กสศ. เปิดผลงานปี 64 ช่วยเหลือนักเรียนยากจนมากกว่า 2 ล้านคน

เผย เข้าถึง-ช่วยเหลือ “กลุ่มนักเรียนเปราะบาง” ได้ทั่วประเทศ เข้มมาตรการสกัดเด็กหลุดระบบ เพิ่มโอกาสเรียนต่อระดับสูง ชี้เป้า “ม.ปลาย ยากจน” ยังมีช่องว่างเข้าถึงการศึกษาคุณภาพ ยอมรับ “ยังให้ทุนได้อัตราต่ำ” คาดหวังงบฯ รัฐบาลมากขึ้นในปีต่อไป

วันนี้ (27 ธ.ค. 2564) นพ.สุภกร บัวสาย รักษาการผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) รายงานผลการดำเนินงานปี 2564 โดยระบุว่า ผลกระทบจากโควิด-19ทําให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาขยายกว้างขึ้น ในขณะที่ทรัพยากรภาครัฐไม่เพียงพอ และการปฏิรูปการศึกษายังติดหลายปมปัญหา

จากผลการคัดกรองนักเรียนยากจนพิเศษ พบว่า ปี 2564 มีจำนวนสูงสุดนับแต่เคยมีการสำรวจ รายได้ของครอบครัวเด็กและเยาวชนกลุ่มนี้  คือ ลดลงเหลือ 1,094 บาทต่อเดือน เมื่อเทียบกับช่วงก่อนสถานการณ์โควิด-19 ที่มีรายได้ 1,159 บาทต่อเดือน เกิดปรากฏการณ์ยากจนเฉียบพลันส่งผลให้ นักเรียนกลุ่มยากจนพิเศษในภาคเรียนที่ 1/2564 มีจำนวนถึง 1,244,591 คน เพิ่มขึ้น 250,163 คน หรือร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับภาคเรียนที่ 1/2563 ที่ยังไม่มีการระบาดของโควิด-19 ความเสี่ยงของเด็กนักเรียนยากจนที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษา เห็นได้ชัดในกลุ่มช่วงชั้นรอยต่อ โดยเฉพาะระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ซึ่งเป็นปีสิ้นสุดของการศึกษาภาคบังคับ

นพ.สุภกร บัวสาย รักษาการผู้จัดการ กสศ.

นพ.สุภกร กล่าวว่า จากงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรในปี 2564 จำนวน 6,084.76 ล้านบาท กสศ. สามารถช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายที่สะท้อนปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของประเทศจำนวน 1.35 ล้านคน เป็นนักเรียนยากจนพิเศษโดยตรงราว 1.2 ล้านคน ด้วยการสนับสนุนทุนเสมอภาคในอัตรา 3,000 บาท/คน/ปีการศึกษา ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำมาก แต่มุ่งหวังเพื่อบรรเทาปัญหาให้กับครอบครัวยากลำบากร้อยละ 15 ล่างสุดของประเทศ เพราะแม้มีมาตรการเรียนฟรี 15 ปี แต่ก็ยังไม่เพียงพอ โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายด้านการเดินทางและค่าครองชีพที่สูงขึ้น จนต้องหลุดออกจากระบบการศึกษา

“กสศ. ใช้คำว่าทุนเสมอภาค เพื่อสื่อว่าประชาชนมีส่วนร่วมเสียภาษีเกื้อหนุนครอบครัวที่ยากลำบากที่สุด และทุนเสมอภาคมิใช่เป็นเงินสงเคราะห์ แต่เป็นการให้เงินอุดหนุนแบบมีเงื่อนไข ต้องรักษาอัตราการมาเรียนให้มากกว่าร้อยละ 80 ของเวลาเรียน และมีการติดตามข้อมูลพัฒนาการให้สมวัยตามเกณฑ์ของกรมอนามัย ผลการประเมินขั้นต้นของ กสศ. พบว่า กลุ่มที่เคยขาดเรียนเฉลี่ยสัปดาห์ละ 2 วัน ขาดเรียนลดลงเหลือสัปดาห์ละครึ่งวัน และในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ปีการศึกษา 2563-2564 นักเรียนทุนเสมอภาคกว่าร้อยละ 95 ยังคงอยู่ในระบบการศึกษา ทั้งนี้เมื่อวันที่ 24 ธ.ค. ที่ผ่านมา กสศ. ได้จัดสรรทุนเสมอภาคภาคเรียนที่ 2/2564  ให้แก่นักเรียนยากจนพิเศษจำนวน 1,247,451 คน วงเงินงบประมาณ 1,978,264,500 บาท”

