คู่บัดดี “เด็กพิเศษ” เรียน เล่น สนุกร่วมกัน

ไม่แยกเขา แยกเรา สร้างพื้นที่ปลอดภัย สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับทุกคน เพื่อส่งเสริมพัฒนาการ

เพิ่งผ่านพ้นวันเด็กแห่งชาติไม่กี่วัน เสียงหัวเราะ ความสนุกสนานของเด็ก ๆ คงยังตราตรึงใจผู้ใหญ่หลายคนที่มีโอกาสไปร่วมกิจกรรม สัมผัสบรรยากาศเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา แต่คงจะดีไม่น้อยหากช่วงเวลาของความสุข จะเกิดขึ้นได้ทุกที่ ทุกเวลา โดยเฉพาะในห้องเรียนที่พวกเขาต้องใช้เวลาส่วนใหญ่ของวันอยู่ที่นั่น เมื่อเร็ว ๆ นี้ ภาพความน่ารักของน้องนักเรียนมัธยม โรงเรียนพิบูลประชาสรรค์ กรุงเทพมหานคร ที่เห็นการดูแลกันและกันของ “น้องบุ๋น” ณัฐกฤต ลิมปาวิภากร ซึ่งมีภาวะดาวน์ซินโดรม และ “น้องซี” ฐิติพงศ์ ด้วงนคร เพื่อนนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 สะท้อนพื้นที่ปลอดภัย และอนาคตของรูปแบบการเรียนร่วมเพื่อเด็กทุกคนในอนาคต

The Active ได้มีโอกาสสัมภาษณ์น้องซี ในฐานะ บัดดี (Buddy) คู่หูคนสนิทของน้องบุ๋น ที่คอยดูแลทั้งเรื่องการเรียน การเล่น ในเวลาที่ใช้ชีวิตในโรงเรียน โดยน้องซี บอกกับเราว่า การใช้ชีวิตร่วมกับบุ๋น แทบจะเป็นปกติเหมือนเด็กคนอื่น ๆ ทั่วไป สามารถเข้าร่วมกิจกรรม เรียนรู้ไปพร้อม ๆ กันได้อย่างดี ตลอดระยะเวลา 1 ปี ที่ได้ดูแลกันมา มีเรื่องราวที่น่าประทับใจเกิดขึ้นมากมาย

“ช่วงแรกตอนเจอเขา เราคิดว่าต้องมีใครสักคนที่คอยดูแลเขา และตัวบุ๋นเอง ก็เฟรนด์ลี่มาก เข้ามาทักทายเราก่อนเลย เขาชอบเรียกว่า ‘เพื่อนจ๋า’ มาถึงก็เปิดโทรศัพท์ แล้วให้ดูรูปตอนที่เขากินข้าว ตอนนั้นไม่ได้คิดอะไร แต่หลังจากนั้นมาเขาก็เปิดรูปตอนกินข้าวให้เราดูตลอด (หัวเราะ)…”

ซี บอกว่า จริง ๆ แล้วที่โรงเรียนพิบูลประชาสรรค์ ไม่ได้มีระบบบัดดี้อย่างเป็นทางการ แต่ภายในโรงเรียนมีสัดส่วนของนักเรียนพิเศษพอสมควร ทำให้สภาพแวดล้อมของนักเรียนและการปฏิบัติต่อเด็กพิเศษเป็นปกติมาก และที่ทำให้ทั้งสองคนตัวติดกันตลอด ซี เล่าว่าอาจจะเป็นเพราะ สนิท และเข้ากันได้ดี อยู่ด้วยกันตั้งแต่เข้าแถว จนเรียนจบช่วงเช้า เพราะ ช่วงบ่ายตนต้องไปซ้อมกีฬา เพราะเป็นนักกีฬาของโรงเรียนด้วย

