กสม.-จังหวัดสตูล เห็นพ้อง จัดทำแผนแม่บทการพัฒนาและแก้ไขปัญหากลุ่มชาติพันธุ์มันนิ

ที่ประชุมร่วมเดินหน้าแก้ปัญหายึดหลักความสมดุลระหว่างคนกับธรรมชาติ  พร้อมผลักดันเขตคุ้มครองวัฒนธรรมชาวมันนิเพื่อให้ชาวมันนิยังคงศักยภาพวิถีดั้งเดิม  เข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน และการพัฒนาคุณภาพชีวิต

ปรีดา คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่และประชุมรับฟังปัญหาและข้อเท็จจริงเรื่องกลุ่มชาติพันธุ์มานิ จังหวัดสตูล ซึ่งมี เอกรัฐ หลีเส็น ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอทุ่งหว้า อำเภอมะนัง อำเภอละงู และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง พร้อมด้วยตัวแทนชาวมานิและภาคประชาชนที่ดูแลและทำงานกับชาติพันธุ์มันนิ  รวมถึงตัวแทนศูนย์มานุษยสิรินธร (องค์การมหาชน ) เข้าร่วมสังเกตการณ์

โดยระบุว่าที่มาของการลงพื้นที่และประชุมครั้งนี้ เนื่องจากผู้แทนเครือข่ายกลุ่มชาติพันธุ์มานิ ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2565 เกี่ยวกับกรณีที่ชาวมันนิ ไม่สามารถเข้าถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิต  ไม่สามารถซ่อมแซมที่อยู่อาศัยและไม่สามารถประกอบอาชีพได้อย่างอิสระ รวมถึงการไม่ได้รับการจัดสรรที่ดิน ตามนโยบายของคณะกรรมการที่ดินแห่งชาติ (คทช.) และถูกขับให้ออกจากพื้นที่ป่า ในขณะเดียวกันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกลับมีการเร่งรัดการดำเนินให้เอกชนในการที่สัมปทานเหมืองหิน ในพื้นที่ที่ชาวมันนิดำรงวิถีชีวิต

ปอย รักป่าบอน ตัวแทนชาวมันนิ อ.ทุ่งหว้า จ.สตูล

ปอย รักป่าบอน ตัวแทนชาวมันนิ อ.ทุ่งหว้า จ.สตูล สะท้อนว่า ปัจจุบันการหาอยู่หากินในป่าลำบากยากขึ้นทรัพยากรน้อยลงและมีข้อจำกัดต่างๆ จึงไม่ปฏิเสธที่ชาวมันนิบางส่วนต้องการที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่ง และอยากให้มีการพัฒนาคุณภาพชีวิต เข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานต่างๆ 

“ถ้าถามว่าต้องการให้มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่งแบบคนทั่วไป  เขาก็อยากอยู่ แต่ถ้ามีคนกดขี่บังคับ ไม่มีคนมาช่วยเหลือ พวกผมจะทำอะไรไม่ได้  เรื่องงานเราก็อยากให้มาส่งเสริม ให้มาแนะนำ แต่พอเอาเข้าจริงก็หาย ถ้าเป็นแบบนี้พวกผมถามหน่อยว่าจะทำยังไง ใครจะทำเป็น ถ้าไม่มีใครช่วยเหลือแนะนำ แต่พอจะกลับเข้าป่า ก็ไม่ให้เข้าไป เข้าไม่ได้ เข้าป่าแล้วผิดกฎหมาย ถ้าเป็นแบบนี้พวกผมจะกินอะไร ปลาไม่ได้เลี้ยง ไก่ก็ไม่ได้เลี้ยง แล้วจะกินอะไร”

ปอย รักป่าบอน ตัวแทนชาวมันนิ อ.ทุ่งหว้า จ.สตูล

ทั้งนี้ ในที่ประชุมได้มีการเสนอหาทางออกต่อเรื่องนี้ ภายใต้ข้อห่วงกังวลต่อรูปแบบวิธีการช่วยเหลือมันนิที่จะต้องไม่สร้างปัญหาใหม่และไม่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของเขาเหล่านั้น โดยต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของความสมดุลระหว่างคนกับธรรมชาติ และดำรงอยู่ได้ตามความต้องการที่สอดคล้องเหมาะสม รวมทั้งต้องเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน   

