นักการศึกษา ยัน “เด็กเก่ง ไม่อิงเกรด” สร้างด้วยบรรยากาศไม่กดดัน

บทพิสูจน์ 6 ปี รร.สาธิต มธ. เด็กค้นพบตัวเอง มีความสุข สอบแข่งขันกับโลกภายนอกได้จริง มีความสามารถในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการเรียนที่รวดเร็ว

The Active สัมภาษณ์พิเศษ รศ.อนุชาติ พวงสำลี หนึ่งในผู้ก่อตั้งคณะวิทยาการเรียนรู้ และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาธรรมศาสตร์ ทำการทดลองหลักสูตรสร้างผู้เรียนเป็น Active learning โดยไม่เน้นการแข่งขันตัดเกรด ต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 6 และ พบผลลัพธ์ผู้เรียนรุ่นแรก (ระดับชั้น ม.6) สอบ O-net 4 รายวิชาได้คะแนนค่อนข้างสูง บางคนสอบได้คะแนนเต็ม อ.อนุชาติ ย้ำแม้ผลการสอบครั้งนี้ อาจจะยังไม่สามารถสะท้อนผลลัพธ์ได้ 100% แต่สิ่งที่ชัดเจนที่สุด คือ ความสุขจากการเรียนรู้ และความสามารถในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการเรียนที่รวดเร็ว เพื่อรับมือกับสถานการณ์โควิด-19

“การลดทอนบรรยากาศที่เป็นการแข่งขัน ในทางวิชาการของเด็ก กลับทำให้เด็กมีความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ ทุกคนมีที่ยืนของตัวเอง… ไม่เหมือนกับการแข่งขันแบบชิงดี-ชิงเด่น แต่เป็นการแข่งขันกับตัวเอง ซึ่งเราพบว่า เด็กๆ มีความสุข”

รศ.อนุชาติ พวงสำลี หนึ่งในผู้ก่อตั้งคณะวิทยาการเรียนรู้ และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาธรรมศาสตร์

4 องค์ประกอบสร้างนิเวศน์การเรียนรู้

รศ.อนุชาติ เล่าว่า โรงเรียนสาธิต มธ. เดินหน้าหลักสูตรการเรียนการสอน ที่อยู่บนแนวคิดสร้างระบบนิเวศในโรงเรียนโดยไม่เน้นการแข่งขันมาเป็นระยะเวลา 6 ปี พบผลลัพธ์ที่สัมผัสได้คือ พฤติกรรมเด็กมีความยืดหยุ่น รับการเปลี่ยนแปลงได้เร็ว และเด็กมีพลังในการเรียนรู้ค่อนข้างสูง ซึ่งหัวใจสำคัญของ โรงเรียนสาธิต มธ.ประกอบด้วยหลักการสำคัญคือ

  1. หลักการสร้างพื้นที่ปลอดภัยในห้องเรียน ซึ่งไม่ได้ถึงปัจจัยทางกายภาพเพียงอย่างเดียว แต่หมายถึงความปลอดภัยที่นักเรียนจะสามารถเข้าหาคุณครูได้ เราต้องการให้ผู้เรียนปลอดภัยในทุกพื้นที่ของโรงเรียน
  2. เราให้ความสำคัญกับ Active learning ซึ่งไม่ใช่แค่การจัดห้องเรียนให้ทุกคนมีส่วนร่วมเท่านั้น แต่ครูต้องมั่นใจด้วยกระบวนการที่สอนจะทำให้เด็กค้นพบศักยภาพในตัวเองได้ หรือต้องรู้สึก “ว้าว” กับความสามารถที่มีและคิดต่อยอดได้ การค้นพบตัวเองเด็ก ๆ เป็นสิ่งที่เด็ก ๆ สามารถทำได้ เพราะเด็กทุกคนมีความแตกต่างหลากหลาย ไม่จำเป็นต้องมาจากคนมีฐานะรวย หรือยากจนเท่านั้น
  3. ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครอง กับ โรงเรียน เป็นประเด็นสำคัญที่จะช่วยสร้างนิเวศการเรียนรู้ โรงเรียนต้องคิดต่อที่จะรื้อฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครอง กับ โรงเรียน ให้มีความเข้าใจที่สอดคล้องช่วยเหลือกันให้ได้มากที่สุด การทำงานระหว่างผู้ปกครอง กับ โรงเรียน จำเป็นต้องร่วมกันวิเคราะห์ และมองว่าเรามีธรรมชาติของผู้ปกครองแบบใดบ้าง และต้องย้ำว่านี่ไม่ใช่ความสัมพันธ์เพียงแค่การนำลูกมาฝากไว้ที่โรงเรียนเท่านั้น อาจารย์อนุชาติ ยังได้ยกตัวอย่างการทำห้องเรียนพลัสวัย ด้วยการเปิดเวิร์คชอปให้ความรู้ มีวิทยากร เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจระหว่าง ผู้ปกครอง โรงเรียน และนักเรียน ให้สามารถเติบโตได้อย่างเหมาะสมตามช่วงวัย
  4. สิ่งสำคัญถัดมาคือ การใช้หลักสูตรเฉพาะของ สาธิต มธ. ที่ต้องการสร้างบรรยากาศให้เด็กค้นพบตัวเองโดยไม่ถูกกดดันจากคะแนนสอบ แม้เวลานี้จะยังไม่สามารถตอบได้ 100% ว่าเด็ก ๆ ทุกคนประสบผลสำเร็จทางการศึกษา แต่ก็อดมั่นใจเล็ก ๆ ไม่ได้ว่า เด็กน่าจะมีความสามารถปรับตัวทำข้อสอบ หรือ เรียนในระบบที่เปลี่ยนแปลงช้าได้ดี ที่มั่นใจแบบนี้เพราะทางโรงเรียนได้เก็บข้อมูลเด็กรายบุคคล เฉพาะระดับชั้น ม.6 เพื่อดูว่าเด็กแต่ละคนมีความสนใจไปในทางใด ซึ่งพบว่า ทุกคนจะมีเข้มมุ่งค่อนข้างชัดเจนโดยอัตโนมัติ

