ไม่จบ! TCAS67 โจทย์มีปัญหา ทำผู้พิการทางสายตาเสียคะแนน

ร้อง กมธ.การศึกษา ข้อสอบ TCAS67 ออกโจทย์ที่คนพิการทางสายตาไม่มีทางทำได้ อักษรเบรลล์วิชาภาษาต่างประเทศกำกวม จนต้องเสียเวลา เสียคะแนน ด้าน ผู้จัดการระบบ รับปากเร่งแก้ไขปัญหา

ปารมี ไวจงเจริญ กรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า ตนได้รับข้อร้องเรียนจากนักเรียนผู้พิการทางสายตา ระบุถึงข้อสอบ TCAS67 โจทย์ที่เกี่ยวข้องกับมิติสัมพันธ์ไม่สามารถทำได้ อักษรเบรลล์แปลจากภาษาต่างประเทศมีปัญหามาก เป็นอุปสรรคต่อการวิเคราะห์โจทย์คำถาม ส่งผลต่อคะแนนผู้เข้าสอบโดยตรง

โดยผู้เข้าสอบคนดังกล่าว อ้างว่า ปัญหาของข้อสอบสำหรับผู้พิการทางสายตา มีอย่างน้อย 2 วิชา ที่ตนเองประสบโดยตรง คือ 1. วิชา TGAT พาร์ท 2 การคิดอย่างมีเหตุผล (ในส่วนของมิติสัมพันธ์และความสามารถทางเหตุผล) และ 2. A-Level วิชาภาษาญี่ปุ่น โดยมีรายละเอียด ดังนี้

ภาพจาก : campus-star.com
  1. วิชา TGAT พาร์ท 2 การคิดอย่างมีเหตุผล ในส่วนของมิติสัมพันธ์ และความสามารถทางเหตุผล เป็นส่วนที่ผู้พิการทางสายตาไม่สามารถทำได้ เนื่องจากโจทย์กำหนดให้วิเคราะห์ข้อมูลที่เกี่ยวกับภาพ การมองเห็น และมิติ ทำให้คะแนนในส่วนนี้ขาดไป และเป็นตัวฉุดคะแนนผู้พิการทางสายตาให้ต่ำลง

  2. วิชา A-Level กลุ่มสาระภาษาต่างประเทศ ภาษาญี่ปุ่น โดยทั่วไป ในข้อสอบวัดระดับภาษาญี่ปุ่น JLPT ซึ่งเป็นข้อสอบมาตรฐาน จะมีฉบับอักษรเบรลล์ แต่ในข้อสอบ A-Level ผู้เข้าสอบตั้งข้อสังเกตว่า หลังจากจัดทำเป็นข้อสอบอักษรเบรลล์แล้ว มีการตรวจทานข้อสอบก่อนหรือไม่ เพราะข้อสอบนั้นมีข้อผิดพลาดหลายจุด แต่เข้าใจว่า การแปลภาษาต่างประเทศเป็นอักษรเบรลล์นั้นมีความซับซ้อนและอาจเกิดความคลาดเคลื่อนได้ อย่างตัว ‘คันจิ’ ในภาษาญี่ปุ่น 1 ตัว สามารถมีคำอ่านได้หลากหลาย ขึ้นอยู่กับว่าประสมคำกับตัวอักษรใด ปกติแล้วคนจะแยกแยะได้ด้วยการอ่านด้วยตา เมื่อถูกพิมพ์เป็นอักษรเบรลล์แล้ว คำพ้องเสียงบางคำอาจมีความหมายผิดเพี้ยนไปได้

ผู้เข้าสอบจึงเสนอว่า อยากให้ข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัยเอื้อให้ผู้พิการทุกประเภทมากกว่านี้ และออกแบบให้คนทุกคนเข้าถึงได้ เพราะหลายมหาวิทยาลัยก็ยังไม่พร้อมเปิดรับผู้พิการ ทำให้ผู้พิการต้องพิสูจน์ตัวเองมากกว่าคนอื่น ถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้มีชุดข้อสอบที่จัดทำขึ้นมาเฉพาะผู้พิการทางสายตา ตรวจทานข้อสอบในละเอียดมมากขึ้น หรือจัดตั้งหน่วยงานในการทำหน้าที่ดูแลสนับสนุนเกี่ยวกับการศึกษาสำหรับผู้พิการโดยเฉพาะ

ล่าสุด ปารมี เปิดเผยว่า ได้เข้าพูดคุยกับ ศ.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ ผู้จัดการระบบการคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา (TCAS) ได้คำชี้แจงว่า ด้วยข้อสอบปีนี้มีข้อผิดพลาดดังที่ปรากฎจริง จึงจะเร่งแก้ไขให้ วิชา TGAT ออกแบบการวัดผลให้ผู้พิการทางสายตาสามารถทำได้ด้วย ขณะที่วิชาภาษาต่างประเทศนั้น จะให้ทางอาจารย์ผู้รับผิดชอบข้อสอบตรวจสอบความถูกต้องเพิ่มเติม

ปารมี ไวจงเจริญ กรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร

ปารมี บอกด้วยว่า ผู้พิการจะเรียนหนังสือต้องมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าคนอื่น เพราะหนังสือเรียน แหล่งเรียนรู้สำหรับผู้พิการก็มีทางเลือกน้อย หรือสภาพแวดล้อมในโรงเรียน ทางเดิน ห้องน้ำ ยังไม่เป็นอารยสถาปัตย์ (Universal Design) หรือหากต้องไปเรียนโรงเรียนเฉพาะของผู้พิการ ก็มีแค่ในจังหวัดใหญ่เท่านั้น เข้าถึงได้ยาก

นอกจากนี้ระบบการศึกษาไทยทอดทิ้งคนชายขอบหลายกลุ่ม เช่น เด็กฐานะยากจน หรือเด็กไร้สัญชาติ โดยตนรับปากว่าจะนำหลักการการศึกษาเพื่อปวงชน (Education For All) ไปผลักดันในชั้นกรรมาธิการ ให้ไม่ว่าใครก็ตามบนแผ่นดินไทยต้องได้รับโอกาสทางการศึกษา

“เพราะโอกาสสำคัญมากสำหรับเขา (นักเรียนผู้พิการ) เขาบอกกับดิฉันอย่างนั้น เป็นคำที่สะเทือน และสะท้อนใจว่า การศึกษาไทยตัดโอกาสใครไปหลายคนจริง ๆ โดยเฉพาะรอยต่อระหว่างช่วงชั้นที่มีเด็กต้องหลุดจากระบบการศึกษาอยู่ตลอด ซึ่งนี่ไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง พวกเขาต้องได้มีโอกาสเรียนหนังสือ และได้มีชีวิตที่มีคุณภาพมากขึ้น”

ปารมี ไวจงเจริญ

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active