โดยมีข้อสรุปว่า ในระยะสั้น จะมีการจัดทำแผนแม่บทในการพัฒนาและแก้ไขปัญหากลุ่มมานิในจังหวัดสตูล ที่จะต้องเกิดขึ้นจากการมีส่วนร่วมของกลุ่มต่างๆ บนพื้นฐานของความต้องการที่แท้จริง และจะต้องสร้างพื้นที่การสื่อสารที่จะต้องฟังความต้องการของกลุ่มมันนิเป็นสำคัญ เพื่อที่จะได้นำแผนดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาอีกครั้ง ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดต่อไป  ดังนั้นจึงควรมีกลไกเฉพาะระดับจังหวัด เพื่อให้มีการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาและส่งเสริมสนับสนุนการดำเนินชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์มันนิในพื้นที่จังหวัดสตูล 

ส่วนระยะยาว ที่ประชุมร่วมเห็นตรงกันจะมีการนำแนวทางที่ตัวแทนศูนย์มานุษยสิรินธร ( องค์การมหาชน)เสนอ คือการสร้างพื้นที่เขตคุ้มครองทางวัฒนธรรม ที่จะต้องมีการสร้างความเข้าใจหรือวิธีคิดต่อกลุ่มชาติพันธุ์ร่วมกันใหม่ โดยต้องคำนึงถึงศักยภาพ ความสามารถในการพึ่งพาตนเองได้  และสร้างทางเลือกในการดำรงชีวิตของคนกลุ่มนี้ ทั้งนี้เขตคุ้มครองทางวัฒนธรรมไม่ได้หมายถึงการจัดสรรที่ดินที่ทำกินให้อย่างไร้ระบบ แต่ต้องคำนึงถึงความสมดุลของคนและธรรมชาติร่วมด้วย และที่สำคัญคือการเคารพสิทธิของความเป็นมนุษย์และความเป็นชนเผ่าดั้งเดิม ที่จะต้องอยู่ร่วมกันในฐานพลเมือง

“ เรื่องที่สำคัญ คือความมั่นคงในการอยู่อาศัย เพราะว่ามันิอยู่ในเขตอนุรักษ์ ทั้งเขตห้ามล่าสัตว์ และเขตอุทยานฯ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ควรทำ เพื่อเทียบเคียงกับการแก้ปัญหาของชาวเล และกะเหรี่ยงคือการทำพื้นที่นำร่องเขตคุ้มครองทางวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์มันนิ ในจ.สตูล ซึ่งอันนี้มันจะเป็นประโยชน์ เพราะหากดำเนินการได้ จะนำไปขยายผลในพื้นที่ พัทลุง สงขลา ตรัง และอาจยาวถึงยะลา ในทุกพื้นที่ที่มีชาวมันนิ “ 

ปรีดา คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

ปรีดา กล่าวต่อว่า ปัจจุบันพื้นที่ของชาวมันนิ มีส่วนหนึ่งที่มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่ง แต่ส่วนหนึ่งก็ยังต้องเดินทาง ย้าย เพื่อไปหาแหล่งอาหารในป่าในเขาลูกต่างๆ แต่มีข้อจำกัด ทรัพยากรในป่าหายากขึ้นกฎหมายใหม่ที่ออกมาอย่างพ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ การสำรวจตามมาตรา 64 ที่ถูกตั้งข้อสังเกตว่า มีการสำรวจไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง คือสำรวจ เฉพาะมันนิที่มีการตั้งบ้านเรือนแล้ว แต่จริง ๆ อย่างที่บอกว่ามีมันนิส่วนหนึ่งที่ยังโยกย้ายถิ่นฐานอยู่ และที่จริงตามมาตร 64 เขาต้องสำรวจทั้งหมด ทั้งผลอาสิน ทรัพยากรที่มันนิใช้ในเขตป่าอนุรักษ์ และพื้นที่ที่เขาย้ายไปตั้งทับ ดังนั้นโดยส่วนตัวเห็นว่า จะเสนอให้กระทรวงทรัพย์สำรวจพื้นที่ใช้สอยของมันนิ ตามสภาพความเป็นจริงด้วย 

