ม.ธรรมศาสตร์ เปิดโครงการอบรมความรู้ประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัย เพื่อเข้าใจความหมายพื้นที่และสัญลักษณ์ นักศึกษา มธ. พร้อมนำความรู้ส่งต่อ ตอกย้ำอุดมการณ์
21 ก.ค. 2566 ที่คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เปิดโครงการอบรมประวัติศาสตร์ธรรมศาสตร์ 101 โดยมีนักศึกษาร่วมฟังเรื่องราวประวัติศาสตร์ของพื้นที่ ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยช่วงบ่ายเป็นการบรรยายของ ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี พูดถึงประวัติศาสตร์ของพื้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และความหมายแฝงเชิงสัญลักษณ์ของการตั้งพื้นที่
จากการศึกษาเรื่องของระบบสัญลักษณ์ การสร้างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เป็นพื้นที่วังหน้ามาก่อน และมีการเลือกสร้างมหาวิทยาลัยบริเวณกึ่งกลางระหว่างท่าพระอาทิตย์กับท่าพระจันทร์ ส่วนตัวตึกโดมก็มีความเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่ง เปรียบเหมือนภูเขา เป็นศูนย์กลางของจักรวาล เพียงแต่ถูกสร้างในภาพลักษณ์ของสมัยใหม่ ซึ่งในเชิงสัญลักษณ์เปรียบเสมือนการสร้างหมุดหมายหรือการสร้างจุดศูนย์กลางใหม่ อาจหมายถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองแบบใหม่ในปี 2475
เพราะในอดีตเมื่อเกิดการการเปลี่ยนแปลงการปกครอง มักจะสร้างจุดศูนย์กลางใหม่พร้อมกับการสร้างหลักทางกฏหมาย ซึ่งโดยพื้นฐานของกฎหมายนั่นคือพระธรรมศาสตร์ ซึ่งก็คือชื่อของมหาวิทยาลัย
น่าสนใจว่าในเรื่องของเชิงสัญลักษณ์ ตึกโดมนั้นสร้างเป็นจุดศูนย์กลาง ซึ่งอยู่ระหว่างท่าพระอาทิตย์กับท่าพระจันทร์ ความเชื่อโบราณเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองก็จะต้องสร้างจุดศูนย์กลางใหม่ของจักรวาล มันเป็นเหมือนประเพณีโบราณซึ่งทำกันมาโดยตลอด
แต่เมื่อลองมองภาพการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในอดีตกับปัจจุบัน ศิริพจน์ บอกว่า โดยปกติถ้าไปดูหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ก็จะเห็นว่าไม่มีอะไรที่เป็นไปโดยไม่มีอุปสรรค ปกติของการเปลี่ยนแปลงที่จะต้องมีจังหวะสะดุดบ้าง ถ้าเชื่อว่าความเป็นประชาธิปไตยให้ความเท่าเทียม ให้สิทธิเสรีภาพ ก็ต้องไปให้ถึงจุดนั้น
“วันหนึ่งมันก็คงไปถึงจุดนั้นได้โดยตัวของมันเอง เพราะเมื่อเวลาเนิ่นนานไป สังคมก็จะคัดกรองไปโดยธรรมชาติของมัน”
ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ
เขายังบอกกับ The Active ด้วยว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความสำคัญกับประวัติศาสตร์ของพื้นที่ในมหาวิทยาลัยค่อนข้างดี เมื่อเทียบกับมหาวิทยาลัยอื่น ๆ โดยมีการทำหอจดหมายเหตุของมหาวิทยาลัย ซึ่งถือเป็นแนวทางที่ถูก ทำให้มหาวิทยาลัยมีเป็นประวัติศาสตร์ของตนเอง ได้รู้ถึงรากเหง้าว่าพื้นที่นี้ในอดีตเป็นอะไรมาก่อน
รัชชานนท์ โทรักษา นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ บอกว่า ประวัติศาสตร์การก่อตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และตลอดระยะเวลาที่ผ่านมามีความเกี่ยวพันกับความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง
การเข้ามาฟังการบรรยายของอาจารย์ศิริพจน์ในวันนี้ ได้รับรู้แง่มุมทางประวัติศาสตร์ การเกิดขึ้นของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ไม่เคยรู้มาก่อน ในลักษณะการเมืองปนการมู โดยเฉพาะเหตุผลในเชิงสัญลักษณ์ของการเลือกที่ตั้งของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้อยู่ตรงกลางระหว่างท่าพระจันทร์กับท่าพระอาทิตย์ โดยมีตึกโดมเป็นศูนย์กลาง ตามความเชื่อแบบพราหมณ์ที่มีเขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลางจักรวาล ตั้งระหว่างพระอาทิตย์กับพระจันทร์ จึงเปรียบเสมือนการสถาปนาศูนย์กลางจักรวาลใหม่ ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปี 2475 ซึ่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็เป็นผลมาจากการปฏิวัติของคณะราษฎร ที่นำเสนอหลัก 6 ประการ หนึ่งในนั้นคือการศึกษา ‘ให้ความรู้แก่ประชาชน’
ส่วนตัวคิดว่าเกร็ดความรู้ทางประวัติศาสตร์ที่ได้ฟังจากการบรรยายครั้งนี้จะได้นำไปเล่าให้รุ่นน้องที่จะเข้ามาใหม่ได้ฟังเพื่อเป็นแรงบันดาลใจและตอกย้ำอุดมการณ์ ที่มีตั้งแต่แรกเริ่มการก่อตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์