วิกฤตโฮมสคูล เมื่อรัฐลอยแพ การศึกษาทางเลือกถูกเมิน

หลายครอบครัวบ้านเรียน สะท้อน สพฐ. – เขตพื้นที่การศึกษา ยังไม่เข้าใจแนวคิดบ้านเรียน ตีกรอบเสมือนการศึกษาภาคบังคับ ทำเด็กตกหล่นระหว่างชั้น หวังปรับแก้คู่มือการจัดบ้านเรียน เปิดให้ครอบครัวร่วมออกแบบการเรียนของลูกได้อิสระ

เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. 67 เครือข่ายการศึกษาทางเลือก จัดเสวนา “วิกฤตบ้านเรียนไทย” เพื่อติดตาม และร่วมกันสะท้อนสถานการณ์บ้านเรียนในประเทศไทย ทั้งนี้ ‘โฮมสคูล’ จัดเป็น การศึกษาในระบบ ที่จัดการศึกษาโดยครอบครัว และกำกับดูแลโดย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขึ้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดยสาเหตุที่ต้องจดทะเบียนขึ้นกับทางเขตพื้นที่การศึกษา เพราะครอบครัวจะได้เงินอุดหนุนจากรัฐบาล และอุปกรณ์การเรียนเหมือนเด็กคนหนึ่งในโรงเรียน แต่ผู้ปกครองจะต้องถูกประเมินจากทางเขตพื้นที่ฯ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

เหตุผลสำคัญที่หลายครอบครัวจึงเลือกจัดโฮมสคูล เพราะมีความยืดหยุ่น และตอบโจทย์การศึกษาที่จำเพาะบุคคลได้มากกว่า แต่ปัญหาที่พ่อแม่มักพบเจอคือ การยื่นแผนการศึกษาเพื่อไปจดทะเบียนกับทางเขตพื้นที่ฯ​ มักถูกตีกรอบแบบการศึกษาภาคบังคับในโรงเรียน และขาดแรงสนับสนุนจากเจ้าหน้าที่เขตพื้นที่ฯ

Home School : การศึกษาที่ผู้ปกครองตบมือข้างเดียว เขตพื้นที่ฯ ไม่เอาด้วย

แม่ปอ – พรหมภัสสร ศรเชน ผู้จัดบ้านเรียนวงศ์ใหญ่ เล่าให้กับทาง The Active ฟังว่า สาเหตุที่ทำให้เธอตัดสินใจจัดโฮมสคูลให้กับลูก เพราะเมื่อสมัยที่ลูกยังเรียนอยู่ในห้องเรียน เธอพบว่า มีผลคะแนนวิชาหนึ่งไม่ดีนัก เมื่อสืบสาวเรื่องราวจึงได้รู้ว่า ลูกได้ยกมือถามในหัวข้อที่ยังไม่เข้าใจ แต่ถูกครูประจำวิชาตำหนิและเปรียบเทียบ ทำให้อับอาย ไม่กล้ายกมือตั้งคำถามอีก เมื่อเห็นดังนั้น จึงตัดสินใจพูดคุยกับลูก และเสนอแนวทางเพื่อจัดโฮมสคูลร่วมกัน

แม่ปอ – พรหมภัสสร ศรเชน

แม่ปอ เชื่อว่า การเรียนรู้ในห้องเรียน ไม่อาจทำให้ลูกของตนได้พบกับสิ่งที่ตนเองสนใจ เพราะเด็กต้องเอาเวลาเกือบทั้งวันไปนั่งเรียนรู้ทุกสิ่งจนไม่มีเวลาหาสิ่งที่ตัวเองชอบได้ เมื่อได้จัดโฮมสคูล จึงมีเวลาให้ลูกได้ลองเรียนรู้ในสิ่งที่เขาสนใจมากขึ้น หลังจากที่เขามีประสบการณ์ ลองฝึกงาน ลองลงมือทำก็จึงจะรู้ว่าชอบหรือไม่ชอบ สุดท้ายจึงพบว่าลูกสนใจในกีฬาบาสเกตบอลอย่างมาก

