คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ เปิดตัวบอร์ดเกม ‘Planet Partner’ หวังช่วยคนรุ่นใหม่ รู้จุดยืนไทยในเวทีโลก ย้ำการสื่อสารด้วย Empathy คือกุญแจสำคัญ
เมื่อวันที่ 26 ก.ย. 67 คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดตัวบอร์ดเกม “Planet Partner: ผูก ‘มิจ’ พิชิตโลกใหม่” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยในรายวิชาประเด็นสังคมและประชามติ หวังสร้างความเข้าใจในประเด็นสังคมที่ซับซ้อน ผ่านการสื่อสารที่สนุกสนาน ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่
บอร์ดเกมนี้ถูกออกแบบมาให้ผู้เล่นได้สวมบทบาทเป็นแต่ละประเทศบนเวทีโลกเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศตนเอง ผลักดันนโยบายสาธารณะ ภายใต้ทรัพยากรโลกที่มีอยู่อย่างจำกัด ผู้เล่นต้องเลือกว่าจะมุ่งเอาประโยชน์ของชาติเป็นที่ตั้ง หรือปกป้องความยั่งยืนของสังคมโลก ซึ่งช่วยให้เห็นภาพบทบาทและสถานะของประเทศไทยในเวทีโลกได้อย่างดี
วรรษยุต คงจันทร์ รองคณบดีคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า การนำวาระทางสังคมมาพูดคุยบนโต๊ะบอร์ดเกม ในกรอบกติกา จะช่วยให้ผู้เล่นได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นต่าง ๆ ที่ซับซ้อน โดยเฉพาะในประเด็นทางสังคมที่มักกระทบต่อความเชื่อและทัศนคติส่วนบุคคล แม้ระหว่างเล่นบอร์ดเกมจะมีการแย่งชิงทรัพยากร หรือขัดแย้งกันปกติตามกติกาของเกม แต่ก็จะช่วยสะท้อนถึงสถานการณ์บนโลกของความจริง และทำให้ผู้เล่นเข้าใจถึงประเด็นทางสังคมมากขึ้น
“เราอยากให้คนรุ่นใหม่และทุกคนในสังคม ได้พูดคุยถึงประเด็นสังคมที่มีความอ่อนไหวกันได้อย่างปลอดภัย เพราะจริง ๆ แล้วความอ่อนไหวไม่ใช่ปัญหา คิดต่างกันได้ แต่โจทย์คือ จะทำอย่างไรให้ทุกคนสามารถพูดคุย หรือเจรจาเพื่อผลประโยชน์อย่างเคารพกัน”
วรรษยุต คงจันทร์
กติกาของบอร์ดเกมนี้ย้ำว่า เราทุกคนต่างอาศัยอยู่บนโลกใบเดียวกัน ใช้ทรัพยากรจากโลก และแต่ละประเทศก็มีเป้าหมายที่แตกต่างกัน ผู้เล่นที่สวมบทบาทเป็นแต่ละประเทศ จะได้รับความสามารถที่แตกต่างกันสอดคล้องไปกับโลกจริง เช่น ‘สหรัฐอเมริกา’ จะสามารถผูกขาดการเป็นหัวหน้าโครงการหากเสนอราคาเท่ากับประเทศสมาชิกที่เหลือ ‘จีน’ จะได้รับเงินทุนเพิ่มเติมเมื่อใช้การ์ดที่เกี่ยวกับทรัพยากรมนุษย์ เป็นต้น
วรรษยุต เสริมว่า บอร์ดเกมนี้จะช่วยให้คนรุ่นใหม่เข้าใจถึง ‘พลังทางสังคม’ และ ‘ประชามติ’ ต่อการกำหนดนโยบายสาธารณะ การที่นโยบายสักเรื่องหนึ่งสามารถเกิดขึ้นมาได้ในสังคม ย่อมมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (stakeholders) มีทั้งคนที่หวังดีและคนที่มุ่งร้ายหวังกอบโกยทรัพยากรไปจนหมด ซึ่งนอกจากผู้เล่นต้องพยายามเจรจา หาจุดรอมชอมกันแล้ว ผู้เล่นยังได้เรียนรู้ถึงความสมดุลในการพัฒนาโลก ควบคู่กับความยั่งยืนทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยีอีกด้วย
“บอร์ดเกมยังช่วยเสริมทักษะการสื่อสารและการทำงานร่วมกัน ซึ่งเป็นทักษะสำคัญในการแก้ปัญหาสังคมในอนาคต อีกทั้งยังส่งเสริมให้เกิดความเข้าใจและเห็นอกเห็นใจต่อมุมมองที่แตกต่าง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความปรองดองในสังคม
วรรษยุต คงจันทร์
วรรษยุต ทิ้งท้ายว่า แท้จริงแล้วคนรุ่นใหม่ค่อนข้างคุ้นชินต่อการสื่อสารบนประเด็นที่มีความอ่อนไหว แม้แต่เด็กอายุยังน้อยก็เริ่มเข้าใจประเด็นยาก ๆ ได้เร็ว เพราะสื่อออนไลน์ทำให้พวกเขาเข้าถึงวาระทางสังคมได้อย่างรวดเร็ว แต่นั่นก็เป็นดาบสองคม ที่อาจทำให้คนรุ่นใหม่และทุกคนในสังคมไม่สามารถทำความเข้าใจประเด็นกันได้อย่างลึกซึ้งมากพอ ต่างฝ่ายต่างไม่เห็นหน้ากัน สนทนากันด้วยความรุนแรง ดังนั้น บอร์ดเกมนี้จะเป็นอีกหนึ่งสื่อทางเลือกเพื่อชะลอการสื่อสาร ให้คนหันหน้าเข้าหากัน และสนทนาในเรื่องที่อ่อนไหวอย่างเข้าใจบนโต๊ะบอร์ดเกมได้