ห่วงคดีชุมนุมชุดมลายู ทำเสียบรรยากาศ เดินหน้า “สันติภาพ”

“กมธ.สันติภาพชายแดนใต้” เชื่อมีอีกหลายคดี ถูกตั้งข้อหาเกินเหตุ หวั่นกระทบกลไกพื้นที่ปรึกษาหารือสาธารณะ ทำคนเห็นต่างไม่กล้าแสดงความเห็น ขณะที่ หน.คณะพูดคุยฯ ไทย หารือ ผู้อำนวยความสะดวกมาเลเซีย ยันยึดกรอบเดิม คาดเปิดโต๊ะเร็วสุด ก.พ.นี้ หวังได้บทสรุป ข้อตกลงสันติสุขสิ้นปี

การประชุมกมธ.วิสามัญสันติภาพชายแดนใต้ (10 ม.ค. 67)

รอมฎอน ปันจอร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะรองประธานกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาและเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (กมธ.วิสามัญสันติภาพชายแดนใต้) เปิดเผยกับ The Active ถึงผลการประชุมกรรมาธิการฯ เมื่อวันที่ 10 ม.ค. ที่ผ่านมา ระบุว่า ที่ประชุมได้นำประเด็นการดำเนินคดี 9 นักกิจกรรม ข้อหา ยุยง ปลุกปั่น อั้งยี่ซ่องโจร กรณีจัดกิจกรรม MELAYU RAYA 2022 ที่ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 5 พ.ค.2565 มาพูดคุย ซึ่ง 1 ใน 9 คน ที่ถูกดำเนินคดี คือ มะยุ เจ๊นะ เป็นกรรมาธิการวิสามัญสันติภาพชายแดนใต้ จึงได้ให้ มะยุ อธิบายที่มาที่ไปของกิจกรรมที่จัดขึ้น จนเป็นเหตุนำไปสู่การฟ้องคดี โดยย้ำถึงเจตจำนงค์ว่าเป็นกิจกรรมสะท้อนอัตลักษณ์เฉพาะถิ่นมลายู

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : จี้รัฐยุติคดี “ยุยง-ปลุกปั่น-อั้งยี่” 9 นักกิจกรรม งานรวมพลแต่งชุดมลายู MELAYU RAYA 2022

มะยุ เจ๊นะ กมธ.วิสามัญสันติภาพชายแดนใต้ 1 ใน 9 คนที่ถูกดำเนินคดี

ขณะเดียวกันยังได้หยิบยกอีกหลายคดีที่ถูกดำเนินคดีความมั่นคงในลักษณะคล้าย ๆ กัน ซึ่งถูกมองว่าเป็นการฟ้องคดีปิดปาก เพื่อให้เกิดความยุ่งยาก นั่นทำให้กรรมาธิการฯ มีข้อสรุปที่จะออกคำแถลงการณ์ แสดงความกังวลต่อบรรยากาศ การแจ้งความดำเนินคดีในข้อหาหนัก อาจมีส่วนทำให้ประเด็นการเดินหน้าสันติภาพประสบปัญหาได้

“ทุกฝ่ายต้องการการมีส่วนร่วม แต่การถูกปิดปากด้วยคดี ก็ทำให้คนไม่กล้าแสดงความเห็น ไม่กล้าทำกิจกรรมใด ๆ จนทำให้เราอาจสูญเสียความคิด ความเห็นของประชาชนจริง ๆ ในช่วงเวลาที่การพูดคุยกำลังเข้ารูปเข้ารอย ซึ่งคาดว่าในเร็ว ๆ นี้เราอาจมีโรดแมปชัดเจนถึงข้อตกลงต่าง ๆ ที่ต้องลงนามในกระบวนการพูดคุยสันติภาพ นำไปสู่การวางแผนเปิดพื้นที่ปรึกษาหารือให้กับประชาชน กลุ่มคนเห็นต่างได้พูดคุยหาทางออกร่วมกัน แต่บรรยากาศแบบนี้ไม่เอื้อให้กับกระบวนการสันติภาพเลย”

