นายกฯ ชมกลไกสร้างระบบหลักประกันโอกาสการศึกษาช่วยเด็กยากจน

กสศ. เตรียมเสนอ ครม. เคาะงบฯ 7.9 พันล้าน เพิ่มเงินอุดหนุน ตัดวงจรจนข้ามรุ่น ชี้ ลงทุนในเด็กได้ผลตอบแทน 7 เท่า

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้กำลังใจ และชื่นชม โครงการ Equity Partnership’s School Network ของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) หลัง ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ. รายงานผลการดำเนินงานต่อนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี ผ่านนิทรรศการหลักประกันโอกาสทางการศึกษา 20 ปี ไร้รอยต่อ และการส่งเสริมทักษะชีวิต ทักษะอาชีพ ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล

โดยระบุว่า เป็นโครงการต้นแบบที่ สร้างหลักประกันโอกาสทางการศึกษา และส่งเสริมทักษะชีวิตระหว่างเรียน  เพิ่มโอกาสให้เด็กได้รับการพัฒนาศักยภาพของตนเองมากขึ้น โดยไม่มีเด็กคนไหนถูกทิ้งไว้ข้างหลัง นับเป็นการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่เป็นความร่วมมือร่วมใจจากหลากหลายภาคส่วนในการระดมความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ เติมเต็มความรู้ ทักษะชีวิต ทักษะอาชีพให้กับเด็ก ๆ

ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ระบุ ตามที่รัฐบาลได้ดำเนินนโยบายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา รวมถึงดูแลนักเรียนนักศึกษาผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ด้อยโอกาสผ่าน กสศ.  ตลอดระยะเวลาการดำเนินงานกว่า 5 ปี สามารถสร้างระบบหลักประกันโอกาสการศึกษา โดยป้องกันเด็กและเยาวชนกว่า 3.5 ล้านคน ไม่ให้หลุดจากระบบการศึกษา และมีระบบส่งต่อให้ศึกษาสูงกว่าภาคบังคับจนถึงอุดมศึกษาหรือสายอาชีพ เพื่อขจัดวงจรความยากจนข้ามรุ่น 

นอกจากนี้ ยังสามารถช่วยเด็กและเยาวชนนอกระบบกว่า 40,000 คน ได้กลับเข้าสู่การเรียนรู้และพัฒนาทักษะชีวิต ทักษะอาชีพที่ตอบโจทย์ชีวิตตามศักยภาพและความถนัดเป็นรายบุคคล เพื่อให้มีงานทำมีอาชีพที่สามารถเลี้ยงดูตนเองและครอบครัวได้ 

เมื่อพิจารณาจากช่วงเวลาและตัวเลขดัชนีทางเศรษฐกิจ ซึ่งอยู่ในช่วงเวลาของโรคระบาดโควิด-19 พบว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ตัวเลขนักเรียนยากจนพิเศษเพิ่มขึ้น มีแนวโน้มว่ามาจากผลกระทบทางเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากมาตรการป้องกันต่าง ๆ และอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น โดยพบภาวะยากจนเฉียบพลันของประชากรและรายได้ต่อครัวเรือนลดลงต่อเนื่อง โดยตัวเลขล่าสุดในภาคเรียนที่ 1 ของปี 2565 พบว่า รายได้เฉลี่ยของครอบครัวนักเรียนกลุ่มยากจนพิเศษอยู่ที่ 1,044 บาทต่อเดือน หรือ คิดเป็นวันละ 34 บาทเท่านั้น ซึ่งมีนักเรียนกว่า 1.3 ล้านคน ได้รับการจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษแบบมีเงื่อนไข (ทุนเสมอภาค) จาก กสศ. และนักเรียนยากจนอีก 1.8 ล้านคน กสศ. ได้สนับสนุนผลการคัดกรองให้ต้นสังกัดจัดสรรทรัพยากรเพิ่มเติม

“สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (วสศ.) ได้ใช้แบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ในการประเมินว่า หากเด็กนักเรียนทั้ง 20,018 คน สามารถสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี จะทำให้รายได้ตลอดช่วงชีวิตของพวกเขาสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ถึง 66,000 ล้านบาท หรือ คิดเป็น 3.3 ล้านบาทต่อคน เมื่อเปรียบเทียบกับตัวเลขถ้าพวกเขาสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมปลาย การศึกษาที่สูงขึ้นจะส่งผลต่อรายได้ที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของทางออกจากกับดักความยากจน” 

หากคำนวณเพียงต้นทุนที่ต้องสนับสนุนให้เด็ก ๆ สามารถเรียนจนสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีได้ในภาพรวม อยู่ที่ประมาณ 8,200 ล้านบาท หรือคิดเป็น 410,000 บาทต่อคน ซึ่งคิดเป็นผลตอบแทนกลับคืนสู่ระบบเศรษฐกิจกว่า 7 เท่า หรือคิดเป็นอัตราผลตอบแทนของการลงทุนแบบ IRR อยู่ที่ประมาณร้อยละ 9 ซึ่งถือว่าสูงมากหากเทียบเคียงกับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เช่น รถไฟฟ้า และยังสูงกว่าต้นทุนทางการเงินของรัฐประมาณร้อยละ 2.7

ภาพรวมของสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และความคุ้มค่าในการลงทุนที่ตอบโจทย์แผนพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 หมุดหมายที่ 9 ไทยมีความยากจนข้ามรุ่นลดลง และหมุดหมายที่ 12 ไทยมีกำลังคนสมรรถนะสูง มุ่งเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ตอบโจทย์การพัฒนาแห่งอนาคต คณะกรรมการบริหาร กสศ. จึงเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาแผนการใช้เงินประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 วงเงินงบประมาณจำนวน 7,985786,100 บาท เพื่อลดผลกระทบทางการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดย กสศ. ได้เตรียมแผนเพิ่มอัตราเงินอุดหนุนทุนเสมอภาคให้กับนักเรียนยากจนพิเศษ 1.3 ล้านคน เพื่อให้สอดคล้องกับค่าครองชีพประชาชนและอัตราเงินเฟ้อต่อไป

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active