นพ.สุภกร กล่าวต่อไปว่า ยังมีกลุ่มนักเรียนยากจนอีกราว 8 แสนคน ที่ กสศ. ได้ทำงานร่วมกับครูมากกว่า 400,000 คนทั่วประเทศ ในการคัดกรองสถานะความยากจน แต่งบประมาณที่ กสศ. ได้รับจากรัฐบาลแต่ละปียังไม่เพียงพอ กสศ. จึงสนับสนุนข้อมูลผลการคัดกรองรายบุคคลให้แก่หน่วยงานต้นสังกัดเพื่อช่วยเหลือผ่านเงินปัจจัยพื้นฐานสำหรับนักเรียนยากจนในโครงการเรียนฟรี 15 ปี ระดับประถมศึกษา 1,000 บาท/คน/ปีการศึกษา และระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 3,000 บาท/คน/ปีการศึกษา ซึ่งคิดเป็นเงินเพียง 5-15 บาทต่อวันเท่านั้น และเป็นอัตราที่ไม่ได้ปรับปรุงให้สอดคล้องกับปัจจุบันมากว่า 12 ปี ตั้งแต่มีโครงการเรียนฟรี 15 ปีเมื่อปีการศึกษา 2552 ดังนั้น กสศ.และหน่วยงานต้นสังกัดทางการศึกษา ได้เสนอแผนการใช้เงินประจำปีงบประมาณ 2566 โดยขยายกลุ่มเป้าหมายให้ครอบคลุมกลุ่มนักเรียนอนุบาล และ ม.ปลาย ที่เข้าเกณฑ์ยากจนและยากจนพิเศษมากกว่า 240,000 คน

“การช่วยเหลือด้วยทุนเสมอภาคเป็นเพียงการบรรเทาความเดือดร้อนไม่ให้วิกฤต ในฐานะที่ กสศ. เป็นหน่วยงานสาธารณะที่รับผิดชอบต่อประชาชน ต้องมุ่งแก้ปัญหาให้ลึกขึ้นไปอีกจากโจทย์ที่ต้นทาง”

กสศ. ได้วิเคราะห์พบว่าบรรดาเด็กและเยาวชนกลุ่มขาดโอกาส แบ่งออกได้เป็น 4 กลุ่มใหญ่จากสถานการณ์ปัจจุบัน ทำให้มีเป้าหมายการช่วยเหลือที่แตกต่างกันดังนี้

กลุ่ม 1 นักเรียนระดับการศึกษาภาคบังคับ จำเป็นต้องยกระดับคุณภาพการศึกษาผ่านการพัฒนาครูและโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล โดย กสศ. ทำงานร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ และ 11 เครือข่ายปฏิรูปการศึกษาทั่วประเทศ พัฒนาโรงเรียนขนาดกลางสังกัด สพฐ. สช. และ อปท. รวม 727 แห่ง ให้เป็นต้นแบบโรงเรียนพัฒนาตนเอง นักเรียนทุกคนมีโอกาสพัฒนาตนเองตามศักยภาพ ควบคู่ไปกับการส่งเสริมพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา 22,303 คน มีนักเรียนได้รับประโยชน์ 204,680 คน

กลุ่ม 2 นักเรียนชั้นมัธยมปลาย ทั้งสายสามัญและสายอาชีพ ซึ่งจะอยู่ในระบบการศึกษาอีกเพียง 1-3 ปี หลังจากนั้นจะทยอยออกจากระบบการศึกษาเข้าสู่ตลาดแรงงาน โดยมีเพียงร้อยละ 11.54 ของนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษเท่านั้นที่เรียนต่อในระดับอุดมศึกษา จึงต้องช่วยส่งเสริมความพร้อมการทำงาน

