‘ผู้จัดการ กสศ.’ เผย แม้เด็กยังไม่พร้อมกลับเข้าระบบ แต่ก็ต้องอยู่ในเรดาร์ ขอรัฐตั้งธงให้ชัด เปิดโอกาสโรงเรียนยืดหยุ่นจัดการศึกษา เชื่อ มติ ครม. กุญแจดอกแรก มอบผู้ว่าฯ นั่งหัวโต๊ะติดตาม แก้ปัญหาเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา
วันนี้ (20 พ.ค. 67) ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เปิดเผยถึงเป้าหมายการขับเคลื่อนประเทศไทยเพื่อแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้กลายเป็นศูนย์ หรือ ‘Thailand Zero Dropout’ โดยข้อมูลล่าสุดจากทาง กสศ. ปรากฎว่า ประเทศไทยมีเด็ก ‘เสี่ยงหลุด’ ออกจากระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ป.1 – ม.3) ราว 2.8 ล้านคน และมีเด็กอีกราว 1.02 ล้านคนที่อยู่ ‘นอกระบบการศึกษา’ นี่จึงเป็นวาระเร่งด่วนที่ทางภาครัฐ และนายกรัฐมนตรีเองก็ได้ให้ความสำคัญ
จากข้อมูลของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจ ผลกระทบผู้ปกครองช่วงเปิดเทอม ปีการศึกษา 2567 ปรากฎว่า ค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาอย่างค่าบำรุงโรงเรียน ค่าอุปกรณ์การเรียน หนังสือ ชุดนักเรียน ตลอดจนค่าแป๊ะเจี๊ยะกรณีย้ายโรงเรียน แพงขึ้นทุกรายการ เช่น ค่าเครื่องแบบนักเรียน แพงกว่าปีที่แล้วถึง 26.2% เป็นต้น
เมื่อรวมค่าใช้จ่ายทั้งหมดแล้ว ผู้ปกครองมีค่าใช้จ่ายปีที่แล้วอยู่ที่ 19,507 บาท เพิ่มขึ้นเป็น 25,322 บาท (เพิ่มขึ้น 29.81%) ด้วยระดับค่าใช้จ่ายที่ปรับตัวสูงขึ้น ย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อเด็กในครอบครัวที่ยากจน อาจตกหล่นจากระบบการศึกษาที่ไม่ยืนหยุ่นเหล่านี้
ผู้จัดการ กสศ. ระบุอีกว่า จากผลการติดตามแนวโน้มการเรียนต่อของนักเรียนทุนเสมอภาค ช่วงชั้นรอยต่อปีการศึกษา 2/2566 – 1/2567 ที่อยู่ในการดูแลของ กสศ. 326,139 คน ปรากฎว่า มีเด็กทุนอย่างน้อย 241,332 คน (~72.2%) ที่มีแนวโน้มศึกษาต่อ และมีเพียงอย่างน้อย 5,838 คน (~1.7%) ที่มีแนวโน้มไม่ศึกษาต่อ โดยเงื่อนไข 3 อันดับแรกที่ทำให้เด็กไม่เลือกเรียนต่อเป็นเพราะ
- เป็นความต้องการส่วนตัวหรือครอบครัว (1,546 คน)
- ด้านการเรียน 1,140 คน
- ด้านการทำงาน 1,063 คน นอกจากนี้ยังมีเหตุผลด้านทุนทรัพย์ สุขภาพ ศาสนา และที่อยู่อาศัย
อย่างไรก็ตาม แม้ตัวเลขเด็กนอกระบบที่สูงถึง 1.02 ล้านคน ผู้จัดการ กสศ. ยังอธิบายว่า เมื่อเจาะลึกไปที่จำนวนของเด็กกลุ่มนี้ในแต่ละจังหวัด เทียบกับจำนวนประชากรวัยเรียนในพื้นที่ พบว่า แทบทุกจังหวัดมีอัตราส่วนเด็กนอกระบบไม่ถึงร้อยละ 10 และมีเพียงพื้นที่เดียวที่เกินคือ ‘กรุงเทพมหานคร‘ ที่มีเด็กนอกระบบสูงถึง 13.43% (137,704 คน)
“ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ กทม. ต้องรองรับความต้องการด้านการศึกษาของจังหวัดข้างเคียงด้วย ทำให้เสมือนว่า กทม. มีหลายจังหวัดทับซ้อนอยู่ แต่ถึงอย่างนั้น การศึกษาของ กทม. ก็ยังเข้มแข็ง ตอบสนองต่อปัญหาไว และเป็นอิสระเพราะอานิสงส์ของการกระจายอำนาจที่มากพอ”
ไกรยส ภัทราวาท
แนะแก้ปัญหาระดับจังหวัด-นโยบายตั้งธงให้ชัด