รอมฎอน ปันจอร์
รอมฎอน ปันจอร์ รองประธาน กมธ.วิสามัญสันติภาพชายแดนใต้

รองประธาน กมธ.วิสามัญสันติภาพชายแดนใต้ บอกด้วยว่า กรณีที่เกิดขึ้นกำลังสร้างความขุ่นมัวให้กับกระบวนการ สันติภาพ ซึ่งสัญญาณที่เกิดขึ้นจากการกระทำแบบนี้ของหน่วยงานรัฐ และฝ่ายความมั่นคง คงต้องถูกตั้งคำถามว่า จะสามารถเปิดพื้นที่พูดคุยได้มากขนาดไหน เพราะการทำกิจกรรมที่แสดงความเป็นตัวตน การมีส่วนร่วมทางการเมือง รวมถึงการแสดงทัศนะ การเห็นต่าง อาจทำได้ไม่เต็มที่ จนถึงขั้นถูกแจ้งความในข้อหาร้ายแรง จึงเริ่มเกิดข้อกังขาต่อการดำเนินนโยบายแก้ปัญหาชายแดนใต้ สิ่งนี้อาจเกิดผลกระทบได้ กรรมาธิการฯ จึงต้องเตือนรัฐบาล ว่าเป็นสัญญาณไม่ดี

ขณะเดียวกันคาดว่า ในวันที่ 19-20 มกราคมนี้ การลงพื้นที่ชายแดนใต้ของกรรมาธิการฯ จะได้พูดคุยกับทางหน่วยงานความมั่นคง แม่ทัพภาคที่ 4 กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า รวมถึงพูดคุยกับภาคประชาสังคม นักกิจกรรม ประชาชนในพื้นที่ น่าจะทำให้ได้ข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อนำไปจัดทำเป็นข้อสรุปต่อกระบวนการสร้างสันติภาพเสนอต่อรัฐบาลต่อไป

“สมศักดิ์” หารือ ผู้อำนวยความสะดวกมาเลเซีย ย้ำเดินหน้าพูดคุยฯ กรอบเดิม 

เมื่อวานนี้ (10 ม.ค. 67) สมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี ได้ต้อนรับ พล.อ.ตันศรี ดาโต๊ะ สรี ซุลกิฟลี ไซนัล อะบีดิน ผู้อำนวยความสะดวกในกระบวนการพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ของมาเลเซีย โดย สมศักดิ์ ระบุว่า เป็นการสร้างความเข้าใจระหว่างภาคส่วนราชการของไทย และมาเลเซีย เพื่อให้ทำงานอย่างลงตัว เหมือนการสร้างระเบียบเพื่อให้การทำงานใช้เวลาไม่นาน รวมถึงกำหนดกฎเกณฑ์การพูดคุย ว่าจะพูดคุยได้มากน้อยแค่ไหน อย่างไร ส่วนการพูดคุยสันติสุขครั้งต่อไป จะเกิดขึ้นเมื่อไรนั้นยังไม่ทราบ เพราะเป็นการพูดคุยเพื่อเตรียมความพร้อมการทำงานให้เกิดความรวดเร็ว เพื่อให้ไทยกับมาเลเซีย จับมือกันพัฒนาเศรษฐกิจ แข่งกับประเทศอื่น ๆ ได้

สมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี ต้อนรับ พล.อ.ตันศรี ดาโต๊ะ สรี ซุลกิฟลี ไซนัล อะบีดิน ผู้อำนวยความสะดวกในกระบวนการพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ของมาเลเซีย

