โรงเรียนเล็ก ยังต้องอยู่คู่ชุมชน

เครือข่ายการศึกษาเตรียมยื่นข้อเสนอ “1 โรงเรียนขนาดเล็ก 1 นวัตกรรม” ยกระดับคุณภาพ  เพิ่มผลสัมฤทธิ์การเรียนให้ดีขึ้น สกัดการถูกยุบ กระทบสิทธิคนชายขอบ

ช่วงเวลาไม่น้อยกว่า 3 ปีที่ผ่านมา นับเป็นความท้าทายของเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมด้านการศึกษาส่วนหนึ่ง ที่พยายามยกระดับ “โรงเรียนขนาดเล็กระดับขั้นพื้นฐาน” หรือ โรงเรียนที่มีนักเรียนน้อยกว่า 120 คน ที่มีจำนวนกว่า 15,000 แห่งทั่วประเทศ เพื่อให้คงอยู่ต่อไปเป็นฐานการศึกษาของนักเรียนและชุมชน เนื่องจากตามนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ หนึ่งในนั้น คือ โครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษา “1 ตำบล 1 โรงเรียนคุณภาพ” โดยทุ่มงบประมาณลงไปยังโรงเรียนที่มีศักยภาพในฐานะ “โรงเรียนแม่เหล็ก” เพื่อให้เกิดการจัดการเรียนการสอนที่ดี และมีนักเรียนเข้าสู่โรงเรียนมากขึ้น

นั่นทำให้ 2 ใน 3 ของจำนวนโรงเรียนขนาดเล็กนั้น มีความเสี่ยงที่อาจจะ “ถูกยุบหรือควบรวม” กับโรงเรียนอื่น ๆ สะท้อนให้เห็นประเด็นด้านสิทธิการศึกษาของโรงเรียนขนาดเล็ก  รวมทั้งความเหลื่อมล้ำต่อเด็ก และชุมชนในสิทธิขั้นพื้นฐานด้านการศึกษา ทำให้เมื่อช่วงปี 2563 ที่ผ่านมาได้เกิดโครงการ  “ACCESS School : ชุมชนสร้างโรงเรียน โรงเรียนสร้างชุมชน” โดยการสนับสนุนจากสหภาพยุโรป(EU) ผ่านการทำงานของเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมด้านการศึกษาและชุมชน  เพื่อขับเคลื่อนนวัตกรรมการศึกษาเพื่อเด็กและชุมชน ในปีนี้จึงได้จัดงานเวทีสาธารณะ “ฟังเสียงโรงเรียนเล็กก้าวใหม่ ไปด้วยกัน” ในวันที่ 8 ธ.ค. 2565 ที่หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร 

The Active พูดคุยกับ เทวินฏฐ์  อัครศิลาชัย ผู้ประสานงานโครงการ และเลขาธิการสมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย กล่าวว่า นโยบายของ ศธ. นั้น ทยอยยุบ-ควบรวมโรงเรียนไปหลายแห่งแล้ว โดยเน้นไปที่การพัฒนาโรงเรียนแม่เหล็ก ทุ่มงบไปพัฒนาไม่ต่ำกว่า 20 ล้านบาท ทำโครงสร้างพื้นฐาน อาคารสถานที่ บางแห่งมีสระว่ายน้ำ แต่ทางเครือข่ายเชื่อว่าไม่ใช่แค่โรงเรียนใดโรงเรียนหนึ่งที่ดี แต่ต้องกระจายไปในชุมชนอย่างทั่วถึง เพราะ โจทย์สุดท้ายเด็กต้องกลับมาพัฒนาชุมชนของเขา

“เราตั้งเป้าไว้ 400 โรงเรียน ตอนนี้ทำไปแล้วเกือบ 200 แห่ง พิสูจน์แล้วว่าเมื่อนำนวัตกรรมการศึกษาแบบใหม่เข้ามาจำนวนนักเรียนก็เพิ่มขึ้น ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้น พัฒนาทักษะอาชีพของตนเอง และเชื่อมโยงตัวเขาเข้ากับชุมชน…”

