ห้องสมุดมีชีวิต! หวังสร้างสรรค์การเรียนรู้ทุกช่วงวัย

สถาบันอุทยานการเรียนรู้ หรือ TK Park ร่วมมือกับองค์กรส่วนท้องถิ่น พัฒนาแนวคิด “ห้องสมุดมีชีวิต” หวังสร้างพื้นที่เรียนรู้ในต่างจังหวัด ยกระดับการเรียนรู้ทุกช่วงวัย คาดลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำด้านความรู้

รายงานจาก กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ระบุว่า ช่วงปีการศึกษา 2560-2564 มีจำนวนเด็กยากจนพิเศษเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ชัดเจนมากที่สุด คือ ช่วงวิกฤตโควิด-19 มีตัวเลขพุ่งสูงถึง 1,244,591 คน และโรงเรียนปรับจากออนไซต์เป็นออนไลน์ ทำให้เด็กนักเรียนบางส่วนไม่สามารถเข้าถึงการเรียนออนไลน์ได้ ส่งผลให้มีเด้กหลยคนหลุดจากระบบ

ขณะที่ สถาบันอุทยานการเรียนรู้ (TK Park) ที่มีแนวทางทำงานเรื่องการทำห้องสมุดมีชีวิต มุ่งยกระดับการเรียนรู้ทุกช่วงวัย พัฒนาแนวทางการดำเนินงานขยายพื้นที่การเรียนรู้ในรูปแบบของออนไลน์และออฟไลน์ ที่ส่งเสริมระบบนิเวศแห่งการเรียนรู้ ให้บริการประเภทหนังสือและสื่อการเรียนรู้ที่ครบครัน รวมถึงการให้บริการด้านพื้นที่และการสร้างสรรค์กิจกรรม ที่สามารถตอบสนองความต้องการให้กับผู้คนทุกช่วงวัย

กิตติรัตน์ ปิติพานิช ผู้อำนวยการสถาบันอุทยานการเรียนรู้ กล่าวว่า จากตัวเลขของ กศส. ที่รายงานตัวเลขเด็กหลุดระบบการศึกษาจำนวนเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นมิติทางสังคม หรือเศรษฐกิจ จึงมีแนวคิดว่าต้องการลดความเหลื่อมล้ำ ด้วยการเป็น “ต้นแบบ” สร้างให้ทุกพื้นที่ คือ การเรียนรู้ เน้นให้คนเกิดการใฝ่รู้ สนใจเรียนรู้ตลอดทุกช่วงชีวิต โดยช่องทางการเข้าถึงแบบออฟไลน์ และให้บริการด้านออนไลน์ กับการให้บริการแอปพลิเคชัน TK Read ห้องสมุดดิจิทัลสาธารณะที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ที่มีอีบุ๊กภาษาไทยจากสำนักพิมพ์ชั้นนำ, อีแมกาซีน, หนังสือเสียง และคอร์สออนไลน์ รวมถึง Libby, by Overdrive อีบุ๊กภาษาอังกฤษ และ PressReader หนังสือพิมพ์และนิตยสารจากทั่วโลกให้บริการ

รวมทั้งได้ร่วมมือกับองค์กรภาคท้องถิ่น เช่น เทศบาล องค์การบริหารส่วนจังหวัด ในการสร้างสรรค์พื้นที่เรียนรู้ในจังหวัดต่าง ๆ เปิดบริการไปแล้ว 31 แห่งใน 24 จังหวัดทั่วประเทศ อีกทั้งสนับสนุนการพัฒนาสื่อและการให้บริการในรูปแบบห้องสมุดชุมชน ร่วมกับหน่วยงาน อาทิ ห้องสมุดพร้อมปัญญา กรมราชทัณฑ์, ห้องสมุดมีชีวิตในค่ายทหาร 19 แห่ง สมาคมแม่บ้านทหารบก,  ห้องสมุดประชาชนเฉลิมราชกุมารี 103 แห่ง สังกัด สำนักงาน กศน., ห้องสมุดมีชีวิตในโรงเรียนในรูปแบบตู้คอนเทนเนอร์ 76 แห่งร่วมกับ กรมโยธาธิการและผังเมือง, ศูนย์เรียนรู้ตำบล 200 แห่ง และ บ้านหนังสือ 15 แห่ง สังกัด กรุงเทพมหานคร 

“เมื่อพูดถึงความเหลื่อมล้ำไม่ได้มีแค่เด็ก ๆ ผู้ใหญ่ก็มี เกษตรกร คนทำงาน คนใช้แรงงาน คนหาเช้ากินค่ำจะเอาเวลาที่ไหนมาศึกษา หรือเข้าห้องสมุด เพราะฉะนั้นการขยายช่องทางการเข้าถึงเป็นออนไลน์ก็เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่เราพยายามทำให้ข้อมูลเข้าถึงประชาชนให้ได้มากที่สุด สิ่งเหล่านี้เราคาดวังว่าจะทำให้ประชาชนที่สนใจเขาได้รับทักษะใหม่ ๆ และเอาไปต่อยอดกับการใช้ชีวิตของเขา”

กิตติรัตน์ ปิติพานิช

กิตติรัตน์ กล่าวอีกว่า แม้จะยังไม่ได้มีการทำข้อมูลสถิติไว้ชัดเจนว่าการทำห้องสมุดเช่นนี้ สามารถดึงเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษากลับมาได้เท่าไร แต่อย่างน้อยการสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดีย เป็นวิธีการที่ง่ายที่สุดที่จะเข้าถึงผู้คนได้ แต่สิ่งเหล่านี้จะเป็นช่องทางให้กับกลุ่มคนที่เขายังต้องการที่จะเรียนรู้ และหวังว่านี่จะเป็นส่วนหนึ่งของการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

“เราไม่สามารถที่จะรับปากได้ว่าเราจะลดความเหลื่อมล้ำได้ด้วยแนวคิดเราเอง เราเป็นเพียงหนึ่งในอุปกรณ์ที่ทำให้คนกลับเข้ามาเรียนรู้ได้”

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active