สภาเด็กและเยาวชน กทม. ขอ 1 แสนรายชื่อ ผ่าน Change.org เตรียมร้อง นายกฯ และ รมว.ศธ.เสนอรัฐเพิ่มงบเรียนฟรีครอบคลุมค่าใช้จ่ายแฝง สอดคล้องค่าครองชีพ ยันต้องไม่มีใครถูกพรากจากการศึกษา เพราะไม่มีเงิน
สภาเด็กและเยาวชนกรุงเทพมหานคร (สดย.กทม.) สร้างแคมเพนรณรงค์ ร้อง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระบุที่ผ่านมา นักเรียนหลายคนต้องหลุดออกจากโรงเรียนแบบกระทันหัน ทั้งจากปัญหาครอบครัว และเงินทอง แต่ขณะเดียวกันต้องยอมรับว่า นโยบายด้านการศึกษายังไม่สามารถสนับสนุนนักเรียนได้อย่างเพียงพอ ส่งผลให้นักเรียนหลายคน โดยเฉพาะเด็กที่มีฐานะยากจน ยังคงอยู่ในวังวนความเหลื่อมล้ำ กลุ้มใจ และไม่มั่นใจว่า วันถัดไปจะเข้าเรียนได้เหมือนเพื่อนคนอื่นหรือไม่ ? เพราะการมาโรงเรียน เต็มไปด้วยค่าใช้จ่ายมากมายที่ขาดการสนับสนุนโดยรัฐอย่างเต็มที่
โดยมีข้อเสนอให้รัฐเพิ่มงบประมาณเรียนฟรีให้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายแฝง และสอดคล้องกับค่าครองชีพของผู้ปกครองในยุคปัจจุบัน ล่าสุดมีผู้มาลงชื่อผ่านเว็บไซต์ Change.org อย่างต่อเนื่องภายใต้หัวข้อ “เรียนฟรีต้องฟรีจริง” ฟรีอย่างเสมอภาค นักเรียนต้องไม่ถูกพรากจากการศึกษาเพราะไม่มีเงิน
แม้รัฐจะส่งเสริมเรียนฟรี 15 ปี และเพิ่งประกาศว่า ครม. จะให้เงินลดภาระค่าใช้จ่ายกับนักเรียน 11.5 ล้านคน ทั้งในระบบ นอกระบบ และกลุ่มที่จัดการศึกษาโดยสถานประกอบการ โดย ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ แถลงข่าวว่า การเพิ่มงบเรียนฟรีครั้งนี้จะช่วยลดค่าใช้จ่าย ลดความเหลื่อมล้ำ ให้นักเรียนมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาทุกคน งบประมาณ 8,000 ล้านบาท
แต่ก็ถูกตั้งข้อสังเกตว่า หมวดที่เรียกว่า เงินอุดหนุนปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจนไม่ปรับเพิ่ม 10 กว่าปีที่ผ่านมา ก็ให้แค่เด็กประถม กับ ม.ต้น ไม่เคยให้เด็กอนุบาลกับ ม.ปลาย ดูไม่สอดคล้องกับสภาพสังคมและค่าครองชีพที่สูงขึ้น โดยพบว่า รายละเอียดค่าใช้จ่ายที่ภาครัฐเพิ่มให้เป็น ค่าชุดนักเรียน 1 ชุด และอีก 1 ชุด สำหรับนักเรียนยากจน ที่ผู้ปกครองถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ส่วนค่าอุปกรณ์การเรียน ค่ากิจกรรม และค่าใช้จ่ายจัดการเรียนการสอน ก็ยังไม่เห็นการสนับสนุนที่ชัดเจน และยังไม่มีงบประมาณส่วนไหนที่เพิ่มให้กับศูนย์การเรียน ทั้งที่พ่อแม่-ผู้ปกครองหลายคนตกอยู่ในสถานการณ์ยากลำบาก จากโรคระบาดโควิด-19 ประกอบกับภาวะเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น ค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาจึงเป็นภาระใหญ่ที่เพิ่มขึ้นตามมาด้วย
ค่าขนม ค่าเดินทาง ค่าบำรุงการศึกษา ทั้งหมดนี้เป็น ค่าใช้จ่ายแฝงที่แพงขึ้นมาก พ่อแม่ของหลายคนแทบจะส่งลูกเรียนไม่ไหว ยิ่งเห็นได้ชัดจากสถิติว่า นักเรียนกว่า 1.9 ล้านคนที่เสี่ยงหลุดจากการศึกษา ครอบครัวมีรายได้เฉลี่ยแค่ 1,094 บาท (ซึ่งต่ำกว่าเส้นความยากจนในประเทศเกือบ 3 เท่า) ผู้จัดทำแคมเพนจึงมองว่า “เงิน” ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญของการศึกษา โดยเฉพาะกับนักเรียนยากจน
