กสศ. เผยเด็กอยู่ใต้เส้นความยากจน 2.8 ล้านคน เด็กเล็กทักษะลดลง ชี้รัฐยังลงทุนไม่พอ

กสศ. เผยผลวิจัยล่าสุด ปี 66 การศึกษายังเหลื่อมล้ำรุนแรง พบข้อมูลรายได้ครัวเรือนยากจนพิเศษเหลือ 34 บาทต่อวัน น้อยกว่าเกณฑ์สากล 80 บาท ขณะที่เด็กเล็กมีทักษะทางคณิต-การฟังลดลง ย้ำชัดว่าไทยลงทุนในเด็กไม่พอ แนะรัฐออกนโยบายลงทุนเพื่อการศึกษาในทุกช่วงวัย เพื่อยุติวงจรความจนข้ามรุ่น

เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2566 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดสัมมนาทางวิชาการประจำปี “Equity Forum 2023 ทุนมนุษย์ยุติความเหลื่อมล้ำ” เพื่อรายงานสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาปี 2566 ด้าน ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ชี้ว่าเศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวได้น้อย ร่วมกับสถานการณ์เงินเฟ้อ เร่งให้ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษารุนแรงขึ้น เด็กที่จนอยู่แล้วก็ยิ่งหลุดออกจากระบบ แต่เด็กรวยก็มีโอกาสมากขึ้น ความเหลื่อมล้ำยิ่งถ่างกว้างมากขึ้นเป็นเหมือนรูป “ตัว K” และย้ำรัฐต้องดูแลครอบครัวเปราะบางก่อนสายเกินแก้

“เด็กที่มาจากครอบครัวที่มีความพร้อมมากกว่าจะสามารถฟื้นตัวจากภาวะถดถอยจากการเรียนรู้ได้มากกว่า และเด็กที่เข้าไม่ถึงโอกาสในการฟื้นฟูหรือหลุดจากระบบ จะกลายเป็นกลุ่มประชากรรุ่นที่สูญหายจากการเรียนรู้ (Lost Generation) หลักฐานเรื่องนี้ ยืนยันจากข้อค้นพบ ปัญหาทุนมนุษย์ช่วงวัยสำคัญ  โดยเฉพาะกลุ่มยากจนด้อยโอกาส”

ไกรยส ภัทราวาท

ไกรยส ระบุต่อไปว่า การพัฒนาทุนมนุษย์ในวันนี้จึงต้องเปลี่ยนไป ไม่ปล่อยให้เกิดการสูญเสีย หรือ เด็กเยาวชนให้หลุดออกจากระบบการศึกษา หรือไม่ได้รับการพัฒนาเต็มศักยภาพแม้แต่คนเดียว เพราะอัตราการเกิดที่ลดลงอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน เราจะเหลือเด็กเยาวชนให้ลงทุนได้น้อยลงทุก ๆ ปี ทุก ๆ วัน และนั่นหมายถึงโครงสร้างแรงงานและเศรษฐกิจในอนาคตจะสูญเสียแรงขับเคลื่อนสำคัญไปอย่างน่าเสียดาย  

วงสัมมนาดังกล่าวเปิดเผยว่า เพื่อให้ไทยออกจากกับดักรายได้ปานกลาง ภายในปี 2579 รัฐจำเป็นต้องลงทุนในทุนมนุษย์ เพื่อบรรลุการเพิ่มรายได้เฉลี่ยต่อคน ให้ถึง 40% ทุนมนุษย์ที่เพิ่มขึ้นจะนำไปสู่ฐานภาษีที่กว้างและลึกขึ้น ทำให้ประเทศสามารถมีภาษีนำไปลงทุนโครงสร้างและหมุนเวียนได้มากขึ้น จากการประเมินขององค์การ UNESCO พบว่าหากประเทศไทยสามารถยุติปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา GDP ประเทศไทยจะมีการเจริญเติบโตมากขึ้น ถึง 3%

จากรายงานรายงานสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาปี 2566 เปิดเผยว่ามีเด็กไทยอยู่ใต้เส้นความยากจนถึง 2.8 ล้านคน ในขณะที่ปี 2563 ตัวเลขยังไม่แตะหลักล้านด้วยซ้ำ และแม้จะมีนโยบายเรียนฟรี 15 ปี แต่ความยากจนยังเป็นอุปสรรคทำให้เด็กบางคนไม่สามารถมาเรียนได้ อยู่อย่างแร้นแค้น ไม่สามารถแบกรับภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาได้ นอกจากนี้ รายได้ของครัวเรือนยากจนและยากจนพิเศษปี 2566 ลดลงเหลือ 1,039 บาทต่อเดือน (ลดลง 0.48%) หรือวันละ 34 บาท ซึ่งน้อยกว่าเกณฑ์ความยากจนระดับนานาชาติประมาณ 80 บาท  

