โซเชียลถกปม “ศิลปหัตถกรรม” ควรมีต่อหรือไม่? นักวิจัยการศึกษาชี้ มีไว้สร้างผลงานให้ ผอ. ได้ขอย้าย หวั่นงบฯ ลงทุนกับเด็กกลุ่มเดียว มากกว่าช่วยโอบอุ้มเด็กเปราะบาง แนะรื้อระบบและค่านิยมการประเมิน ผอ. เพื่อสร้างผู้อำนวยการศึกษาคุณภาพในทุกโรงเรียน
เมื่อวาน (15 ต.ค. 2566) สืบเนื่องจากการที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้สร้างแบบสอบถามแก่บุคลากรการศึกษาและนักเรียนว่าควรมีการแข่งขันศิลปหัตถกรรมต่อไปหรือไม่ ผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊ก “ศิลปหัตถกรรม นักเรียน” จึงเปิดประเด็นถกเถียงพร้อมระบุว่า สพฐ. กำลังสับสนกับตัวเอง คนไม่แข่งเขาก็แค่ไม่ส่ง คนส่งคือเขาอยากพัฒนาตัวเอง อยากเรียนรู้ ที่สำคัญที่สุดของศิลปหัตถกรรม คือประสบการณ์ ไม่ใช่อันดับ ด้านครูและชาวเน็ตแห่แสดงความเห็น มองว่าอยากให้เด็กแสดงความสามารถ แต่ไม่ต้องแข่งขันหรือกดดัน
ขณะที่ข้อคิดเห็นของผู้ใช้งานบางรายใต้โพสต์ดังกล่าว มีมุมมองที่แตกต่างกันไป ฟากหนึ่งเห็นว่า การจัดแข่งขันศิลปหัตถกรรมเป็นการสร้างพื้นที่ให้เด็กได้แสดงออก มีผลงานในการยื่นเข้ามหาวิทยาลัย เป็นความภาคภูมิใจของครู ขณะที่อีกมุมหนึ่งมองว่า หลายโรงเรียนบังคับให้ครูต้องเข้าร่วม เป็นการกดดันและสร้างภาระ และยังขาดงบประมาณจากโรงเรียนมาช่วยหนุนครูและเด็กให้เพียงพอ นอกจากนี้กรรมการตัดสินไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญอีกด้วย
ด้านครูทิว-ธนวรรธน์ สุวรรณปาล สะท้อนในมุมมองของครูวิชาสังคมศึกษา มองว่า กิจกรรมที่ใช้ประกวดในสาระสังคมศึกษาส่วนใหญ่ไม่ตอบตัวชี้วัดการพัฒนาผู้เรียน เช่น การแข่งขันเพลงคุณธรรม ละครคุณธรรม ประกวดมารยาทไทย แข่งสวดมนต์ เป็นต้น ซึ่งตนสงสัยว่า การจะวัดผลด้านคุณธรรมจะนำอะไรมาเป็นเกณฑ์ตัดสิน แล้วโครงการคุณธรรมเหล่านี้มีความยั่งยืนแค่ไหน หรือเพิ่งทำก่อนจะแข่งขัน และผู้เรียนจะได้ประโยชน์อะไรจากการได้ลงมือทำ
“เราจัดประกวดด้วยมุมมองต่อวิชาสังคมศึกษาแบบไหนกันแน่ และจะให้มันเป็นอย่างนี้จริง ๆใช่หรือเปล่า …อะไรคือ ‘กะลา’ ระหว่างการไม่ได้จัดและพัฒนาสิ่งเหล่านี้ หรือสิ่งเหล่านี้นั่นแหละคือกะลาในตัวมันเอง”
ครูทิว-ธนวรรธน์ สุวรรณปาล
ขณะที่มุมมองของ ณิชา พิทยาพงศกร นักวิจัยด้านการศึกษา ระบุผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า หนึ่งในสาเหตุที่กระทรวงศึกษาธิการยังยกเลิกการประกวดระดับชาติไม่ได้ เพราะผลการประกวดเป็นส่วนหนึ่งของตัวชี้วัดเพื่อการขอย้ายของ ผอ. ตามหลักเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ระบุว่า หากมีผลงานที่เกิดขึ้นกับนักเรียน ผอ. จะได้คะแนนประเมินที่สูงขึ้นตามระดับการแข่งขัน เช่น ชนะระดับประเทศ ได้ 5 คะแนน ชนะระดับกลุ่มรร. ได้ 2 คะแนน หากไม่ส่งรางวัล ได้ 0 คะแนน เป็นต้น