ขณะที่ ข้อมูลของ กสศ. ยังเผยว่า มีถึง 47 จังหวัดที่มีอัตราส่วนเด็กนอกระบบ มีไม่ถึง 1% ซึ่งประเด็นนี้ ผู้จัดการ กสศ. จึงชวนมองไปถึงทางออกว่า ขนาดของปัญหานี้สามารถแก้ไข จัดการได้ในระดับจังหวัด และดำเนินการได้ในระดับชุมชน ผ่านการติดตาม ไปเคาะประตูบ้านของนักเรียนที่หลุดจากระบบเพื่อพาพวกเขากลับมาเรียนอีกครั้ง ขณะเดียวกันโครงการดังกล่าวต้องอาศัยการตั้งธงที่แน่ชัดจากฝ่ายนโยบาย
โดยกุญแจดอกแรก คือ มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งคาดว่าในเร็ว ๆ นี้ จะพิจารณามาตรการ และมอบหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธานคณะกรรมการติดตามเยาวชนนอกระบบการศึกษา ผลที่เกิดขึ้นคือ ในทุกต้นเทอม ทุกโรงเรียน ทุกจังหวัด จะมีระบบการติดตามผู้เรียน และฟื้นฟูเด็กเตรียมความพร้อมการเข้าเรียนใหม่อย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง
ส่วนการแก้ไขปัญหาเด็กเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษา 2.8 ล้านคน และเด็กนอกระบบอีก 1 ล้านคน ไม่จำเป็นต้องรอการผลักดันด้วยกฎหมายใหญ่ หรือการถกเถียงกันในสภาฯ เพราะด้วยอำนาจ ครม. กระทรวง กรม กองต่าง ๆ สามารถออกเป็นคำสั่งเพื่อกำชับถึงความเร่งด่วนของปัญหา กล่าวคือ หลายโรงเรียนก็มีศักยภาพร้อมที่จะแก้ไข เพียงแต่ขาดการยืนยันจากกระทรวง เช่น ประกาศการผ่อนปรนเครื่องแบบที่ กระทรวงศึกษาธิการ เพิ่งประกาศไปหวังลดค่าใช้จ่าย ตลอดจนแนวคิด ‘1 โรงเรียน 3 รูปแบบ’ ที่เอื้อให้โรงเรียนออกแบบการศึกษาที่ยืดหยุ่น ให้นักเรียนสามารถจบการศึกษาแม้ไม่สามารถโรงเรียนได้
ไกรยส ย้ำว่า การจะแก้ไขปัญหาเด็กเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษา และเด็กนอกระบบนั้น ต้องเริ่มต้นที่การให้อำนาจ ให้อิสระกับโรงเรียนในการจัดการศึกษาได้ตามโจทย์ปัญหาของชุมชนและตัวผู้เรียน เพราะโลกยุคใหม่นั้นหมุนเปลี่ยนเร็ว นักเรียนมีเงื่อนไขชีวิตที่ลำบากมากขึ้น ต้องย้ายถิ่นฐานบ่อย ครอบครัวขาดแคลน หรือมีภาวะไม่พร้อมอยู่ร่วมในชั้นเรียน ดังนั้นโรงเรียนต้องยืดหยุ่นมากพอที่จะโอบอุ้มเยาวชนทุกรูปแบบ
“หาก พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติฯ และนโยบาย หรือคำสั่งอื่นของภาครัฐในอนาคต เอื้อต่อการให้เอกชน และชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบการศึกษา จะเป็นสัญญาณเริ่มต้นที่ดีของการศึกษาไทยที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”
ไกรยส ภัทราวาท
ตั้งเป้าลดจำนวนเด็กนอกระบบภายในรัฐบาลนี้
ผู้จัดการ กสศ. ยังย้ำว่า โครงการ ‘Zero Dropout’ ไม่ได้หมายถึงเด็กทุกคนจะกลับเข้าระบบการศึกษา แต่หมายถึงว่า เด็กทุกคนที่แม้จะยังไม่พร้อมกลับเข้าระบบ พวกเขาก็ยังอยู่ในเรดาร์ เขาอาจจะอยู่ในขั้นตอนรอฟื้นฟูเพื่อเริ่มเข้าเรียนใหม่ โดยเป้าหมายการลดจำนวนเด็กนอกระบบให้เหลือน้อยลงสัก 2-3 แสนคน เป็นวิสัยที่สามารถทำได้ทันภายในสมัยรัฐบาลชุดนี้ แต่ต้องทำทันที เพราะในอนาคตเด็กจะเกิดน้อยลง และแรงงานจะถดถอยตามไป
“การช่วยเหลือเด็กนอกระบบถือเป็นหลักกิโลเมตรสุดท้ายของการศึกษาไทย งานที่ยากที่สุด อาจต้องอาศัยการทำงานที่ยืดหยุ่น ผ่านการให้อิสระโรงเรียนในการจัดการศึกษาให้กับเด็กกลุ่มนี้ ที่เป็นแรงสำคัญในการพาประเทศออกจากกับดักรายได้ปานกลาง ก่อนที่จะไม่เหลือใครมาช่วยพาประเทศนี้ออกไปได้”
ไกรยส ภัทราวาท