สภาเด็กและเยาวชน กทม. เรียกร้อง นายกฯ ปรับปรุงนโยบายเรียนฟรี
“ในนาม สภาเด็กและเยาวชนฯ ขอเป็นกระบอกเสียงของ เด็กนักเรียนทั่วประเทศทุกคน วอนขอผู้ใหญ่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องต่อการพิจารณาอนุมัติงบประมาณเรียนฟรี ให้เพิ่มงบเพื่อช่วยเหลือนักเรียนไทยที่กำลังเสี่ยงหลุดจากการศึกษา ช่วยส่งข้อเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี เพราะจะมีส่วนช่วยสำคัญต่อเด็กนักเรียนที่จะกลายเป็นกำลังหลักของชาติในวันข้างหน้า
เรา และเพื่อน ๆ เครือข่ายเด็กเยาวชนในพื้นที่สูงในถิ่นทุรกันดาร พร้อมเครือข่ายภาคสังคม อยากชวนทุกคนร่วมลงชื่อเพื่อสนับสนุนข้อเสนอการปรับปรุงนโยบายเรียนฟรี เพื่อนำเสียงสนับสนุนจำนวน 100,000 รายชื่อไปมอบให้ ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ และ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยมีข้อเรียกร้องปรับปรุงนโยบายเรียนฟรี ดังนี้
- โครงการเรียนฟรี 15 ปี ยังช่วยนักเรียนยากจนแค่ชั้นประถม ถึง ม.ต้น เพียงแค่ 9 ปี ยังไม่ครอบคลุม 15 ปีเหมือนชื่อโครงการ พวกเราคิดว่านักเรียนยากจนทุกคนควรได้รับเงินช่วยเหลือตรงนี้ คือ เพิ่มระดับชั้นอนุบาล และ ชั้น ม.ปลาย ที่เป็นนักเรียนยากจน ให้ได้รับเงินสนับสนุนเหมือนกัน
- ตอนนี้ อัตราเงินอุดหนุนปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจนในแต่ละปี เด็กประถมจะได้คนละ 1,000 บาท (เฉลี่ยวันละ 5 บาทเท่านั้น) เด็ก ม.ต้น ได้คนละ 3,000 บาท (เฉลี่ยตกวันละ 15 บาท) ซึ่งไม่เพียงพอกับราคาของที่แพงขึ้น อยากให้รัฐปรับงบที่ให้สอดคล้องกับค่าครองชีพในปัจจุบัน คือ เด็กอนุบาลต้องได้คนละ 1,000 บาท เด็กชั้นประถมศึกษาควรได้คนละ 2,000 ม.ต้น ได้คนละ 4,000 บาท และเด็กม.ปลาย คนละ 6,000 บาท ครอบคลุมการศึกษาทุกสังกัด และทุกสถานศึกษา เพื่อให้เด็กเยาวชนทุกคน โดยเฉพาะนักเรียนยากจน ได้เรียนฟรีอย่างเสมอภาค 15 ปีจริง
ก่อนหน้านี้ เราเคยเห็น กสศ. จัดเวทีนำเสนอผลวิจัยเพื่อบอกว่าถึงเวลาต้องปฏิรูปนโยบายเรียนฟรี เพราะไม่เคยปรับเงินอุดหนุนมานานแล้ว ทั้งที่งบฯ ตรงนี้ควรถูกปรับให้สอดคล้องกับเงินเฟ้อ และค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นตลอด 15 ปีที่ผ่านมา และเพิ่มงบฯ มุ่งเป้าเพื่อช่วยเหลือนักเรียนยากจน 1.9 ล้านคน ให้มีโอกาสที่เสมอภาคเท่ากันกับนักเรียนคนอื่น ๆ
อย่าปล่อยให้เด็กไทยหลุดจากระบบการศึกษา พวกเราเชื่อว่า หนึ่งชื่อของทุกคนช่วยเหลืออนาคตนักเรียนไทยได้อีกนับล้าน เราจะนำรายชื่อทั้งหมดนี้ส่งต่อให้กับกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อนำเสียงสนับสนุนที่ทุกคนลงชื่อในนี้ ไปผลักดันนโยบายเรียนฟรีในคณะรัฐมนตรีให้ปรับเปลี่ยนในปีงบประมาณ 2566 ต่อไป เราหวังว่าในวันนึง เพื่อนของเราที่ฐานะยากจนจะไม่ต้องพะวง และมาเรียนอย่างกลุ้มใจอีกต่อไป