หน.คณะพูดคุยฯ ไทย คาดเปิดโต๊ะเจรจา ก.พ.นี้ หวังได้บทสรุป ข้อตกลงสันติสุข สิ้นปี

ขณะที่ ฉัตรชัย บางชวด รักษาการเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะ หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ระบุว่า การหารือกันเพื่อนำคณะพูดคุยของฝ่ายรัฐทั้ง 2 ประเทศ มากำหนดแนวทางการทำงาน และขั้นตอนที่จะไปพูดคุยที่มาเลเซีย โดยยืนยันว่า จะสานต่อการพูดคุยสันติสุขในแนวทางเดิม โดยใช้แผนสันติสุขแบบองค์รวม คาดการณ์ว่าจะพิจารณาร่างฯ ดังกล่าวในเดือนมิถุนายนนี้ โดยตัวแทนผู้อำนวยความสะดวกของไทย จะไปพูดคุยกับฝั่งมาเลเซีย อาจจะมีความเป็นไปได้ว่าจะพูดคุยเจรจากันภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้

“ไทยมีเป้าหมายรับรองแผนฉบับดังกล่าวในเดือนเมษายน จะทำให้การขับเคลื่อนเดินหน้าไปได้มากขึ้น โดยมีเรื่องการลดความรุนแรง การเผชิญหน้า การเปิดเวทีสาธารณะ รวมไปถึงการแสวงหาทางออกทางการเมือง หวังว่าร่างฉบับนี้จะนำไปสู่ความสงบสุขในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ในขั้นต้นคาดหวังว่าจะมีข้อตกลงสันติสุขภายในเดือนธันวาคม หรือช่วงต้นปีหน้า”

ฉัตรชัย บางชวด

หน.คณะพูดคุยสันติสุขฯ ยืนยันว่า จะดำเนินการตามแผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติสุขแบบองค์รวม หรือ JCPP ที่ทำกับ BRN เดิม ซึ่ง BRN เป็นส่วนหนึ่งที่มีส่วนได้ส่วนเสีย และคนในพื้นที่ก็มีส่วนสำคัญ จึงจำเป็นต้องเปิดเวทีสาธารณะเพื่อรับฟังปัญหา ซึ่งสุดท้ายต้องเป็นเรื่องของคนไทยด้วยกันเองที่ต้องหาข้อสรุปร่วมกัน เพื่อขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าว แต่เรื่องความไว้เนื้อเชื่อใจก็เป็นส่วนสำคัญ จึงจำเป็นต้องให้ทางการมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก ซึ่งที่ผ่านมาใช้ระยะเวลาหลายปีในการสร้างความไว้วางใจ เพื่อให้ผู้เห็นต่างเชื่อมั่นว่ารัฐมีความจริงจังที่จะแก้ไขปัญหา

ฉัตรชัย ยังกล่าวถึงกรณีกองทัพภาคที่ 4 แจ้งความดำเนินคดีกับผู้นำกิจกรรมสวมชุดมลายู อาจสวนทางกับกระบวนการพูดคุยจะมีข้อเสนอแนะไปยังรัฐบาลอย่างไรนั้น เรื่องนี้อาจเป็นความเข้าใจผิด ไม่ได้มีข้อห้ามใด ๆ ทั้งสิ้น เป็นไปตามนโยบายจังหวัดชายแดนภาคใต้ของรัฐบาล เป็นสิ่งสวยงาม อัตลักษณ์ วัฒนธรรม ทุกส่วนสามารถดำเนินการได้อย่างเต็มที่ ส่วนการกระทำความผิดบางส่วนก็เป็นเรื่องของกองทัพภาค 4 ที่จะดำเนินการตามขั้นตอนต่าง ๆ แต่ทั้งหมดต้องมีการพูดคุยกันภายใน หาจุดลงตัวเหมาะสม ซึ่งตนมองว่า อาจมีบางส่วนเห็นต่างและสุ่มเสี่ยง ปล่อยให้กระบวนการดำเนินการไป ส่วนเรื่องการพูดคุยกันภาพใหญ่ ก็จะดำเนินการต่อไป เนื่องจากมีประชาชนในพื้นที่ต้องการให้ดำเนินการต่อ ซึ่งต้องดำเนินการคู่ขนานกันต่อไป

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active