สภาการศึกษาฯ เผย 10 ปีที่ผ่านมา พบ ‘บ้านเรียน’ เพิ่มขึ้นกว่า 20 % 

คาดจำนวนที่เพิ่มขึ้น เป็นผลจากโควิด-19   ขณะที่พบปัญหาความเข้าใจของเจ้าหน้าที่รัฐ ยังไม่สอดคล้องกับสิทธิของผู้เรียน เสนอ สพฐ. – สำนักงานเขตส่งเสริมบ้านเรียน บนหลักการมีส่วนร่วมและบนหลักสิทธิมนุษยชน แนะ กมธ. ร่าง พรบ.การศึกษาฉบับใหม่ ควรครอบคุมการศึกษาทุกรูปแบบ

วันนี้ (9 ธ.ค 2566)  สมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย ศูนย์ประสานสิทธิการศึกษาบ้านเรียนและศูนย์การเรียนไทย เปิดเผยตัวเลข การทำบ้านเรียน (Home School) ภาพรวมในประเทศไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นกว่า 18 – 20 %  ขณะที่ในช่วงการระบาดของโควิด 19  มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นอย่างชัดเจน คาดในช่วงการระบาดของโควิด ผู้ปกครองได้อยู่กับเด็กมากขึ้น ทำให้เข้าใจพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็กและออกแบบตามพฤติกรรม อีกหนึ่งเหตุผลระบุว่า มีช่องทางการสื่อสารเรื่องบ้านเรียนเพิ่มมากขึ้นในสังคมออนไลน์ ส่งผลให้พ่อแม่ผู้ปกครองรุ่นใหม่สามรถเข้าถึงข้อมูลและมีทางเลือกในการจัดการศึกษาได้มากขึ้น

ธรรณพร คชรัตน์ สบายใจ รองเลขาธิการ สมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย กล่าวว่า เมื่อปีที่แล้วมีเพียง 1,800 คน แต่ในเทอม 2 ของปีการศึกษา 2565 มีครอบครัวที่รับเงินอุดหนุนการศึกษาทางเลือกถึง 2,601  ครอบครัว  ที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานเขต จำนวนนี้ ยังไม่รวมกับบ้านที่ยังไม่ได้รับอนุญาต กว่า 100 คน  ในส่วนของข้อกังวลมีเพียงเรื่องเดียวคือเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานไม่สอดคล้องตามสิทธิมาตั้งแต่ต้น เพราะฉะนั้นถ้าครอบครัวเดินไปหาเจ้าหน้าที่เขต อาจจะได้รับการแนะแนวที่ไม่สอดคล้องกับสิทธิ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่เป็นสังกัดของ สพฐ. ซึ่งมีโรงเรียนในสังกัดของตัวเอง ฉะนั้นจะคุ้นชินกับระเบียบปฏิบัติที่ทำกับโรงเรียน แต่การศึกษาในรูปแบบของโฮมสคูลจะเข้มงวดเหมือนรูปแบบของโรงเรียนไม่ได้

“การจัดการศึกษาในครอบครัวเป็นเรื่องที่พ่อและแม่ จะต้องหาความรู้ ยิ่งก่อนที่จะจัดการเรียนรู้แบบบ้านเรียนถ้าได้เข้าร่วมกับการประชุมหารือเครือข่ายจะเข้าใจตัวเองมากขึ้นแล้วตัดสินใจ ได้ง่ายมากขึ้นว่าเขาพร้อมที่จะจัดหรือไม่  จะบอกว่าเราไม่เข้มงวดก็ไม่ใช่เพราะว่ากระบวนการเรียนรู้ของเด็กแตกต่างกัน อันนี้มีรายละเอียดเยอะ ขณะที่เจ้าหน้าที่หากเราอธิบายเขาอาจจะเข้าใจ แต่ถ้าไม่มีการอธิบายเจ้าหน้าที่ก็จะใช้แนวปฏิบัติที่ทำกับโรงเรียนมาบังคับให้ครอบครัวทำแบบโรงเรียน

