เริ่มแล้ว! งานรวมตัว ‘ชุดมลายู’ ย้ำสังคม เข้าใจอัตลักษณ์พื้นถิ่น ลดอคติ – หวาดระแวง

ผู้จัดงานฯ ยืนยัน หน่วยงานความมั่นคงไฟเขียว พร้อมอำนวยความสะดวก ห่วงการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ธง สุ่มเสี่ยง ขอให้ระมัดระวัง ไม่สร้างเงื่อนไขกระทำผิดกฎหมาย    

วันนี้ (13 เม.ย. 67) สมัชชาประชาสังคมเพื่อสันติภาพ (CAP) จัดกิจกรรมส่งเสริมวัฒนธรรมการแต่งกายชุดมลายู อันเป็นอัตลักษณ์ท้องถิ่นในพื้นที่ชายแดนใต้/ปาตานี หรือ Melayu Raya 2024 ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของเยาวชน คนรุ่นใหม่ในพื้นที่ชายแดนใต้ ภายหลังสิ้นสุดช่วงเดือนรอมฎอน ที่บริเวณหาดวาสุกรี ต.ตะลุบัน อ.สายบุรี จ.ปัตตานี โดยกิจกรรมนี้จัดกันมาต่อเนื่องทุกปี 

คณะผู้จัดงานฯ ระบุถึงวัตถุประสงค์ว่า งานจัดขึ้นเพื่อส่งเสริมและอนุรักษ์ฟื้นฟูการแต่งกายตามวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ท้องถิ่น การาเพื่อเปิดโอกาสให้กับกลุ่มเครือข่ายภาคประชาชนในพื้นที่ต่าง ๆ ได้มีพื้นที่สาธารณะในการแสดงออกทางวัฒนธรรมอย่างสร้างสรรค์ รวมทั้งเพื่อรณรงค์และหนุนเสริมบรรยากาศกระบวนการสร้างสันติภาพในพื้นที่ชายแดนใต้

นอกจากการนัดรวมตัวของกลุ่มคนรุ่นใหม่ในพื้นแล้ว สำหรับ Melayu Raya 2024 ปีนี้ ยังมีไฮไลท์สำคัญคือการร่วมกันขอดูอาร์ หรือ ขอพร ให้กับชาวปาเลสไตน์ ที่สูญเสีย และได้รับผลกระทบจากสงคราม ภายใต้หัวข้อ “BUKA PATANI DOA PALESTINE” (เปิดบ้านปาตานีดูอาร์สู่ปาเลสไตน์) 

มูฮัมหมัดอาลาดี เด็งนิ ที่ปรึกษาสมัชชาประชาสังคมเพื่อสันติภาพ (CAP) เปิดเผยกับ The Active ว่ากิจกรรมนี้ถือเป็นเทศกาลประจำปีของผู้คนในพื้นที่ชายแดนใต้ไปแล้ว โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่นัดมารวมตัวกันสะท้อนอัตลักษณ์ท้องถิ่น โดยปีนี้ได้หารือร่วมกับ กอ.รมน. หน่วยงานความมั่นคง หน่วยงานท้องถิ่นเป็นอย่างดี เพื่อทำความเข้าใจ เพื่อไม่ให้การจัดงานสุ่มเสี่ยง และเป็นเงื่อนไขที่กระทบต่อความมั่นคง โดย กอ.รมน. เน้นย้ำให้ระมัดระวังเรื่องธง และสัญลักษณ์ต่าง ๆ ที่หมิ่นเหม่ สุ่มเสี่ยง ซึ่งทางผู้จัดงานฯ ก็ได้ทำความเข้าใจ ขอความร่วมมือกับผู้เข้าร่วมกิจกรรมมาอย่างต่อเนื่อง เชื่อว่าไม่น่าจะมีประเด็นอะไรน่ากังวล แต่ก็ยอมรับว่า กังวลคนบางกลุ่มที่พยายามเข้ามาป่วนภายในงานเช่นกัน แต่ได้ดูแล เฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด 

ขณะเดียวกัน กอ.รมน. ก็ยืนยันว่า จะอำนวยความสะดวกให้กับผู้คนที่เดินทางเข้าร่วมงานฯ เป็นอย่างดีแม้ว่าเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา มีกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่จะเดินทางมาร่วมงานฯ ถูกสกัดกั้นบ้าง 

มูฮัมหมัดอาลาดี เด็งนิ ที่ปรึกษาสมัชชาประชาสังคมเพื่อสันติภาพ (CAP)

มูฮัมหมัดอาลาดี ในฐานะที่เป็นหนึ่งใน 9 นักกิจกรรมที่ถูกดำเนินคดีจากการจัดกิจกรรม Melayu Raya 2022 ยอมรับว่า ในเรื่องของคดีความ ซึ่งในตอนนี้อยู่ในช่วงที่ตำรวจรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อเตรียมสั่งฟ้อง แต่ก็ไม่รู้กังวลใจอะไร เพราะได้ชี้แจงข้อกล่าวหาไปหมดแล้ว ยืนยันว่างานที่จัดขึ้นไม่มีเจตนากระทำการที่อยู่นอกเหนือกฎหมาย 

อ่านเพิ่ม : ห่วงคดีชุมนุมชุดมลายู ทำเสียบรรยากาศ เดินหน้า “สันติภาพ”

