครอบคลุมไม่ได้ระบุไว้ตามกฎหมายใหม่ที่ออกมา เขาก็อาจจะกลายเป็นคนผิดกฎหมาย“ 

ปรีดา คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
ภาพการโยกย้ายทับ(กระท่อม)ของชาวมันนิบริเวณเทือกเขาบรรทัด

ปรีดา กล่าวต่อว่า ยิ่งในสภาพปัจจุบันที่ทรัพยากรในป่าลดน้อยลง ชาวมันนิเองก็อาจจะต้องค่อย ๆ ปรับตัวออกมาหากินใกล้เมืองมากขึ้น มารับจ้างกรีดยางเพื่อเลี้ยงครอบครัวเขา  โดยเท่าที่ได้รับทราบข้อมูล คือพวกเขาบางส่วนมีพื้นที่อาศัย เช่นที่สตูล มีพื้นที่ 2-3 จุดที่มีบ้านกึ่งถาวร แต่บอกไม่ชัดว่าตรงนั้นเป็นพื้นที่ของใคร คือเป็นพื้นที่ของรัฐหรือเอกชนให้ใช้ ซึ่งอันนี้ต้องทำให้มีความชัดเจน 

“เราพบทั้ง 2 กรณี กรณีที่บอกว่ามีคนให้อยู่ แต่ไม่รู้ตรงนี้เป็นพื้นที่ใคร  อีกกลุ่มก็อยู่ในเขตอุทยานมานาน  แต่ถ้าวันดีคืนดี อาจจะมีการไปแจ้งว่า กลุ่มมันนิผิดกฎหมายอยู่ในพื้นที่อุทยาน ถ้าหากว่าไม่ได้มีการสำรวจไว้ตามมาตรา 64, 65 ตรงนี้แหละที่กสม.ต้องเข้าไปดู  เพราะกลุ่มมันนิเขาอยู่มานานหลายร้อยปีตามประวัติศาสตร์ที่ใคร ๆ ก็รู้ แต่ถ้ากฎหมายใหม่ที่ออกมา ไม่ได้ระบุเรื่องเหล่านี้อย่างชัดเจน ในระยะยาวกลุ่มนี้เขาก็จะกลายเป็นคนผิดกฎหมาย จึงเป็นเรื่องที่กรรมการสิทธิให้ความสำคัญ และจะเข้าไปดูในรายละเอียดของทุกกลุ่มที่มีอยู่“ 

ปรีดา คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
กระท่อม หรือที่ชาวมันนิเรียกว่า ทับ ที่อยู่อาศัยของชาวมันนิ

ปรีดา ยังเปิดเผยว่า เตรียมลงพื้นที่ตรวจสอบข้อร้องเรียนของกลุ่มมันนิในทุกจังหวัด รวมถึงจังหวัดยะลา ซึ่งพอมีการร้องเรียนของทางจังหวัดตรังและพัทลุง นักวิชาการที่จ.ยะลา ก็ให้ข้อมูลว่า ที่จ.ยะลาเองก็มีปัญหาคล้ายกัน ดังนั้นทางกรรมการสิทธิจึงจะชวนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ทางศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร(องค์การมหาชน) ลงพื้นที่ และจะมีการประชุมภาพรวมกระบวนการแก้ปัญหาและพัฒนากลุ่มชาติพันธุ์มันนิ  เพื่อจะดูว่าภาพรวมปัญหาแต่ละพื้นที่ใกล้เคียงกันไหม มีปัญหาเป็นอย่างไรบ้าง และระยะยาวควรจะแก้ยังไง 

“สำคัญที่สุดคือการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสร้างความมั่นคงให้กับพวกเขา ต้องสอดคล้องกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของเขาด้วย  เพราะว่าฟังดูก็ยังมีแนวความคิด 2 อย่าง  อย่างนึงก็คือ มีความคิดเห็นว่ามันนิจะต้องมีการพัฒนา เหมือนกับผู้คนอื่นๆในสังคม แต่อีกกลุ่มก็อยากให้มันนิอยู่แบบดั้งเดิม  เพราะฉะนั้นประเด็นนี้จะทำอย่างไรให้เกิดความสมดุล ให้มันสอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มมันนิจริงๆ และไม่กระทบต่อทุนทางวิถีวัฒนธรรมที่พวกเขามีอยู่เดิม” 

ปรีดา คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

ปรีดากล่าวต่อว่า อีกแนวทางสำคัญที่ต้องเดินหน้า จากที่ได้พูดคุยกับทางศูนย์มนุษยวิทยาสิรินธร(องค์การมหาชน)  เนื่องจากช่วงนี้เป็นช่วงที่กำลังผลักดันกฎหมายส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ และชนเผ่าพื้นเมืองหลายฉบับ และในกฎหมายนี้ ตอนที่ขับเคลื่อนเรื่องชาวเลและกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง  เขาจะมีการจัดทำพื้นที่เขตคุ้มครองทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ เพราะฉะนั้น เราจะทำยังไงที่จะทำการส่งเสริม ให้ทางกลุ่มชาติพันธุ์มันนิ มีเขตคุ้มครองทางวัฒนธรรมด้วย 

“เพราะว่าเขตคุ้มครองทางวัฒนธรรมมันหมายถึง ทั้งที่อยู่อาศัยที่มั่นคง ที่ทำกินที่ชัดเจน มีกระบวนการพัฒนาคุณภาพชีวิต มีเรื่องสวัสดิการต่างๆที่คุ้มครองพวกเขา เพราะฉะนั้นเป็นเรื่องสำคัญที่ กสม.ให้ความสนใจด้วย เพราะว่า เวลาเราดูเรื่องกลุ่มชาติพันธุ์ เราจะดูทั้งกติกาสากล ที่ประเทศไทยไปร่วมลงนามไว้ และดูว่าสิทธิตามรัฐธรรมนูญพวกเขาเป็นไง และกฎหมายแต่ละตัวนั้นเป็นยังไง รัฐธรรมนูญมาตรา 70 ก็ระบุชัดเจนว่า ควรจะต้องมีการพัฒนาส่งเสริมคุณภาพชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ ให้เขาสามารถอยู่ได้ตามวิถีดั้งเดิมของเขา โดยเฉพาะกลุ่มมันนิเป็นกลุ่มเปราะบางมาก เพราะส่วนใหญ่เขาไม่รู้ภาษาไทย ไม่รู้กฎหมาย เพราะฉะนั้นเขาต้องมีทีมพี่เลี้ยงทีมที่ปรึกษา ทีมองค์กรพัฒนาเอกชน นักกฎหมาย เข้าไปอบรมให้คำแนะนำความรู้เขาด้วย” 

ปรีดา คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

ปรีดา ยังระบุว่า หลังลงพื้นที่ จะมีการจัดทำรายงานเสนอต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนชุดใหญ่  และถ้ามีเรื่องใดที่ กสม. จะสามารถทำเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย สำหรับกลุ่มชาติพันธุ์ได้ กสม.ก็จะทำเพื่อที่จะให้การพัฒนากลุ่มนี้มันยั่งยืนในระยะยาว  

Author

Alternative Text
AUTHOR

ทัศนีย์ ประกอบบุญ

นักข่าวสายลุย เกาะติดประเด็นแล้วไม่มีปล่อย รักการเดินทาง หลงรักศิลปะบนรองเท้า และชอบร้องเพลงเป็นชีวิตจิตใจ