ครูสังคม ชี้ ห้องเรียนประวัติศาสตร์ต้องเปิดกว้างและปลอดภัย

หลัง มท. และ ศธ. ประกาศนโยบายเร่งรัดพัฒนาคนให้รักชาติ ‘ครูสังคมศึกษา’ ตั้งคำถามนิยาม “ความเป็นไทย” รัฐใช้สิ่งใดกำหนด แนะ ห้องเรียนประวัติศาสตร์ต้องเปิดกว้าง ปลอดภัย เน้นให้คิดวิเคราะห์มากกว่าท่องจำ

เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 2566 ทีมผู้เขียนหนังสือ “สังคมศึกษาทะลุกะลา” ร่วมกับครูวิชาสังคมศึกษา และวิทยากรด้านการเรียนรู้ จัดกิจกรรม “สังคมศึกษาทะลุกะลา: Critical Social Studies Workshop” ตั้งวงพูดคุยแลกเปลี่ยนถึงปัญหาของหลักสูตรและการสอนวิชาสังคมศึกษา โดยกิจกรรมยังเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมได้เรียนรู้ในหลายประเด็น อาทิ แนวคิดทางศีลธรรม จริยธรรม แนะนำการตั้งคำถามเชิงสืบเสาะ ตลอดจนร่วมค้นหานิยาม “ความเป็นไทย” จากหลักฐานชั้นต้นและชั้นรอง เป็นต้น

May be an image of 11 people

“ครูแนน” ปาริชาต ชัยวงษ์ ครูวิชาสังคมศึกษาและผู้เขียนบทความ “สังคมศึกษาเพื่อสร้างจินตนาการใหม่” เปิดเผยว่า ปัญหาของห้องเรียนวิชาสังคมศึกษาคือการที่เยาวชนไม่อาจถกเถียงกันได้อย่างเปิดกว้างและปลอดภัย ทั้งที่วิชานี้ควรจะเป็นวิชาที่จะช่วยเด็กเข้าใจปัญหาของสภาพสังคม และสะท้อนกลับมายังตัวเขาในฐานะปัจเจกบุคคล แม้หลักสูตรจะส่งผลอยู่บ้างต่อภาพความเข้าใจสังคมของเด็ก แต่ครูผู้สอนมีความสำคัญกว่ามากที่จะช่วยทำให้นักเรียนมีกระบวนการคิดที่เฉียบแหลมมากขึ้น ผ่านการพลิกแพลงตัวชี้วัด เพื่อให้เขาสามารถบรรลุจุดมุ่งหมายของการเรียนรู้ได้โดยไม่ต้องยึดติดกับเนื้อหาในตำรา

“คำว่ากะลาจริง ๆ ไม่ใช่เนื้อหา กะลาจริง ๆ คือมุมมองที่เรามีต่อการสอนวิชาสังคมศึกษาต่างหาก ต่อให้หลักสูตรแกนกลางจะเก่า แต่ถ้าใช้ความสามารถในการตีความตัวชี้วัด ไปจนถึงการออกแบบการสอนเพื่อสร้างให้เด็กพร้อมเป็นพลเมืองโลก มันก็สามารถเกิดขึ้นได้ แต่กลับกันต่อให้หลักสูตรสมรรถนะใหม่ แต่การสอนยังติดกับกรอบเพื่อสร้างเด็กเป็นพลเมืองดีตามแนวคิดรัฐ สังคมศึกษาก็จะไม่ไปไหน”

ครูแนน-ปาริชาต ชัยวงษ์
May be an image of 10 people, people studying, table, cornflower and text

“ครูคิน” ภาคิน นิมมานนรวงศ์ ครูวิชาสังคมศึกษาและผู้เขียนบทความ “สู่ประวัติศาสตร์แห่งอนาคต” ร่วมตั้งคำถามถึงการพยายามปลูกฝังให้รักความเป็นไทยผ่านวิชาประวัติศาสตร์ อย่างแรกที่สุด คือการเพิ่มวิชาประวัติศาสตร์ ไม่ได้การันตีว่าเด็กจะรักชาติ พร้อมย้อนถามว่า “ความรัก” ในที่นี้มีนิยามอย่างไร เป็นความรักบนฐานของเหตุผล ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ หรือรักโดยใช้อารมณ์ความรู้สึกนำ ชี้ผู้ริเริ่มนโยบายต้องนิยามให้ชัด ห่วง “ความรักบนความไม่รู้” จะกลายเป็นความรักที่ไม่นำไปสู่การพัฒนาเยาวชนและประเทศ

“เด็กยังเรียนแบบเดิม ถูกบังคับให้ต้องสอบในเนื้อหาเดิม ผมเชื่อว่าถ้าท่านเข้าไปในโรงเรียนหลายแห่งก็สอนแบบเดิมแบบที่ท่านเรียนมา คือ สอนให้รักชาติ เคารพบรรพบุรุษ และประวัติศาสตร์ แต่สุดท้ายเด็กโตมาไม่ได้เชื่อแบบที่ท่านเชื่อ สุดท้ายความเชื่อของคน ๆ หนึ่งไม่ได้ขึ้นอยู่กับเนื้อหาตำราเรียน แต่ขึ้นอยู่กับโลกทั้งใบที่เขาเติบโตมา และโลกกำลังเปลี่ยนแปลงแบบที่คุณหยุดยั้งไม่ได้”

ครูคิน-ภาคิน นิมมานนรวงศ์
May be an image of 8 people and text

สำหรับหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานกำหนดให้เด็กไทยต้องเรียนวิชาสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ตั้งแต่ ป.1 จนถึง ม.6 โดยเฉพาะวิชาประวัติศาสตร์ที่ถูกแยกนับหน่วยกิตต่างหากออกมาจากวิชาหลัก โดยหวังให้เด็กเข้าใจความเป็นมาของชาติไทย มีความรัก ความภูมิใจและธำรงความเป็นไทย (มาตรฐาน ส 4.3)

แม้ในปีการศึกษาหน้าจะมีการเพิ่มเนื้อหาวิชาประวัติศาสตร์ วิชาหน้าที่พลเมือง และวิชาจริยธรรม ตามที่มหาดไทยมีนโยบายริเริ่มกับโรงเรียนในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่หากอ้างอิงจากหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 เพิ่มเติม พ.ศ. 2560 จะพบว่านักเรียนไทยจะเรียนจบชั้นประถม-ม.ปลายได้ ต้องผ่านตัวชี้วัดในวิชาสังคมศึกษาสูงถึง 420 ตัวชี้วัด แบ่งเป็น 5 สาระวิชาเรียงจากมากไปน้อย ดังนี้

  • ศาสนา ศีลธรรม จริยธรรม 136 ตัวชี้วัด (32%)
  • ประวัติศาสตร์ 82 ตัวชี้วัด (20%)
  • หน้าที่พลเมือง วัฒนธรรม และการดำเนินชีวิตในสังคม 72 ตัวชี้วัด (17%)
  • ภูมิศาสตร์ 68 ตัวชี้วัด (16%)
  • เศรษฐศาสตร์ 62 ตัวชี้วัด (15%)

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active