‘เครือข่ายบ้านเรียน’ เสนอทบทวนคู่มือ Home School ฉบับใหม่ ชี้ ขาดการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย พ่อแม่ถูกจี้ให้แก้แผนอิงตามหลักสูตรแกนกลาง ย้ำ ‘บ้านเรียน’ ต้องให้เด็กได้เรียนนอกกรอบ ไม่ใช่ทำบ้านเป็นห้องเรียน
เมื่อวันที่ (23 พ.ค. 67) เครือข่ายบ้านเรียน และ สมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย ยื่นจดหมายเปิดผนึกต่อ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ขอให้ทบทวนและแก้ไขคู่มือแนวทางการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยครอบครัว (Home School) ฉบับใหม่ ซึ่งประกาศใช้เมื่อ 16 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยมองว่า ขาดการมีส่วนร่วมจากผู้เกี่ยวข้อง และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ส่งผลกระทบให้เกิดความเสียหายต่อเด็ก เยาวชน และผู้จัดการศึกษา
เครือข่ายบ้านเรียน ระบุได้รับการร้องเรียนจากผู้จัด Home School กว่า 30 ราย ว่า ถูกละเมิดสิทธิและไม่ได้รับความเป็นธรรมจากเขตพื้นที่การศึกษา เพราะเขตปฏิบัติงานโดยนำกรอบ การจัดการศึกษาในโรงเรียน มาบังคับใช้กับ บ้านเรียน ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ โดยขาดความรู้ความเข้าใจ
แม่แอน-รัตน์ติการณ์ พุ่มพิกุล หนึ่งในเครือข่ายบ้านเรียนที่ได้รับผลกระทบ เปิดเผยกับ The Active ว่า หลังจากพาลูกเข้าเรียนในระบบภาคบังคับ ตนพบว่าลูกของตัวเอง ชอบวิ่งเล่น อยากรู้อยากเห็น ไม่เหมาะกับสภาพการเรียนรู้เชิงบังคับในห้องเรียน ที่ต้องนั่งอยู่กับที่และเรียนตามตำราเคร่งครัด จึงตัดสินใจพาลูกออกมาเพื่อจัดการศึกษาให้กับลูกตนเองโดยเฉพาะ
จึงเข้ายื่นแผนจัดการเรียนกับทางเขตพื้นที่การศึกษา แต่กลับได้รับคำชี้แจงว่า แผนดังกล่าวมีจุดต้องปรับแก้ โดยใช้แนวคิดของหลักสูตรการศึกษาภาคบังคับมายึดโยง ต้องมีเวลาเรียนเป็นระบบแบบแผน และสภาพแวดล้อมของบ้านเธอ ยังไม่พร้อมต่อการจัด Home School เช่น ยังไม่มีมุมอ่านหนังสือ, มุมออกกำลังกาย ฯลฯ เบื้องต้นเธอก็ยินดีนำไปปรับปรุงพื้นที่เพิ่มเติม เพราะอยากให้ได้รับรองว่าลูกได้รับการศึกษาแบบ Home School แต่ในภายหลังเธอได้ทราบจากเครือข่ายบ้านเรียนว่า ไม่มีใครที่จัดให้บ้านกลายเป็นห้องเรียน เพราะการเรียนรู้แบบ Home School นั้นเกิดได้ทุกพื้นที่
ยิ่งไปกว่านั้น แม่แอน ยังพบว่า เขตพื้นที่การศึกษาเลือกใช้แนวทางการจัดการเรียนรู้ และการวัดผลตามการศึกษาภาคบังคับที่มีการกำหนดชั่วโมง วิชา และเวลาเรียนเป็นเงื่อนไขในการจัด Home School ทำให้พ่อแม่หลายคนประสบปัญหาในการออกแบบการเรียนให้ลูก เด็กหลายคนที่จะเทียบโอนวุฒิ เด็กหลายคนที่จะเทียบโอนวุฒิ ก็ถูกจับให้ไปสอบข้อสอบตามตัววัดตัวชี้วัด 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ ซึ่งเราเรียนจากประสบการณ์ตรงเกิดตัวชี้วัดแสดงคุภาพการเรียนรู้แบบองค์รวม ซึ่งเด็ก Home School ไม่ได้ถูกบ่มทักษะมาเพื่อตอบคำถามในกระดาษคำตอบ และยังมีความฉลาดในมิติอื่น ๆ อีกมากที่ถูกมองข้ามไป