สำหรับเรื่องการเรียน เป็นปกติมาก และคิดว่าสภาพแวดล้อมแบบเรียนด้วยกัน ช่วยให้เขาพัฒนาการได้ดีขึ้นด้วย เขาสามารถอ่าน เขียน คิดเลข และวิเคราะห์ได้เป็นปกติ แต่อาจจะมีช่วงที่ช้า ๆ กว่าคนอื่นบ้าง ส่วนในเรื่องอารมณ์ อาจจะมีอาการหงุดหงิดบ้าง แต่เป็น เพราะ เขาง่วง ถ้าเขาอารมณ์ไม่ดี เราก็บอกให้เขาใจเย็น ๆ แล้วเปิดการ์ตูนให้ดู เขาชอบดูเบ็นเท็นมาก เปิดเมื่อไหร่ ก็จะอารมณ์ดีขึ้นมาทันที

ส่วนหนึ่งที่ช่วยให้บุ๋น สามารถใช้ชีวิตร่วมกับเด็กคนอื่น ๆ ได้ ซี มองว่า เพราะ ครอบครัวของบุ๋นเองด้วย เวลาว่างคุณแม่ จะพาบุ๋นออกไปทำกิจกรรมน้องบ้านที่เขาสนใจเสมอ ทั้ง การทำอาหาร วาดภาพ ทำให้ตัวบุ๋นเองชอบวาดภาพมาก มีผลงานของเขาติดอยู่ที่หอศิลป์ฯ ด้วย ช่วงเวลาว่างทำให้บุ๋น มักจะวาดภาพอยู่เสมอ แต่ในขณะเดียวกันตัวเขาเองก็มีความฝัน คือ อยากเป็นครูคณิตศาสตร์

“เคยคุยกัน บุ๋นบอกว่า อยากเป็นครูสอนเลข ตัวเขาเองก็ชอบเรียนคณิตศาสตร์ ส่วนใหญ่ผมก็จะคอยสอน คอยแนะนำเขาด้วย ในขณะที่ตัวเขาเอง ก็จะช่วยเหลือด้านสภาพจิตใจของเรา ช่วยฮีลใจเราได้ ในเวลาที่เครียดจากการเรียน เขาจะคอยเข้ามาเล่นด้วย มาหอมแก้มเรา…”

เมื่อถามถึงในอนาคต เป็นห่วงน้องบุ๋นมากแค่ไหน ซี ตอบว่า เป็นห่วงเขาเหมือนกัน กลัวสภาพแวดล้อมที่บุ๋นต้องไปอยู่ ไม่เหมือนเดิม แล้วตอนนี้บุ๋นก็มีที่เรียนต่อแล้ว เป็นวิทยาลัยที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว ในขณะที่ตัวซีเอง ก็มีความชอบ และความฝันแตกต่างกัน มีโอกาสที่จะไม่ได้เรียนด้วยกันต่อไป แต่ก็คุยกันว่าจะหาเวลาว่างมาเจอกัน ช่วงเสาร์ – อาทิตย์ แล้วไปหากิจกรรมทำร่วมกัน

ก่อนซี จะฝากทิ้งท้ายถึงสังคม ที่อาจจะไม่เข้าใจถึงการใช้ชีวิตร่วมกันกับเด็กพิเศษว่า อยากให้มีทัศนคติเชิงบวก เพราะ ในตอนนี้ไม่ควรมีการแบ่งแยกกันแล้ว ต้องอยู่ร่วมกันให้เป็นเรื่องปกติ และที่สำคัญควรมีเวลาอิสระให้กับเขาด้วย ไม่ใช่ต้องดูแล หรือใกล้ชิดเขาตลอดเวลา ให้เวลาเขาได้วาดรูป หรือทำในสิ่งที่เขาชอบบ้าง เราต้องยอมรับ และให้โอกาสเขา สามารถให้เขาอยู่ร่วมกับเราได้อย่างปกติ และจะสามารถพัฒนาในด้านต่าง ๆ ได้เร็วมากขึ้น

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

โอกาสเข้าถึงการศึกษาเด็กพิเศษ

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active