วงสัมมนายังเปิดเผยอีกว่า ยิ่งการศึกษาระดับสูง โอกาสที่เด็กกลุ่มเปราะบางจะได้เรียนต่อก็น้อยลงเรื่อย ๆ ปี 2566 มีนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษเพียง 1 ใน 10 คนเท่านั้นที่สามารถศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาได้สำเร็จ (21,921 คนหรือ 12.46%) ซึ่งต่ำกว่าค่าสถิติของทั้งประเทศมากกว่า 2 เท่า โดยค่าใช้จ่ายในการเข้ามหาวิทยาลัยคิดเป็น 12 เท่าของรายได้นักเรียนยากจนพิเศษ หรือราว 13,200 บาท – 29,000 บาท 

ทาง กสศ. ได้รวบรวมข้อมูลจากการสัมภาษณ์นักเรียนยากจนพิเศษที่เข้าศึกษาต่อผ่านระบบ TCAS พบว่า “ทุนการศึกษาคือปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่การตัดสินใจเรียนต่อ”  ขณะที่ค่าใช้จ่าย TCAS ถือว่าสูงเมื่อเทียบกับรายได้ของนักเรียนยากจนพิเศษ การสมัคร TCAS แต่ละรอบ/สาขา หมายถึงค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้น

ด้าน รศ. วีระชาติ กิเลนทอง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย (RIPED) ระบุว่า ความพร้อมด้านการอ่านและคณิตของเด็กปฐมวัยยังน่าเป็นห่วง แนะเร่งช่วยเด็กที่มีปัญหาก่อนสายเกินแก้ เพราะจะส่งผลไปถึงตอนที่เด็กเรียนในระดับประถม ขณะที่ความพร้อมด้านความเข้าใจในการฟังอยู่ในระดับที่น่ากังวล มีเด็กปฐมวัยทั่วประเทศถึงร้อยละ 25 ที่มีความเข้าใจในการฟังต่ำมาก 

“เราควรโฟกัสเด็กที่ไม่พร้อมโดยเฉพาะ เด็กที่ขัดสน มีโอกาสขาดความพร้อมสูงกว่า ควรให้ความสำคัญกับเด็กกลุ่มนี้มากเป็นพิเศษ เพราะเด็กกลุ่มนี้ต้องการความช่วยเหลือ และการช่วยเหลือเด็กกลุ่มนี้ก็ให้ผลตอบแทนส่วนเพิ่มที่สูงมากกว่าเด็กกลุ่มอื่น”

รศ. วีระชาติ กิเลนทอง

เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า จากการเก็บข้อมูลนักเรียนชั้น ม.3 ทั่วประเทศ พบว่าเด็กสูญเสียความพร้อมด้านอาชีพ (Career Readiness Loss) จากการประเมิน Soft Skill ทั้ง 7 ด้าน ได้แก่

  • ทักษะการคิดเชิงวิพากษ์
  • ทักษะความคิดสร้างสรรค์ 
  • ทักษะทุนทางจิตวิทยาเชิงบวก  
  • ทักษะการแก้ปัญหาทักษะความร่วมมือกัน
  • ทักษะความฉลาดทางอารมณ์  
  • ทักษะการสื่อสารระหว่างบุคคล  

โดยผลที่ได้ต่ำกว่าเกณฑ์ทั้งหมดลดลงถึง 30-50% โดยกลุ่มที่มีคะแนนทดสอบต่ำกว่าคะแนนเฉลี่ยมาจากครัวเรือนยากจน ขณะที่เด็กในโรงเรียนมัธยมทั่วไปจะลดลง 5-15% ดังนั้นถ้าเด็กยากจนกลุ่มนี้หลุดออกจากระบบการศึกษาจะมีชีวิตที่ลำบาก ไม่มีทักษะพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกอนาคต  

“นี่เป็นสภาพของเด็กที่จะเจอปัญหาหนักที่สุด แต่กลับมีความสามารถในการรับมือกับปัญหาต่ำที่สุด”

เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว

เกียรติอนันต์ ยังระบุว่า การศึกษาขั้นพื้นฐานมีแรงผลักดันเพียงพอทำให้ทุนมนุษย์ของประเทศไทยนั้นดีกว่านี้ได้ รัฐต้องส่งทุกคนให้จบ ปวส. หรือมีทักษะเทียบเท่าคนจบ ปวส. เด็กจะได้รับทักษะทุนมนุษย์ระดับต้น ซึ่งอาจจะเป็นการยกระดับทักษะให้เทียบเท่า 

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active