ด้าน อภินันท์ ธรรมเสนา หัวหน้ากลุ่มงานสื่อสารความรู้และเครือข่ายสัมพันธ์ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร(องค์การมหาชน) กล่าวว่า  การจะแก้ไขปัญหาให้กับกลุ่มชาติพันธุ์มันนิ ต้องให้ความสำคัญกับความต้องการที่แท้จริงของพวกเขา เพราะว่า บางกลุ่มมีความต้องการมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง อยากมีบ้าน แต่ขณะเดียวกันอยากมีที่ทำกิน และยังอยากใช้วิถีชีวิตดั้งเดิมด้วย จึงเป็นสิ่งที่เราต้องมานั่งดูว่า ความต้องการของเขามีกี่รูปแบบ และพวกเขามีกี่กลุ่ม อยู่ตรงไหนกันบ้าง มีวิถีชีวิตดั้งเดิมในป่า เก็บหาของป่า โยกย้ายไปจุดไหนบ้าง ซึ่งต้องมีการศึกษาทำข้อมูลให้ชัด 

“ ปัญหาสำคัญมาก คือความไม่รู้เกี่ยวกับเรื่องมันนิ จึงต้องมีฐานข้อมูลระดับนึง การจะประกาศพื้นที่คุ้มครองต้องมีพื้นที่แค่ไหน ต้องรู้การเคลื่อนย้ายในป่าของพวกเขา เคลื่อนจากไหนไปไหนบ้าง ต้องมีการศึกษา รวบรวมข้อมูลให้ชัด “ 

อภินันท์ ธรรมเสนา หัวหน้ากลุ่มงานสื่อสารความรู้และเครือข่ายสัมพันธ์ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร(องค์การมหาชน) 
อภินันท์ ธรรมเสนา หัวหน้ากลุ่มงานสื่อสารความรู้และเครือข่ายสัมพันธ์ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร(องค์การมหาชน) 

หัวหน้ากลุ่มงานสื่อสารความรู้และเครือข่ายสัมพันธ์ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร(องค์การมหาชน) ยังเห็นว่า การขับเคลื่อนเขตคุ้มครองทางวัฒนธรรมกลุ่มมันนิ มีความท้าทายสำคัญ 4 เรื่อง คือ 

1.จะทำยังไงให้คนในสังคมเข้าใจกลุ่มชาติพันธุ์มันนิก่อนว่ามันนิเป็นใคร เพราะถ้าคนไม่เข้าใจจะกลายเป็นว่า ทำไมดูแลแต่กลุ่มนี้ ไม่ดูแลคนอื่น จึงจำเป็นที่ต้องให้คนในสังคมเข้าใจมันนิก่อน ว่าพวกเขาเป็นใคร มีความเปราะบางและมีความสำคัญอย่างไร 

2.เรื่องการพัฒนาศักยภาพมันนิ อันนี้ยอมรับว่าเป็นเรื่องที่ยาก เพราะเอาเข้าจริงต่อให้เราช่วยเหลือกันแค่ไหนก็ตาม แต่ถ้าชาวมันนิเขาไม่มีความรู้สึกว่าจะเรียกร้องสิทธิอะไรได้ ทำไปก็เท่านั้นก็จะขับเคลื่อนไปได้ยาก 

3.เรื่องของกลไกของหน่วยงานรัฐ ที่แต่ละหน่วยงานมีโจทย์หน้าที่ต่างกัน ดังนั้นจึงต้องบูรณาการหาทางออกร่วมกัน

4.ภาคนโยบายเอง ในการจัดการกลุ่มชนเผ่าดั้งเดิมแบบนี้ ยอมรับสิทธิเขาแค่ไหน ถ้าเราไม่ยอมรับสิทธิ ต่อไปจะอยู่ยังไง จึงเป็นความท้าทายเชิงมโนทัศน์ว่ารัฐคิดยังไงกับเรื่องนี้ 

ส่วนการดำเนินงานหลังจากนี้ ปรีดา คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ระบุว่า จะนำข้อสรุปจากการลงพื้นที่และผลการประชุมเสนอต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และจะจัดทำรายงานเพื่อเสนอให้กับรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

Author

Alternative Text
AUTHOR

ทัศนีย์ ประกอบบุญ

นักข่าวสายลุย เกาะติดประเด็นแล้วไม่มีปล่อย รักการเดินทาง หลงรักศิลปะบนรองเท้า และชอบร้องเพลงเป็นชีวิตจิตใจ