การเมืองฉุดการศึกษา! เมื่อ ‘เสมา 1’ อายุงานสั้นเกินกว่าจะแก้ไขปัญหาได้

‘นักการศึกษา’ ชี้ ในรอบ 25 ปี กระทรวงศึกษาฯ เปลี่ยนรัฐมนตรีไปแล้ว 22 ครั้ง ห่วงนโยบายขาดความต่อเนื่อง เด็กไทยเติบโตอย่างตามมีตามเกิด กลายเป็นระเบิดเวลาในอนาคต ฝากการบ้าน รมว.ศธ. คนใหม่ แก้ “โรงเรียนเล็กล้มตาย-เด็กหายจากการศึกษา-หลักสูตรช้าไม่ทันโลก”

การพ้นจากตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี ของ เศรษฐา ทวีสิน ส่งผลให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ และแน่นอนว่า กระทรวงศึกษาธิการ ภายใต้การนำของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการฯ และ สุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการฯ ก็กลายเป็นคำถามว่าแล้วที่ผ่านมาได้แก้ปัญหาด้านการศึกษาในช่วงเวลาแค่ปีเดียวได้ขนาดไหน

ที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการได้เริ่มเดินหน้านโยบายหลายเรื่อง เช่น Zero Dropout, พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ, แก้หนี้ครู, ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Anywhere – Anytime) แต่นโยบายส่วนใหญ่ยังอยู่ในขั้นเริ่มต้นเท่านั้น

ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชวน The Active ตรวจการบ้าน 1 ปี กระทรวงศึกษาธิการในรัฐบาลเศรษฐา เพื่อมองหาทางไปต่อของนโยบายเหล่านี้ภายใต้การนำของนายกฯ และ ครม.ชุดใหม่ ยังมีประเด็นด้านการศึกษาเรื่องไหน ที่รอ ‘เสมา 1’ คนใหม่มาทำต่อ

“ปัญหาของการศึกษาบ้านเราคือ อายุขัยของ รมว.ศธ. สั้นเกินกว่าจะแก้ไขปัญหาโครงสร้างของการศึกษา ไม่มี รัฐมนตรีคนไหนคิดทำแก้ไขในระดับโครงสร้าง ทั้งที่ปัญหาการศึกษาคือเรื่องที่ต้องสู้กันในระยะยาว”

ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล

ในรอบ 25 ปี เก้าอี้ ‘เสมา 1’ เปลี่ยนไปแล้ว 22 ครั้ง

ผศ.อรรถพล เปิดเผยว่า ตั้งแต่มี พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ ปี 2542 ประเทศไทยผลัดเปลี่ยนเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ไปแล้ว 22 ครั้ง เฉลี่ยนั่งอยู่ในตำแหน่งคนละ 404 วัน (~1 ปี 1 เดือน 9 วัน) และรัฐมนตรีคนล่าสุดอย่าง พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ ก็เข้าดำรงตำแหน่งในจังหวะคร่อมกับปีงบประมาณ ทำให้ไม่สามารถผลักดันนโยบายได้อย่างเต็มกำลัง เพราะติดชะงักแผนยุทธศาสตร์เดิมที่กระทรวงและรัฐบาลก่อนหน้าวางเอาไว้ เมื่อจะมีโอกาสได้เริ่มงานกระทรวงอย่างจริงจัง กลับต้องถูกตัดโอกาสด้วยอุบัติเหตุทางการเมือง จึงเห็นว่า นี่เป็นเรื่องน่าเสียดาย เพราะสังคมไม่อาจเห็นการพิสูจน์ฝีมือจาก รมว.ศธ. และสังคม ยังพลาดโอกาสแก้ไขปัญหาสำคัญมาทุกสมัยรัฐบาล

ผศ.อรรถพล ย้ำว่า ปัญหาด้านการศึกษาเรื้อรังมานาน จึงต้องให้ความเป็นธรรมกับรัฐบาล ว่า เขาอาจไม่ได้เป็นต้นเรื่องของบางปัญหาที่เกิดขึ้น เช่น ปัญหาผลคะแนน PISA เด็กไทยตกต่ำ ก็ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะรัฐบาลชุดนี้เสียทีเดียว แต่เป็นผลพวงมาจากการที่ชุดก่อน ๆ ไม่ได้เตรียมความพร้อมเยาวชนไว้ดีพอ เพราะการเติบโตของเด็ก 1 คน อาศัยนโยบายของรัฐบาลหลายชุดประกอบรวมกัน หากนโยบายการศึกษาขาดเป้าหมายและความต่อเนื่อง เด็กไทยก็จะเติบโตอย่างตามมีตามเกิด และกลายเป็นระเบิดเวลาในอนาคต ดังนั้น นี่จึงเป็นงานยากและงานใหญ่ของ รมว.ศธ. คนใหม่ที่จะเข้ามารับช่วงต่อ

ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ผศ.อรรถพล ยังประเมินด้วยว่า ผลงานนโยบายด้านการศึกษาในรัฐบาลเศรษฐา ก็ยังไม่เป็นที่โดดเด่นนัก ส่วนใหญ่มักพูดถึงเรื่องการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เน้นแก้ไขปัญหาเชิงกายภาพ หรือเน้น Quick Win เช่น สุขาดีมีความสุข แก้ไขปัญหาห้องน้ำไม่สะอาด, นโยบายเปลี่ยนโฉมวิชาลูกเสือ, แก้หนี้ครู, นโยบายผลักดันวัฒนธรรมไหว้ครู เป็นต้น ซึ่งไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างในระยะยาว