ธรรณพร กล่าวว่า ตอนนี้ไม่เห็นทางที่จะทำความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะ สพฐ. ในยุคคณะทำงานชุดนี้ขาดการมีส่วนร่วมซึ่งเป็นผลทำให้การจัดการศึกษาภาคสังคมมีข้อจำกัด หากจะผลักดันเรื่องนี้ จะต้องหาจุดร่วม กับ สพฐ. ซึ่งที่ผ่านมาราชการใช้หลักกฏหมายตีความ ไม่สอดคล้องกับสิทธิในการจัดการศึกษาที่ประเทศไทยมี  การเพิ่มขึ้นของจำนวน ‘บ้านเรียน’ ไม่ได้เกี่ยวข้องเพียงเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ขณะผู้ที่สนใจจัดการเรียนการสอนเพิ่มขึ้นแต่เจ้าหน้าที่ไม่มีความเข้าใจหรือกฎหมายไม่ได้รับรองหรือยังไม่มีเครือข่ายที่จะเข้าไปสนับสนุน อาจจะเกิดกรณีที่เจ้าหน้าที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาขั้นพื้นฐานไม่อนุญาตให้ทำ 

“ต้องยอมรับว่านี่เป็นปัญหาระดับประเทศของโครงสร้างระบบการศึกษาที่มอบหมายให้หน่วยงานที่ไม่เหมาะสมมารับผิดชอบเรื่องของโฮมสคูล ซึ่ง ตอนนี้คณะกรรมาธิการกำลังร่าง พ.ร.บ.การศึกษา หากเจอข้อมูลหรือข่าวสารเกี่ยวกับการศึกษาทางเลือก จากสื่อ หรือสถานการณ์ทางสังคม แนะ ให้ ร่าง พ.ร.บ. การศึกษาให้ครอบคลุมสิทธิของภาคประชาชนในการจัดการศึกษาได้ดีมากขึ้น

ทั้งนี้ ปัญหาหลัก ใน 2-3 ปีที่ผ่านมา คือ สพฐ. แก้ไขเปลี่ยนแปลงคู่มือผิดหลักการในกฎหมายการศึกษาหลัก ทั้งไม่สอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศ รัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ โดยเฉพาะขัดแย้งกับระเบียบปฏิบัติของกระทรวงศึกษาธิการที่รับรองสิทธิทางการศึกษาโดยยึดหลักผู้เรียนเป็นสำคัญ

จึงเสนอให้ สพฐ. และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาปฏิบัติงานในภารกิจส่งเสริมสนับสนุนบ้านเรียน บนหลักการมีส่วนร่วมกับภาคประชาชน เนื่องจากการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยครอบครัวดำเนินการบนหลักสิทธิมนุษยชน

นอกจากนี้ ระบบการศึกษาทางเลือกไม่ได้ขึ้นกับฐานะทางเศรษฐกิจ แค่พ่อแม่เข้าใจเรื่องของสิทธิตัวเองในการสนับสนุนการศึกษาของลูกและเข้าใจว่ากฎหมายฉบับนี้ให้สิทธิ ประชาชนในการที่ให้เด็กเข้ารับการศึกษาในรูปแบบใดบ้างซึ่งมีหลายรูปแบบการศึกษาในระบบนอกระบบตามอัธยาศัยมีโรงเรียนมีสถานศึกษาในรูปแบบของศูนย์การเรียนหรือในรูปแบบบ้านเรียน กศน. ผู้ปกครองก็ต้องพิจารณาว่าเด็กเหมาะกับแบบไหนและแบบไหนจะช่วยส่งเสริมพัฒนาการการเรียนรู้ของลูกได้เหมาะสมกับวิธีการใช้ชีวิตของที่บ้านมันต้องเข้ากันได้

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active