แม่ปอ ยังพบว่า เขตพื้นที่การศึกษา ไม่มีการสนับสนุนสิ่งที่เด็กในบ้านเรียนสนใจ พยายามพูดแนะนำให้กลับเข้าศึกษาในโรงเรียน ทั้งยังขาดทรัพยากรสนับสนุน โอกาสในการทดลองอาชีพ ทำให้หลายครอบครัวต้องหาทางสนับสนุนลูกตามศักยภาพที่ไหว นอกจากนี้ ทางเขตพื้นที่ฯ ยังตีความคู่มือการจัดบ้านเรียนเข้าข้างประโยชน์ตนเอง เช่น การให้พ่อแม่จัดการศึกษาคล้ายโรงเรียน, การกำหนดกรอบวิชาตามหลักสูตร, การประเมินด้วยข้อสอบ ฯลฯ ด้วยเหตุผลว่า หากจัดตามความต้องการแต่ละบ้านเรียน จะทำให้เขตพื้นที่ฯ ทำงานมากขึ้น ซึ่งเหตุการณ์ข้างต้นเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ

“สำคัญคือบ้านเรียนต้องได้มีส่วนร่วมในการออกแบบการเรียนรู้ เพราะบ้านเรียนเรียนรู้ได้ทุกที่ และถ้าเขตพิจารณาแล้วไม่สามารถจัดให้ได้ ก็ช่วยในเรื่องการประสานงานเบื้องต้น ไม่ขัดกระบวนการของบ้านเรียนแต่ละที่ก็พอ”

แม่ปอ

แม่ปอ จึงเสนอให้จัดตั้ง ศูนย์ประสานงานบ้านเรียน ในแต่ละพื้นที่ เพื่อช่วยเหลือ และสนับสนุนการจัดโฮมสคูล เพราะก็เข้าใจว่าลำพังเขตพื้นที่ฯ ไม่อาจดูแลความซับซ้อนแต่ละบ้านได้ไหว ถ้ามีตัวกลางคอยเชื่อมส่วนกลางกับบ้านเรียนได้ก็จะทำให้การดำเนินการราบรื่นขึ้น เขตพื้นที่ฯ​ ภาระน้อยลง ส่วนบ้านเรียนก็จะได้การส่งเสริมทั้งในเรื่องเครือข่าย ทรัพยากร โอกาสในการเรียนรู้ และพื้นที่ในการจัดการเรียนรู้ที่กระจายตัวมากขึ้น

บ้านเรียน ใต้เงาการศึกษาภาคบังคับ

ธรรณพร คชรัตน์ สบายใจ รองเลขาธิการสมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย (เครือข่ายบ้านเรียน) ย้ำว่า

“บ้านเรียน หรือ โฮมสคูล คือ สิทธิทางการศึกษาที่ทุกครอบครัวต้องได้รับตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญและ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ 2542
หากไม่มีโรงเรียนใดที่เหมาะสมกับลูกตนเอง
พ่อแม่ก็สามารถตั้งสถานศึกษาเองได้
โดยรัฐต้องช่วยสนับสนุนอย่างเต็มที่”

แต่ทุกวันนี้ต้องยอมรับว่า หลายครอบครัวยังต้องเจออุปสรรคที่ทางเขตพื้นที่การศึกษาได้ตั้งกำแพงไว้ เพราะเจ้าหน้าที่รัฐมองโฮมสคูลเหมือนกับการศึกษาในห้องเรียน จับยัดการประเมินแบบโรงเรียนให้กับพ่อแม่ ทำให้แนวคิดของโฮมสคูลถูกทำให้คลาดเคลื่อนไป

ธรรณพร คชรัตน์ สบายใจ

นอกจากนี้ ธรรณพร ยอมรับด้วยว่า เวลานี้หลายครอบครัวจดทะเบียนบ้านเรียนยากมากขึ้น เพราะต้องวางแผนการสอนเหมือนครูในโรงเรียน ทั้งยังกำหนดระยะเวลายื่นจดทะเบียนตรงกับช่วงเวลาเปิด-ปิดเทอมของการศึกษาภาคบังคับ ทำให้เด็กหลายคนที่ต้องการออกจากโรงเรียนมาเรียนที่บ้าน ไม่สามารถโอนย้ายรูปแบบการศึกษาได้ทัน เพราะฉุกละหุกเกินไป และถึงยื่นแบบได้ทัน ก็ถูกเจ้าหน้าที่ตีแผนกลับ จนทำให้มีเด็กหลายคนต้องตกหล่นจากระบบการศึกษา เพราะการออกแบบระบบการศึกษาที่เต็มไปด้วยรอยต่อ

“พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ควรให้สิทธิครอบครัว ให้จดแจ้งเพื่อทำบ้านเรียนได้เลย ไม่ต้องขออนุญาตจากเขต เพราะมันเป็นสิทธิพื้นฐานตามกติกาสากลระหว่างประเทศอยู่แล้ว”

ธรรณพร คชรัตน์ สบายใจ

หวัง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ แก้ไขปัญหาเดิม ๆ

ธรรณพร ย้ำว่า ธรรมชาติการเรียนรู้ของผู้คนมีความหลากหลาย ดังนั้นรัฐต้องสนับสนุนบ้านเรียนบนความเข้าใจ ไม่ใช่นำเอากรอบการพัฒนาเด็กเพียงแบบเดียวมาครอบไว้ และในอนาคตคนจะหันมาเข้าการศึกษาทางเลือกมากขึ้น เพราะความเชื่องช้าของการศึกษาในระบบที่ไม่ตอบโจทย์โลกที่หมุนเร็ว ดังนั้นใน พ.ร.บ.การศึกษาฉบับใหม่ ต้องเร่งวางโครงสร้างและระบบนิเวศทางการศึกษาให้ครบถ้วน เช่น ศูนย์การเรียนรู้ ศูนย์ประสานงานบ้านเรียน การเชื่อมต่อกับเอกชน ฯลฯ ไม่อย่างนั้นแล้วจะเกิดปัญหาตามมาอย่างมาก หากรัฐยังรวมศูนย์การศึกษาไว้ส่วนกลาง จะทำให้หน่วยการศึกษาเล็ก ๆ ไม่อาจได้รับการแก้ไขหรือส่งเสริมได้ทันท่วงที

ขณะเดียวกันเมื่อวันที่ 17 มิ.ย.ที่ผ่านมา กลุ่มเครือข่ายบ้านเรียนได้ยื่นข้อเสนอต่อ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อแก้ไขปัญหาและเสนอข้อหารือเพื่อแก้ไขคู่มือและแนวปฏิบัติในการจัดบ้านเรียน และขอให้มีการแก้ไขปัญหาที่เขตพื้นที่ฯ ปฏิเสธการยื่นจัดบ้านเรียนทั่วประเทศ โดย The Active ได้สรุปปัญหาและข้อเสนอแนะ ดังนี้

ปัญหา

  • ครอบครัวที่ประสงค์จะจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยครอบครัว (โฮมสคูล) ประสบปัญหาหลายประการ เช่น ติดต่อประสานงานกับเจ้าหน้าที่ยาก เจ้าหน้าที่ขาดความเข้าใจเรื่องโฮมสคูล อ้างระเบียบที่ขัดแย้งกับกฎหมาย ฯลฯ ส่งผลให้เด็กจำนวนมากหลุดออกจากระบบการศึกษา

  • ครอบครัวที่ยื่นขออนุญาตไว้แล้วก็ได้รับผลกระทบ ถูกเจ้าหน้าที่ตีกรอบและคุมแนวทางการจัดการศึกษา เกิดความท้อแท้และยกเลิกการจัดโฮมสคูล นอกจากนี้ โครงการ “ตามน้องกลับโรงเรียน” ของ สพฐ. ยิ่งทำให้การยื่นขออนุญาตโฮมสคูลยากขึ้น เพราะส่วนกลางอยากให้เด็กกลับเข้าเรียนในห้องเรียนแบบเดิม

ข้อเสนอแนะ

  • จัดตั้ง “คณะทำงานเฉพาะกิจสำหรับผู้ประสงค์จัดการศึกษาโดยครอบครัว” ทำงานร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่ สพฐ. และต้องมีตัวแทนเครือข่ายบ้านเรียน

  • มอบหมายให้คณะทำงานฯ แนะแนวเขียนแผน ตรวจแผน และอำนวยความสะดวกพ่อแม่ในการยื่นขออนุญาตเพื่อจดทะเบียนบ้านเรียน

  • ปรับแนวปฏิบัติให้การพิจารณาอนุญาตขึ้นตรงต่อสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เพื่อความสะดวกและยึดโยงกับบริบทพื้นที่

  • แก้ไขกฎกระทรวงเพื่อให้การจัดการศึกษาโดยครอบครัวเป็นการจดแจ้งได้เลย ไม่ต้องขออนุญาต

  • ไม่นำการประเมินสถานศึกษา มารวมกับการพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาโดยครอบครัว

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active