ไทยเผชิญ ภาวะฉุกเฉินการเรียนรู้ !

กสศ. ห่วง พัฒนาการเด็กประถมต้น ‘ถดถอย’ เท่าอนุบาล ย้ำถ้าเริ่มต้นไม่ดีมีโอกาสล้มเหลวในอนาคตสูง เร่งแก้ปัญหาก่อนเกิด Lost Generation จากรายงาน “ห้องเรียนฟื้นฟูหลังโควิด-19” พบ “ภาวะกล้ามเนื้อบกพร่อง” ส่งผลให้เขียนหนังสือช้า เรียนไม่รู้เรื่อง เครียด

ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กสศ. ชี้ว่า ขณะที่สถานการณ์การระบาดใหญ่โควิด-19 กำลังจะจบ ยังมีวิกฤตซึ่งเกิดจากผลกระทบในช่วงที่ผ่านมา ที่เราต้องเร่งรับมือ และแก้ไข โดยจากการศึกษาของ กสศ. พบว่า เรากำลังก้าวสู่ภาวะวิกฤตทางการเรียนรู้ และใน 1 ภาคเรียนที่ผ่านมาพบ ภาวะฉุกเฉินการเรียนรู้ที่เกิดกับเด็กทั้งประเทศ โดยเฉพาะ “เด็กช่วงชั้นประถมศึกษาตอนต้น

ผลวิจัยสถานะความพร้อมในการเข้าสู่ระบบการศึกษาของเด็กปฐมวัย (Thailand SchoolReadiness Survey: TSRS) เพื่อประเมินว่าเด็กมีความพร้อมที่จะเรียนรู้ได้อย่างเต็มศักยภาพเมื่อเข้าสู่ระดับประถมศึกษาหรือไม่ ซึ่ง กสศ.ร่วมวิจัย กับ รศ.วีระชาติ กิเลนทอง สถาบันสถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย (RIPED) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย วัดทักษะพื้นฐาน ด้านภาษา ด้านคณิตศาสตร์ และ Executive Functions (EFs) ของเด็กระดับอนุบาล 3 จำนวน 73 จังหวัด ระหว่างปี 2563 – 2565 พบว่า เด็กอนุบาล 3 ยุคโควิด-19 ขาดความพร้อมเข้าเรียนประถมต้นในปัจจุบัน ผลกระทบนี้ทำให้ เด็กปฐมวัยรุ่นนี้มีโอกาสเป็นเด็กหางแถวมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

“เด็กปฐมวัยที่มีภาวะการเรียนรู้ถดถอย มีโอกาสสูงที่จะประสบปัญหาการเรียนรู้ในระดับประถมศึกษา เพราะพวกเขา คือ เด็กอนุบาลยุคโควิด-19 ที่ข้ามมาเรียนชั้นประถมต้นในปัจจุบัน

การปิดเรียน และโควิด-19 ทำให้เด็กปฐมวัยเสียโอกาสเรียนรู้ ร้อยละ 90 ส่งผลให้เกิดภาวะฉุกเฉินทางการเรียนรู้

เด็กประถมต้นในวันนี้ มีพัฒนาการเท่าเด็กชั้นอนุบาล แม้เด็กจะเกิดผลกระทบจากการเรียนรู้ถดถอยทุกระดับชั้น

แต่ ประถมศึกษาตอนต้น คือ พื้นฐานสำคัญของการเรียน การอ่าน การคิดเลข ถ้าเริ่มต้นไม่ดี เรียนไม่รู้เรื่องตั้งแต่เล็ก โอกาสที่จะล้มเหลวในอนาคตสููง

ด้วยพื้นฐานที่ไม่แข็งแรง ทําให้มีโอกาสที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษาได้”

ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กสศ.

อ.ภูมิศรัณย์ กล่าวว่า สถานการณ์ฉุกเฉินนี้เกิดขึ้นทั่วโลก รายงานล่าสุดในการประชุมวิชาการนานาชาติเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา 2022 ระบุว่า เด็กเล็กมากกว่า 167 ล้านคนทั่วโลกสูญเสียโอกาสในการเข้าถึงบริการการศึกษาก่อนปฐมวัย

เด็กอายุ 10 ปี จากประเทศยากจนและรายได้ปานกลางไม่สามารถอ่านหนังสือหรือเข้าใจเรื่องราวง่าย ๆ ได้ เพิ่มขึ้นจาก 53% เป็น 70%

ขณะที่ 34% ของเด็กทั่วโลก มีภาวะความเครียด ซึมเศร้า และวิตกกังวลเพิ่มขึ้น นักการศึกษาทั่วโลกต่างเป็นห่วงกับสถานการณ์นี้ และพยายามกระตุ้นให้ประเทศต่างๆ ลงทุนในการแก้ปัญหาและมีแผนฟื้นฟูอย่างจริงจังโดยเร่งด่วน มิเช่นนั้นแล้ว เราอาจสูญเสียเด็กรุ่นนี้ไปทั้งรุ่น หรือ Lost Generation