สำหรับกิจกรรมสำคัญในปีนี้ ผู้คนที่มารวมตัวกันจะได้ร่วมสวดดูอาร์ หรือ ขอพร ขอให้สันติภาพเกิดขึ้นกับผู้คนในพื้นที่ปาเลสไตน์ ภายหลังจากตกอยู่ในสภาวะสงครามมาไม่น้อยกว่า 6 เดือนแล้ว ส่งผลให้เกิดการสูญเสียชีวิต ทรัพย์สิน การบาดเจ็บ โดยเฉพาะกลุ่มเด็ก เยาวชน ที่พบว่า ได้รับผลกระทบจำนวนมาก

มูฮัมหมัดอาลาดี ยังย้ำว่า งาน Melayu Raya 2024 ต้องการสื่อสารเรื่องอัตลักษณ์มลายูที่ไม่ใช่แค่กับคนในพื้นที่เท่านั้น แต่อยากให้ผู้คนทั่วประเทศ ได้ทำความเข้าใจว่างานนี้ต้องการสะท้อนวัฒนธรรมในสังคมที่มีอยู่อย่างหลากหลาย 

“อยากทำความเข้าใจสังคม ว่าความหลากหลายของผู้คนมีอยู่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะพื้นที่แนวชายแดนมีกลุ่มคนที่ต่างศาสนา ต่างวัฒนธรรม ดังนั้นจึงไม่ควรต้องหวาดระแวงกัน การแต่งกายด้วยชุดมลายูก็เพื่อแสดงออกถึงการยอมรับความหลากหลายที่มีอยู่ สิ่งนี้ไม่เพียงเป็นอัตลักษณ์ลสำคัญ แต่อยากให้มองเป็นโอกาส ต่อยอดไปสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือการเป็น Soft Power ที่ได้รับการยอมรับจากประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน ทั้ง มาเลเซีย อินโดนิเซีย สิงคโปร์ บรูไน ซึ่งเป็นการเปิดพื้นที่ลักษณะนี้เป็นโอกาสสำคัญของการสร้างความเข้าใจอันดีให้เกิดขึ้น”

มูฮัมหมัดอาลาดี เด็งนิ 

ขณะที่ อานัส พงศ์ประเสริฐ คณะผู้จัดงาน Melayu Raya 2024 อธิบายถึงอัตลักษณ์ผ่านชุดมลายู ว่า ส่วนประกอบสำคัญของเสื้อผ้า เครื่องแต่งกายชุดมลายู คือ

  • หมวก หรือ ‘ตันเยาะห์’ ซึ่งเป็นการพับผ้ารูปมงกุฎ และรูปแบบต่าง ๆ

  • เสื้อที่มีลักษณะคอกลมกระดุมเม็ดเดียว เรียกว่า ‘ตือโละบางอ’ ส่วนเสื้อที่มีลักษณะคอจีน มีกระดุม 5 เม็ด เรียกว่า ‘จือกะมูซัง’

  • กางเกง และผ้าพันจากสะดือถึงเข่าเรียกว่า ‘ซัมปิน’

โดยชุดมลายูยังสะท้อนถึงความหลายหลายทางวัฒนธรรมทั้งอาหรับ อินเดีย จีน ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปตามเวลา และสังคม โดยในเวลานี้ผู้คนในพื้นที่ชายแดนใต้พยายามนำชุดมลายูกลับมาใช้ในชีวิตประจำวัน นอกเหนือจากการใส่ในช่วงโอกาสพิเศษต่าง ๆ เช่นงานแต่งงาน การละหมาดใหญ่วันศุกร์ เพื่อให้เกิดเป็นความปกติของการใส่ชุดมลายู

“ตอนนี้การแต่งกายชุดมลายูไม่ได้ถูกแช่แข็งเหมือนอย่างที่ผ่านมาอีกต่อไป เราพยายามทำให้อยู่ในชีวิตประจำวัน เพื่อนำอัตลักษณ์เฉพาะที่ไม่ต่างจากผู้คน ชาติพันธุ์ในภูมิภาคอื่น ๆ และที่สำคัญไม่ใช่แค่คนในพื้นที่เท่านั้น แต่ส่วนตัวแล้วเชื่อว่าคนมลายูทุกคนก็ยินดีหากคนต่างศาสนา คนต่างเชื้อชาติจะใส่ชุดมลายู เพราะถ้าเกิดขึ้นได้จริง สิ่งนี้ถือเป็นการลื่นไหลทางวัฒนธรรม ที่ควรเกิดขึ้น เพราะหากวัฒนธรรมถูกแช่แข็งเพื่อชนชาติใดชนชาติหนึ่งก็คงไม่เรียกว่าวัฒนธรรม นี่คือสิ่งที่เราอยากทำความเข้าใจต่อสังคม”

อานัส พงศ์ประเสริฐ

สำหรับกิจกรรม Melayu Raya 2024 ในวันนี้ (13 เม.ย. 67) เป็นการรวมตัวของเยาวชน คนรุ่นใหม่(ชาย) ในพื้นที่ชายแดนใต้ โดยกิจกรรมบนเวทีมีทั้งการแสดงบทเพลงมลายู การกล่าวสุนทรพจน์ พร้อมทั้งในงานยังมีนิทรรศการให้ความรู้ ความเข้าใจวัฒนธรรมการแต่งกายของชาวมลายูด้วย ซึ่งงานฯ จะจัดไปจนถึงช่วงเย็นประมาณ 18.00 น. 

ขณะที่ในวันพรุ่งนี้ (14 เม.ย. 67) จะเป็นกิจกรรมรวมตัวแต่งกายด้วยชุดมลายู ของเยาวชน คนรุ่นใหม่(หญิง) ด้วย 

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active