กสศ. พัฒนารูปแบบการให้ทุนการศึกษาระดับสูง ได้แก่ ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพ ทุนครูรัก(ษ์)ถิ่น รวมทั้งสิ้น 8,019 ทุน เป็นทุนการศึกษาใหม่ 2,714 ทุน และทุนการศึกษาสะสม 5,305 ทุน โดยในปีนี้มีนักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงสำเร็จการศึกษาจำนวน 1,106 คน กว่าร้อยละ 67 ของนักศึกษา มีผลการเรียนเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 3.00 สามารถก้าวเข้าสู่ตลาดแรงงานได้อย่างมีคุณภาพ    

มีการเชื่อมโยงฐานข้อมูลรายบุคคลและรายสถานศึกษา ในกลุ่มนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษ ระหว่าง กสศ. กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมและที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ทำให้พบว่าแม้ในสถานการณ์โควิด-19 ที่รุนแรงในปีการศึกษา 2564 ยังมีนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษ 11,541 คน จากทั้งหมดประมาณ 100,000 คน หรือร้อยละ 11.54 สามารถฝ่าฟันอุปสรรคจนผ่านการคัดเลือกของ TCAS64 เข้าสู่การศึกษาในระดับอุดมศึกษาได้ กสศ. ได้ส่งต่อข้อมูลให้กับทาง ทปอ. เพื่อติดตามและพิจารณาให้ทุนการศึกษาโดยมหาวิทยาลัยต่าง ๆ แก่นักเรียนช้างเผือกเหล่านี้อย่างเป็นระบบ 

ในระยะยาวจะเกิดการบูรณาการฐานข้อมูลรายบุคคลของเด็กและเยาวชนอายุ 3–25 ปี ในครัวเรือนยากจนที่สุดร้อยละ 15-20 ของประเทศ ที่อยู่ใต้เส้นความยากจนของสภาพัฒน์มากกว่า 2 ล้านคน โดยฐานข้อมูลนี้นอกจากจะสามารถใช้ระดมความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และประชาชนทั่วไป ยังสามารถช่วยเหลือสนับสนุนให้เด็กเยาวชนกลุ่มนี้ไม่หลุดออกจากระบบการศึกษาและสามารถศึกษาต่อจนถึงระดับสูงสุดตามศักยภาพ จึงอาจกล่าวได้ว่าระบบข้อมูลสารสนเทศที่ กสศ. ร่วมพัฒนากับหน่วยงานต้นสังกัดด้านการศึกษามากกว่า 5 กระทรวง จะเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาไปสู่ระบบหลักประกันโอกาสทางการศึกษาของประเทศไทยได้ในอนาคต

กลุ่ม 3 เด็กนอกระบบระดับการศึกษาภาคบังคับ เป็นกลุ่มที่นำกลับคืนสู่ระบบการศึกษาได้ยากที่สุด  โดยปีที่ผ่านมา กสศ. ร่วมกับองค์กรพัฒนาเด็กและเยาวชนในพื้นที่ 74 จังหวัด พัฒนาระบบและความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในพื้นที่ ด้วยโมเดลการศึกษาทางเลือกที่เหมาะสมตามสภาพปัญหาและความต้องการเป็นรายบุคคลแบบครบวงจร ในปีงบประมาณ 2564 มีเด็กนอกระบบได้รับการช่วยเหลือ 43,410 คน พร้อมกับส่งเสริมครูนอกระบบการศึกษา 3,471 คน