สอดคล้องกับ ข้อค้นพบของโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง กสศ. เครือข่ายมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ที่ได้วิจัยเชิงพื้นที่เพื่อหาแนวทางฟื้นฟูพัฒนาการเรียนรู้ตลอดภาคเรียนที่ผ่านมา จำนวน 74 โรงเรียน ใน 6 จังหวัด ได้แก่ สตูล ปัตตานี สงขลา นครศรีธรรมราช ยะลา และนราธิวาส พบว่า

การทดสอบวัดสมรรถภาพความแข็งแรงกล้ามเนื้อมัดเล็กของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 จำนวน 1,918 คน ด้วยการวัดแรงบีบมือ นักเรียนจำนวน 98% มีแรงบีบมือต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ยของเด็กในวัยเดียวกัน ผ่านเกณฑ์เพียง 1.19% เท่านั้น และมากกว่า 50% จับดินสอผิดวิธี

อุดม วงษ์สิงห์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาคุณภาพ ครู นักศึกษาครู และสถานศึกษา กสศ. ระบุ ภาวะกล้ามเนื้อมือไม่แข็งแรง ส่งผลให้เขียนหนังสือช้า ควบคุมทิศทางการเขียนไม่ได้ การทรงตัวนั่งเขียนไม่ดี ทำงานเสร็จช้าไม่ทันเพื่อน เรียนไม่รู้เรื่อง มีภาวะเครียด ขาดเรียนบ่อยและจากการสังเกตพฤติกรรมในห้องเรียน 74 โรงเรียน โดย 14 สัญญาณเตือน ที่ค้นพบ อาทิ เด็กพูดเป็นคำๆ ไม่เป็นประโยค ,เล่าเรื่องไม่ได้ ,ท่าทางจับดินสอผิด เกร็งเมื่อยล้า ,เขียนได้ช้าหรือเขียนไม่เสร็จ,ตอบคำถามเป็นคำๆหรือประโยคสั้นๆ ,อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้แม้คําพื้นฐาน ,กระโดดขาเดียว และกระโดดสองขาพร้อมกันไม่ได้ ,เด็กบางคนมีอาการทางจิตใจ เช่น เครียด ไม่โต้ตอบ ไม่สื่อสาร แยกตัวจากเพื่อน งอแง ขาดเรียนบ่อย ไปห้องน้ำบ่อยและไปครั้งละนาน ๆ บางคนขอไปห้องพยาบาลเพราะปวดหัว ปวดท้องบ่อยจนผิดสังเกต ทั้งหมดนี้เพื่อเป็นแนวทางเบื้องต้นให้โรงเรียนและครอบครัวสังเกตบุตรหลานหรือลูกศิษย์ของตนเอง และช่วยกันฟื้นฟูให้ทันท่วงที

ผศ.พรพิมล คีรีรัตน์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตหาดใหญ่ โค้ชโครงงานฐานวิจัย โครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง(TSQP) กสศ. เสริมว่า การฟื้นฟูฐานกายและการเรียนรู้จะเห็นผลแบบค่อยเป็นค่อยไปเพื่อให้เด็กมั่นใจในการใช้ร่างกายเคลื่อนไหวแบบต่างๆ มีการทรงตัวที่มั่นคง จนเด็กรู้สึกไว้วางใจในศักยภาพของร่างกายตนเอง 1 สัปดาห์พบว่า เด็กมั่นใจขึ้น

รายงานห้องเรียนฟื้นฟูหลังโควิด-19 สรุปแนวทางการฟื้นฟูพัฒนาการเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัยและประถมศึกษาตอนต้นระดับโรงเรียนและครอบครัวไว้ ดังนี้

  • สังเกต วิเคราะห์พัฒนาการเรียนรู้ของเด็กๆที่เคยทำได้ แต่ไม่สามารถทำได้เหมือนเดิม
  • สํารวจสุขภาพจิตใจของเด็ก ๆ ว่ามีความสุขในการเรียนหรือไม่
  • หยุดการเร่งสอนเร่งเรียน ชะลอ 8 สาระวิชาเมื่อพัฒนาการและสมองยังไม่พร้อมเรียนรู้ยังทํางานได้ไม่เต็มที่ เพราะจะส่งผลเสียให้การเรียนเป็นความทุกข์และทำให้เด็กหันหลังให้กับห้องเรียน
  • ออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ใหม่ให้บูรณาการและสอดคล้องกับการพัฒนาฐานกาย เพื่อพัฒนากล้ามเนื้อมัดใหญ่ กระดูก ข้อแขน ขา ลำ ตัว และระบบประสาทสัมพันธ์ ทำอย่างจริงจัง ต่อเนื่องในช่วงชั้นประถมต้น
  • ฟื้นฟูได้เร็ว ครอบครัวกับโรงเรียนต้องทํางานประสานกัน จะเป็นภาระใครคนใดคนหนึ่งไม่ได้

ผู้อ่านที่สนใจสามารถดาวน์โหลด รายงานฉบับพิเศษ ห้องเรียนฟื้นฟูหลังโควิด-19 ได้ที่ : www.eef.or.th

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active