นอกจากนี้ภายใต้การนำของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ยังมีข้อถกเถียงอย่างกว้างขวางถึงการพยายามเพิ่มเนื้อหาความรักชาติลงในบทเรียน การกำหนดให้ข้าราชครูต้องรักและเทิดทูนความเป็นไทย การนำครูเข้ารับการอบรมกับทหารในหลักสูตรประวัติศาสตร์ฉบับชาตินิยม ซึ่งนี่ไม่ใช่วิสัยที่กระทรวงต้องมุ่งเน้น เพราะยังมีปัญหาเชิงโครงสร้างอีกมากที่ต้องอาศัยแรงคน ทุนทรัพย์​ และเวลาเพื่อแก้ไข เช่น ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา, ปัญหาหลักสูตรวิชาเรียนไม่ทันโลก, ปัญหาภาระงานครู เป็นต้น

“ทุกวันนี้เด็กไทยยังเรียนเนื้อหาตามหลักสูตรแกนกลางฯ ปี 2551 เท่ากับว่าเด็กไทยใช้ความรู้เดิมมา 17 ปีแล้ว ซึ่งมันอาจไม่ทันการเปลี่ยนแปลงของโลกอีกต่อไป นี่คือโจทย์ที่รัฐมนตรีคนใหม่ต้องรับมือ”

ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล

การบ้านถึง รมว.ศธ. คนใหม่: โรงเรียนเล็กล้มตาย-เด็กหายจากการศึกษา-หลักสูตรช้าไม่ทันโลก

ผศ.อรรถพล ยอมรับว่า หลังจากนี้ปัญหาเด็กเกิดน้อยทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกปี ส่งผลให้หลายโรงเรียนขนาดเล็กขาดผู้เรียน นำไปสู่การยุบรวมโรงเรียนในถิ่นทุรกันดาร แต่ยอดจำนวนเยาวชนนอกระบบการศึกษายังคงแตะหลักล้าน ขณะที่บัณฑิตครูจบใหม่เริ่มล้นตลาด ส่วนกฎหมายการศึกษาที่สำคัญอย่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ไม่ได้รับการปรับปรุงมาเป็นเวลา 25 ปี และผลประเมิน PISA ตกต่ำเป็นประวัติการณ์ นี่คือความท้าทายฉบับรวบรัดที่ฝากถึง รมว.ศธ. คนใหม่

พร้อมทั้งย้ำว่า ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก และเทรนด์เด็กเกิดน้อยเป็นเรื่องที่ทุกคนรู้ตัวกันมานานแล้ว แต่กลับยังปล่อยให้ปัญหานี้บานปลายมากขึ้น ส่วนหนึ่งคือการปล่อยให้โรงเรียนขนาดใหญ่ที่มีต้นทุน มีงบฯ มากกว่า เป็นแม่เหล็กดึงดูดเด็กจากโรงเรียนขนาดกลาง-เล็กเข้ามาเติมทุกปี

ส่วนข้อถกเถียงเรื่องการยุบโรงเรียนยังติดหล่มความเชื่อว่าเป็นการประหยัดต้นทุน เป็นความเห็นของผู้บริหารจากส่วนกลาง แต่ท้องถิ่นได้รับผลกระทบอย่างมากหลังยุบโรงเรียน ซึ่งเป็นโจทย์ต่อไปว่า อำนาจในการจัดการการศึกษาในพื้นที่ควรเป็นดุลยพินิจของท้องถิ่นเองหรือไม่ ?

ขณะที่ปัญหาเด็กหลุดจากระบบการศึกษาจำนวนกว่าล้านคนนั้น แม้จะเริ่มมีสัญญาณที่ดีจากภาครัฐ ในการนำร่องนโยบาย ‘Zero Dropout’ ที่จะปูพรมใน 25 จังหวัดพาเด็กกลับเข้าระบบ ผศ.อรรถพล ก็กังวลว่า นโยบายจะขาดความต่อเนื่องหรือไม่ เพราะการพาเด็กกลับมาไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยแคมเปญปีต่อปี แถม ครม. ยังเพิ่งถูกยุบไป นอกจากนี้ การพาเด็กกลับมา ต้องเตรียมห้องเรียนให้พร้อม มีความยืดหยุ่น ไม่ใช่จับเด็กมานั่งเรียนตามภาคบังคับ มิฉะนั้นพวกเขาก็จะเลือกเดินออกไปจากการศึกษา เพราะมองว่าการศึกษาไม่ใช่เรื่องสำคัญ

ทิ้งท้ายด้วยเรื่องหลักสูตรที่ต้องเร่งแก้ไขโดยเร็ว รวมไปถึงการปรับปรุง พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ ซึ่งปัจจุบันมีหลายฉบับจากหลายฝ่าย แต่ร่างหลักที่ใช้เป็นฐานมาจากรัฐบาลชุดก่อน โดยให้เหตุผลว่าเพื่อประหยัดเวลาในการยกร่างใหม่ อย่างไรก็ตาม นักการศึกษา ก็มีข้อกังวล โดยเฉพาะการระบุบทบาทและหน้าที่ซับซ้อนเข้าใจยาก อีกทั้งยังขาดวิสัยทัศน์ที่รองรับอนาคต โดยเน้นไปที่การกำหนดมาตรฐานที่เข้มงวด เช่น มาตรา 8 ที่ล็อกสเปกพัฒนาการของเด็กในแต่ละวัย ซึ่งอาจทำให้ระบบการศึกษาขาดความยืดหยุ่นและไม่สอดคล้องกับการพัฒนามนุษย์อย่างแท้จริง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active