‘กมธ.ศึกษา’ ชี้ข้อสอบสังคมฯ รร.มัธยมวัดธาตุทอง พานักเรียนคิดนอกตำรา

‘ปารมี ไวจงเจริญ’ ให้กำลังใจครูสังคม ต้องกล้าพลิกแพลงการสอน ไม่ติดกรอบหลักสูตร ย้ำดรามาข้อสอบปากเปล่า สะท้อนเห็นต่างอย่างปลอดภัย เป็นจุดยืนวิชาสังคมฯ ขณะที่ สพฐ. สั่งตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริง

จากกรณี ครูบะหมี่ – ก้าวกรณ์ สุขเสงี่ยมกุล ครูโรงเรียนมัธยมวัดธาตุทอง โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ก เปิดเผยถึงข้อสอบวิชา สาระร่วมสมัย หมวดวิชาสังคมศึกษา โดยมีรูปแบบการสอบปากเปล่า ให้นักเรียนสุ่มเลือก Keyword ต่าง ๆ ที่มีถึง 50 Keyword พร้อมให้นักเรียนมีเวลาอธิบาย Keyword ที่ได้ 3 นาที จากนั้นจะมีคำถามจากครูผู้สอน 2 คำถาม และมีเวลาในการตอบคำถามอีก 2 นาที โดย Keyword จะเกี่ยวข้องกับข่าวสาร ข้อมูล เหตุการณ์ที่เป็นประเด็นในประเทศไทยและในสังคมโลก ที่เกิดขึ้นระหว่างปี 2565 – 2566 โดยนักเรียนมีโอกาส 2 รอบ ในการตอบคำถาม โดยตัวอย่างของ Keyword ที่โดดเด่นมีอยู่หลายข้อความด้วยกัน เช่น

  • สถาบันกษัตริย์กับสังคมไทย
  • ลี้ภัยทางการเมือง
  • นิติสงคราม
  • อิสราเอล VS ปาเลสไตน์
  • อำนาจนิยมในโรงเรียน
  • ขบวนเสด็จ
  • พุทธพาณิชย์
  • วิกฤติภูมิอากาศ
  • “ห้องเรียนต้องสนุกเป็นพื้นที่ถกเถียงทางวิชาการ ครู ต้องเป็นผู้สนับสนุนให้นักเรียน กล้าคิด พูด ทำ อภิปราย โต้แย้ง ด้วยเหตุผล หลักฐาน และข้อเท็จจริง ช่วยกันทำให้ ‘สังคมศึกษา’ ไม่เป็นวิชาที่น่าเบื่ออีกต่อไป”

    ครูบะหมี่-ก้าวกรณ์ สุขเสงี่ยมกุล

    กรณีนี้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง จนทำให้ภายหลัง โพสต์ดังกล่าวได้ถูกลบออกไปแล้ว ขณะเดียวกันเมื่อวันที่ 11 มี.ค. 67 ทรงชัย เนียมหอม ประธานกลุ่มประชาภักดิ์พิทักษ์สถาบัน (ปภส.) พร้อมทีมงานเดินทาง ไปยังโรงเรียนมัธยมวัดธาตุทอง โดยมีข้อสังเกตว่า Keyword หรือ ข้อคำถามในข้อสอบมีเนื้อหาหมิ่นเหม่ อาจกระทบต่อความมั่นคงชาติ

    ทรงชัย ยืนยันว่า ยังไม่แจ้งความดำเนินคดีกับใคร แต่หากพบว่าข้อสอบหมิ่นเหม่ จะดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป โดยส่วนตัว ไม่มั่นใจว่า ครูผู้สอนจะป้อนข้อมูลชุดใดให้กับเด็ก หากเด็กพูดในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง อะไรจะเกิดขึ้นกับสังคมไทยก็ไม่อาจทราบได้ ทั้งยังโยงไปถึงกลุ่มการเมือง ที่มีการเคลื่อนไหวในประเด็น ม.112 ด้วย

    “ทาง รองฯ (รองผู้อำนวยการ) แจ้งว่า ทางสำนักงานเขตให้ยกเลิกการสอบรูปแบบนี้ออกไปทั้งหมดแล้ว และยังมีการตั้งคณะกรรมการสืบสวนหาข้อเท็จจริง ทั้งนี้ทางโรงเรียนก็บอกว่าการออกข้อสอบในลักษณะนี้จะไม่เกิดขึ้นอีก จะไม่มีสิ่งใดกระทบต่อความมั่นคงอีก”