“เราพบว่าไม่มีพ่อแม่คนไหนทำบ้านให้เป็นห้องเรียน เพราะ Home School คือการส่งเสริมให้เด็กเรียนรู้ได้ทุกที่ เราจึงไม่เห็นด้วยกับการทำแผนการเรียนให้ลูกแบบการศึกษาภาคบังคับ แต่เมื่อเราปฏิเสธที่จะแก้ไขแผน ลูกเราก็อาจจะไม่ได้ถูกนับอยู่ในระบบการศึกษา Home School”
แม่แอน – รัตน์ติการณ์ พุ่มพิกุล
อีกปัญหาหนึ่งคือการออกคู่มือ Home School ฉบับใหม่ที่ขาดการมีส่วนร่วม แม่แอน บอกว่า ปัญหาสำคัญคือประเด็นเรื่องปฏิทินเข้ารับการศึกษาที่ถูกเลื่อนมาเป็นเดือนพฤศจิกายน ซึ่งเด็กยังไม่ปิดเทอมจากโรงเรียน พ่อแม่จึงไม่อาจตัดสินใจในการจัด Home School ได้ ขณะที่พ่อแม่ผู้ไม่เคยจัด Home School มาก่อนและต้องการยื่นจัด ถ้ายื่นแผนการจัด Home School ในช่วงเทอมแรกไม่ผ่าน ก็ต้องรอยื่นใหม่เป็นปี ๆ ส่งผลให้เด็กมีภาวะเหมือนอยู่นอกระบบการศึกษา
เครือข่ายบ้านเรียน สมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย จึงรวบรวมข้อคัดค้านและเรียกร้องให้ สพฐ. ทบทวนและยกเลิกคำสั่งและคู่มือแนวทางการจัด Home School ฉบับใหม่ โดยมีข้อเรียกร้องต่อทาง สพฐ. ดังนี้
- ทบทวนคำสั่งดังกล่าว และแก้ไขคำสั่งที่ส่งผลหรืออาจส่งผลกระทบต่อการจัด Home School
- มีคำสั่งถึงสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ ให้จัด Home School บนหลักการมีส่วนร่วม และเน้นย้ำการพัฒนาการศึกษาภาคสังคม โดยยึดหลักวิชาการและประโยชน์สูงสุดที่จะเกิดขึ้นกับผู้เรียน และอำนวยความสะดวก ลดความซับซ้อนเพื่อให้การจัด Home School เป็นไปอย่างราบรื่น
- มีมาตรการแก้ไขผลกระทบทั้งระยะเร่งด่วนและระยะต่อไป มีกลไกที่เป็นธรรมต่อผู้มีส่วนได้เสียและเกี่ยวข้องเพื่อการพัฒนาแนวทางการจัด Home School
ทางด้าน สพฐ. ได้รับฟังปัญหาและเปิดพื้นที่ให้ทั้งทางฝ่ายบ้านเรียนและเขตพื้นที่การศึกษาเข้าชี้แจง และรับปากว่าจะทบทวนแนวทางการจัดการศึกษาใหม่ ซึ่งแม่แอน มองว่า สถานการณ์การพูดคุยน่าจะไปในทิศทางบวกต่อเด็ก ทุกฝ่ายพยายามหาแนวทางให้เยาวชนได้รับการศึกษาอย่างมีคุณภาพ
ทั้งนี้ สพฐ. จะนำประเด็นร้องเรียนไปพิจารณาต่อ ขณะเดียวกันกำลังจัดตั้งคณะทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกัน โดยให้ยึดแนวทางคู่มือการจัด Home School ฉบับเดิมไปก่อน เพื่อให้เด็กได้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา ป้องกันปัญหาค้างท่อ