กลุ่ม 4 เยาวชน (อายุ 15-24 ปี) ที่หลุดจากระบบการศึกษาไปแล้ว เป็นกลุ่มที่มีจำนวนสะสมมากและแก้ไขปัญหายากที่สุด ส่วนใหญ่เข้าสู่ตลาดแรงงานไร้ฝีมือนอกระบบ มีรายได้ต่ำ กลุ่มเป้าหมายนี้ยังต้องการความช่วยเหลือจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ที่จะพัฒนาทักษะอาชีพ เบื้องต้น กสศ. ร่วมกับหน่วยพัฒนาทักษะอาชีพที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน 117 พื้นที่ทั่วประเทศ พัฒนาโมเดลการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อยกระดับทักษะอาชีพ 8,561 คน ให้มีอาชีพเลี้ยงดูตนเองและครอบครัวได้

นพ.สุภกร กล่าวว่า โจทย์ความเหลื่อมล้ำมีปมผูกกับปัญหาเศรษฐกิจและสังคมสะสมมายาวนาน เมื่อมีผลกระทบจากโควิด-19 เข้ามาซ้ำเติม ยิ่งทำให้ปัญหาขยายกว้างมากขึ้น การแก้ไขปัญหาเชิงระบบยังจำเป็นต้องขอความร่วมมือจากหลายฝ่าย

“บอร์ดบริหาร กสศ. มีแนวทางการทำงานผ่านแผนกลยุทธ์ใหม่ 3 ปีจากนี้ มุ่งเน้นให้ กสศ. มีบทบาทเหนี่ยวนำความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ ครอบคลุมถึงนโยบายการศึกษาของประเทศลงไปถึงระบบงาน ระดับหน่วยงาน และพัฒนาฐานข้อมูล งานวิชาการคุณภาพสูงที่สามารถไปกระตุ้น หรือ ชี้เป้า ให้กับเครือข่ายองค์กรพันธมิตรที่เป็นเจ้าของงบประมาณอีกกว่า 99% เพื่อให้การใช้จ่ายด้านการศึกษารวมกว่า 8 แสนล้านบาท ก่อประสิทธิภาพสูงขึ้น สามารถลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้ตรงจุด”

กสศ. ยังมุ่งเน้นทำงานกับท้องถิ่น ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการปฏิรูปการศึกษาและบูรณาการทรัพยากรจากทุกแหล่งในพื้นที่ ในปี 2564 มีจังหวัดจากทั่วประเทศเข้าร่วมโครงการนำร่องจำนวน 20 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง น่าน แพร่ สุโขทัย พิษณุโลก ขอนแก่น มหาสารคาม สุรินทร์ อำนาจเจริญ อุบลราชธานี นครราชสีมา กาญจนบุรี นครนายก ระยอง สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต ยะลา และสงขลา

ทั้งนี้ นพ.สุภกร ได้กล่าวขอบคุณประชาชนกว่า 20,000 คน และหน่วยงานภาคเอกชนมากกว่า 200 องค์กร ที่ร่วมสนับสนุนทรัพยากรทั้งในรูปแบบเงินบริจาค จิตอาสา การแบ่งปันความรู้ ความเชี่ยวชาญ การริเริ่มกิจกรรม หรือโครงการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา กสศ. ได้ร่วมกับ 16 องค์กรตั้งต้น ทั้งภาคเอกชนและประชาสังคมประกอบด้วย มูลนิธิตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มูลนิธิพุทธรักษา มูลนิธิธนินท์ เทวี เจียรวนนท์ มูลนิธิยุวพัฒน์ มูลนิธิก้าวคนละก้าว มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย มูลนิธิไทยพีบีเอส มูลนิธิเอสซีจี มูลนิธิเสริมกล้า เคพีเอ็มจี ประเทศไทย บริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กลุ่มธุรกิจ TCP) และบริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมประกาศเจตนารมณ์ของเครือข่าย “ALL FOR EDUCATION” เพื่อร่วมระดมทรัพยากร ความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ นำการศึกษาที่มีคุณภาพไปให้ถึงเด็กทุกคนอย่างเสมอภาค

Author

Alternative Text
AUTHOR

ศศิธร สุขบท

มนุษย์ช่างฝัน ชอบสร้างสรรค์ข่าวเชิงบวก มีพรรคพวกชื่อจินตนาการ แสนสุขกับงานขับเคลื่อนสังคม