เทวินฏฐ์ กล่าวว่า โรงเรียนในแต่ละชุมชน เป็นฐานของความสัมพันธ์ในชุมชน และที่สำคัญเงื่อนไขของ ศธ. ยังทีกำหนดอยู่ว่า ถ้าหากโรงเรียน ชุมชน ครู และผู้ปกครองยังยืนหยัด ว่าอย่างไรยังต้องมีโรงเรียนอยู่คู่ชุมชน ยังตั้งใจพัฒนาตนเองให้ดีขึ้น จะไม่สามารถยุบ-ควบรวมได้ เราจึงจำเป็นต้องหาวิธียกระดับโรงเรียนเหล่านี้ให้อยู่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โดยในวันที่ 8 ธ.ค. นี้ เทวิณฏฐ์ กล่าวว่า จะมีการยื่นข้อเสนอเชิงนโยบาย “1 โรงเรียนขนาดเล็ก 1 โรงเรียนนวัตกรรม” เพื่อให้การจัดการเรียนการสอนนั้นตอบโจทย์ความต้องการของผู้เรียน ชุมชน และโลกที่เปลี่ยนแปลง ที่ผ่านมาได้นำนวัตกรรมการเรียนรู้แบบ Active Learning มาปรับใช้ในโรงเรียนขนาดเล็ก ตามบริบทของแต่ละพื้นที่ และเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนในการบริหารจัดการศึกษา จากการสัมภาษณ์ ครูและผู้ปกครองพบว่า เด็กมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนดีขึ้น และเด็กมีความสุข ในการเรียน โดยปัจจุบันได้ใช้นวัตกรรมในโรงเรียนเครือข่ายจนเกิดผลสำเร็จกับเด็ก และครูกว่า 168 โรงเรียนในระยะเวลา 3 ปี 

สำหรับนวัตกรรมการศึกษานั้น เทวิณฏฐ์ ได้ยกตัวอย่างโรงเรียนต้นแบบนวัตกรรม 2 แห่ง ได้แก่ การใช้นวัตกรรมการเรียนการสอน “จิตศึกษา” และ “เครื่องมือสอนคิด” (Thinking Tools) เพื่อพัฒนาคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็กให้คงอยู่กับเด็กและชุมชนโดย “โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา” ที่เปลี่ยนแปลงการเรียนการสอนเชิงระบบด้วย จิตศึกษา, PBL (Problem-Based Learning) การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน และ PLC (Professional Learning Community) ชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ

นอกจากนั้น ยังมีการศึกษาผ่านนวัตกรรมการเรียนการสอนแบบ Active Learning ได้เอาปัญหารอบตัวมาเชื่อมโยงการเรียน ไม่ใช่แค่การเรียนผ่านหนังสือ แต่เป็นความชอบ ความสนใจของนักเรียน และมีเป้าหมายสู่การพัฒนาชุมชน อย่างต้นแบบ โรงเรียนสอนคิด (Thinking School) โดย โรงเรียนองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย 

ก่อนเทวิณฏฐ์ จะทิ้งท้ายว่า ข้อเสนอเชิงนโยบายต่อผู้กำหนด นโยบายด้านการศึกษานี้ เพื่อเป็นแนวทางการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็กบนฐานของสิทธิในการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิทธิของเด็กในชุมชนชายขอบและยากจน ให้พวกเขาสามารถเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ และเท่าเทียมได้ในอนาคต ผู้ใดสนใจร่วมฟังข้อเสนอ วงเสวนา และเข้าร่วมการเวิร์กช็อปฝึกวิธีคิดได้ วันที่ 8 ธ.ค. 2565 นี้ ตั้งแต่เวลา 10.30 น. เป็นต้นไป ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

Author

Alternative Text
AUTHOR

ธีร์วัฒน์ ชูรัตน์

เรียนจบกฎหมาย มาเป็นนักข่าว เด็กหลังห้อง ที่มักตั้งคำถามด้วยความไม่รู้