“มีใครบ้างที่ได้ประโยชน์จากการประกวดพวกนี้ โดยอ้างว่าทำแล้วเด็กได้ประโยชน์ ซึ่งก็อาจจะจริงกับเด็กบางคน แต่ดูดกลืนเวลาและทรัพยากรที่ควรมีให้กับเด็กอีกหลายคนที่ต้องการการสนับสนุนมากกว่าการแข่งขัน”
ณิชา พิทยาพงศกร
ทาง The Active ได้สอบถามณิชาเพิ่มเติมต่อประเด็นดังกล่าว ให้ความเห็นว่า ปัญหาการแข่งขันศิลปหัตถกรรมเป็นเพียงส่วนหนึ่งของปัญหาเชิงโครงสร้างในระบบการศึกษาไทย แม้ตอนนี้หลายโรงเรียนจะไม่ได้มีการบีบบังคับครูให้ประกวดแข่ง แต่ในเกณฑ์การประเมินเพื่อขอย้ายของ ผอ. ยังมีการให้คะแนนผลงานการแข่งขันในสถานศึกษา ทำให้เป็นแรงขับเคลื่อนให้ครู และ ผอ. ต้องเร่งกันทำผลงาน โดยการแข่งขันศิลปหัตถกรรมเองก็เป็นเพียงหนึ่งในการแข่งขันเหล่านั้น
ณิชา ชี้ว่า การแข่งขันนั้นไม่ได้ผิด สามารถที่จะทำได้ เพราะเป็นการเปิดพื้นที่ทักษะด้านอื่น ๆ นอกเหนือจากวิชาการ เพื่อให้เด็กได้แสดงความสามารถ แต่เนื่องจากงบประมาณการศึกษาของประเทศนั้นมีจำกัด เราจึงต้องทบกวนการใช้งบฯ เพื่อพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กให้คุ้มค่าและได้รับผลประโยชน์อย่างเท่าเทียมถ้วนหน้า
ทั้งนี้ ณิชาชวนตั้งคำถามว่า แล้วเหตุใดประเทศไทยถึงจะต้องมีเกณฑ์เพื่อให้ ผอ. สามารถยื่นขอย้ายสถานศึกษาได้ ตนตั้งข้อสังเกตถึงประเด็นด้านทรัพยากรในโรงเรียนขนาดเล็ก เพราะจำนวนเด็กนักเรียนน้อย ก็จะได้รับจัดสรรงบรายหัวน้อยตาม การจะพัฒนาอะไรก็ทำได้ยาก จึงเป็นการบีบบังคับทางอ้อมให้ ผอ. ต้องย้ายสถานศึกษาเพื่อหาโอกาสในโรงเรียนที่ใหญ่กว่า ดังนั้น ระบบการประเมินและค่านิยมการเติบโตนี้เป็นอุปสรรคทำให้หลายโรงเรียนไม่ได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่ แนะต้องรื้อระบบการประเมินใหม่
“ผู้อำนวยการบางคนอาจจะมีความสามารถ แต่โครงสร้างการศึกษาไทยไม่เอื้ออำนวย ขณะที่เด็กก็เกิดน้อยลงทุกวัน ในโรงเรียนขนาดเล็กในชุมชน ผอ. จะหาเด็กที่ไหนมาพัฒนา หรือสร้างผลงานให้ตัวเองได้ …เราควรตั้งคำถามว่า แล้วเพราะอะไรทำให้การยื่นผลงาน การย้ายโรงเรียน จึงเรียกว่าเป็นการเติบโต”
ณิชา พิทยาพงศกร
นอกจากนี้ ประเด็นการแข่งขันศิลปหัตถกรรมเป็นที่ถกเถียงกันมาตั้งแต่ปีที่แล้ว (2565) โดยเพจเฟซบุ๊ก “ครูภู” โดยทางเพจได้สะท้อน 10 ผลลัพธ์ที่ได้จากการแข่งขันดังกล่าว ได้แก่
1. โครงการใช้งบประมาณมาก
2. กรรมการตัดสินไม่เป็นธรรม ฮั้วผลการตัดสิน
3. เด็กนักเรียนที่เหลือถูกปล่อยปะละเลย
4. เสียเวลาเรียน เมื่อเทียบกับประโยชน์ที่ได้รับ
5. เป็นเหตุผลให้ครูมีเวลาสอนเด็กส่วนใหญ่น้อยลง เพราะอ้างว่าต้องซ้อม
6. ครูแข่งกันเองมากกว่านักเรียนแข่งกัน
7. ผู้บริหารกดดันครูเพื่อให้ได้รางวัลมา
8. ครูบางท่านต้องจ่ายเงินส่วนตัวซื้อของซ้อมเด็ก
9. รร.ขนาดใหญ่ได้เปรียบมากกว่า
10. ครูแย่งเด็กเพื่อจะเอาไปแข่งในรายการที่ครูท่านนั้นต้องการ ทั้งๆ ที่เด็กอาจจะถนัดด้านอื่น