ส่วนที่พ่อแม่จะเป็นห่วงว่าจะไปสอบแข่งกับคนอื่นได้หรือไม่ ช่วง 3 ปีมาแล้ว เราชวนเด็กไปสอบ O-Net ที่ทางกระทรวงฯ จัด ให้เด็กที่มีความสมัครใจ 70-80% ไปสอบ O-net โดยไม่ติวเด็ก ๆ ล่วงหน้า มีเพียงการอธิบายว่าการสอบ O-net ต้องเจอรูปแบบใดในข้อสอบบ้าง และให้ลงมือทำอย่างที่นักเรียนมั่นใจ และเข้าใจจริงๆ ผลที่ออกมาคะแนนทั้ง 4 รายวิชาที่สอบค่อนข้างสูงมากที่เดียว เราไม่อยากใช้บอกว่าอันนี้สำเร็จหรือไม่ หลายคนทำคะแนนเต็ม

…เราชวนเด็กไปสอบ O-Net โดยไม่ติวล่วงหน้า ผลที่ออกมาคะแนนทั้ง 4 รายวิชาที่สอบค่อนข้างสูงมากที่เดียว เราไม่อยากใช้บอกว่าอันนี้สำเร็จ หรือไม่ และหลายคนทำได้คะแนนเต็ม…

รศ.อนุชาติ พวงสำลี หนึ่งในผู้ก่อตั้งคณะวิทยาการเรียนรู้ และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาธรรมศาสตร์

รศ.อนุชาติ ทิ้งท้ายว่าหัวใจสำคัญของการศึกษา คือ ต้องปักหมุดหมายของตัวผู้เรียนให้ได้ ไม่จำเป็นจะต้องเหมือนกันทั้งหมด ผมเชื่อว่า โลกแห่งอนาคต เป็นโลกที่ยากจะจินตนาการไปถึง เราไม่รู้ว่าอาชีพในอนาคต คืออะไร และแอบคาดหวังลึก ๆ ด้วยว่า เด็กรุ่นใหม่ หรือ รุ่นนี้จะปั้นอาชีพใหม่ ๆ ในอนาคต เป็นข้อเท็จจริงที่พิสูจน์แล้วว่า เด็กรุ่นใหม่มีรูปแบบการเรียนรู้ต่างจากรุ่นเก่าอย่างสิ้นเชิง จินตนาการความสำเร็จต่างกันสิ้นเชิง… สำคัญว่า ถ้าเราวางหมุดหมายระบบโรงเรียน ให้ไต่ไปสู่ทักษะสมรรถนะ ให้เอื้อต่อศักยภาพอันหลากหลาย อันนี้จะเป็นความหวังของการสร้างคนในอนาคตได้ การสร้างความชัดเจน และไม่จำกัดเส้นทางเรียนรู้ที่คับแคบ จะมีเป็นโอกาสที่ต่อยอดในอนาคตได้เยอะมาก

“ผมคิดว่า หัวใจสำคัญของระบบการศึกษา อยากให้วางอยู่บนความไว้วางใจว่าเด็กเรามีศักยภาพ มีความสามารถเรียนรู้และเติบโต เรามีหน้าที่ส่งเสริมสนับสนุน คอยให้กำลังใจ เราเป็นห่วงได้แต่อย่าทำแทน

รศ.อนุชาติ พวงสำลี หนึ่งในผู้ก่อตั้งคณะวิทยาการเรียนรู้ และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาธรรมศาสตร์

Author

Alternative Text
AUTHOR

บุศย์สิรินทร์ ยิ่งเกียรติกุล

เรียนจบสายวิทย์-สังคมฯ-บริหารรัฐกิจฯ ทำงานไม่ตรงสาย และกลายเป็น "เป็ด" โดยไม่รู้ตัว สนใจการเมือง จิตวิทยาเด็ก วิธีคิดการมองสังคม และรักการสัมภาษณ์ผู้คน