    ทรงชัย เนียมหอม

    ล่าสุดวันนี้ (12 มี.ค. 67) เมื่อเวลาประมาณ 18.30 น. มีรายงานข่าวจากเพจ สรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว ระบุว่า ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า กระทรวงศึกษาธิการรับทราบแล้ว และได้สั่งการให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) กทม.เขต 2 ตรวจสอบข้อเท็จจริง และรายงานให้ทราบภายใน 7 วัน ในระหว่างนี้ให้สั่งยกเลิกข้อสอบวิชาสาระร่วมสมัย ของชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เด็ดขาด ขณะเดียวกันก็ไปทำความเข้าใจกับครูที่ออกข้อสอบวิชานี้ด้วย

    ขณะเดียวกัน The Active ก็ได้รับแจ้งจากแหล่งข่าว ว่า ทางสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาฯ ได้ขอให้โรงเรียนแก้รูปแบบข้อสอบไม่ให้เป็นข้อสอบปากเปล่า และให้ตัด Keyword บางคำออก

    ปารมี ไวจงเจริญ สส.พรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการการศึกษา

    ปารมี ไวจงเจริญ สส.พรรคก้าวไกล ในฐานะที่ปรึกษาและกรรมาธิการการศึกษา ซึ่งเป็นอดีตครูสอนวิชาสังคมศึกษา เปิดเผยกับ The Active ว่า เสรีภาพทางวิชาการในห้องเรียนไทยนั้นกำลังประสบปัญหา เด็กต้องเรียนและ ‘จดจำ’ เนื้อหาในตำรา เพื่อนำไปสอบวัดผลในเชิงความจำ แต่ไม่สามารถวัดผลในการคิดวิเคราะห์ หรือเปรียบเทียบปรากฏการณ์ของสังคมเพื่อย้อนดูตัวเองได้เลย ถึงแม้เนื้อหาจะมีข้อจำกัด แต่ครูผู้สอนสามารถพาผู้เรียนคิด วิเคราะห์ และทำให้เนื้อหาวิชาสังคมศึกษา มีประโยชน์ต่อพวกเขาในมิติของการเป็นพลเมืองโลก ที่ต้องอาศัยอยู่ในสังคมที่มีความหลากหลายทางความคิด

    ขณะที่หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานนั้น ไม่ได้ถูกยกเครื่องมาตั้งแต่สมัยปี 2551 ซึ่ง ปารมี เห็นด้วยว่าจะต้องปรับหลักสูตรขนานใหญ่ ให้ยึดโยงกับการพัฒนาสมรรถนะของเยาวชน อย่างไรก็ดี ครูผู้สอนก็สามารถยึดหลักสูตรแกนกลางไว้เป็นเสาหลัก แต่ยังสามารถต่อยอดแนวคิด และพาเด็กออกจากกรอบของตำราเรียนได้ เพื่อให้องค์ความรู้มีความสดใหม่ เท่าทันโลก โดยตนขอให้กำลังใจครูผู้สอนทุกคน ที่พยายามจะพลิกแพลงเนื้อหาให้ทันโลกมากขึ้น

    ปารมี ยังย้ำด้วยว่า ห้องเรียนต้องเป็นพื้นที่การเรียนรู้ เปิดกว้าง ต้องอดทนการรับฟังความเห็นของคนเห็นต่าง กรณีของครูบะหมี่ รร.มัธยมวัดธาตุทอง ที่เป็นผู้ออกข้อสอบปากเปล่านั้น ไม่ได้มีการกำหนดว่านักเรียนต้องเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วยต่อประเด็นดังกล่าว สามารถเห็นต่างกันได้อย่างปลอดภัย ไม่มีการตัดสินด้วยอคติ แต่วัดผลผ่านเกณฑ์การให้เหตุผลเพื่อสนับสนุนต่อจุดยืน นี่คือหัวใจหลักของการสอนวิชาสังคมศึกษา เพื่อเรียนรู้ความแตกต่างหลากหลายในสังคมพหุวัฒนธรรม

    “ดิฉันย้ำว่าสถานศึกษาต้องไม่เป็นเผด็จการ ห้องเรียนต้องเปิดกว้างต่อความคิดเห็นที่หลากหลาย ไม่ใช่เพียงแต่ในรายวิชาสังคมศึกษา แต่เราต้องเปิดกว้างให้เยาวชนได้เป็นเจ้าของความคิดและกล้าที่จะแสดงออกจุดยืนของตัวเอง แต่นี่เขายังไม่ทันได้พูดอะไรเลยสักคำ คุณก็กลัว และไปปิดปากเขาแล้ว คุณได้ฟังเสียงของพวกเขาบ้างหรือยัง ?”

    ปารมี ไวจงเจริญ

    Author

    Alternative Text
    AUTHOR

    The Active

    กองบรรณาธิการ The Active