เปิดพื้นที่เรียนรู้เทคโนโลยี นวัตกรรม สร้าง Citizen Science และกิจกรรมกระตุ้นการลงทุน เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจทั่วกรุงเทพฯ นักวิชาการ หนุน Hack BKK ต่อยอด ทราฟฟี ฟองดูว์ แก้ปัญหา กทม.
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า สำหรับ 12 เทศกาลตลอดปีทั่วกรุงเทพฯ ที่ผ่านมา 2 เดือน มีเรื่องศิลปะ คือ ดนตรีในสวน และหนังกลางแปลง แต่วิสัยทัศน์หลักคือทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน จึงเล็งเห็นว่างานวิทยาศาสตร์ก็มีความสนุกได้ไม่แพ้งานศิลปะ รองผู้ว่าฯ ศานนท์ หวังสร้างบุญ จึงได้คิดโจทย์ออกมาเป็น “บางกอกวิทยา” ซึ่งเหมือนกับชื่อโรงเรียน เปรียบเสมือนห้องเรียนขนาดใหญ่
“กรุงเทพฯ ก็เหมือนกับห้องเรียนขนาดใหญ่ เราแปลงห้องเรียนวิทยาศาสตร์จากภายในห้องเรียนมาอยู่ทั้งกรุงเทพฯ จะมีการจัดงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ โดยให้ทั้งความรู้ ความสนุก และความบันเทิง ระยะเริ่มต้นนี้ เรามีภาคีเครือข่าย 4 ราย ได้แก่ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) บริษัท เทคซอส มีเดีย จำกัด (Techsauce) และสมาคมไทยสตาร์ทอัพ นอกจากนี้ เรายังเปิดรับหน่วยงานที่ต้องการเข้าร่วมเป็นเครือข่ายเพิ่มเติมด้วย”
ผู้อำนวยการ อพวช. กล่าวว่า อยากให้วิทยาศาสตร์เป็นเรื่องสนุก เป็นเรื่องที่ทุกคนเข้าถึงได้ และเชื่อว่า “บางกอกวิทยา” ที่จัดร่วมกับ กทม. จะทำให้ทุกท่านได้พบกับความสนุกสนาน อยากให้ทุกท่านเปิดใจ เข้ามาลองดู เพราะวิทยาศาสตร์ไม่ได้น่ากลัว และวิทยาศาสตร์ใกล้ตัวเรากว่าที่คิด ทุกท่านที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมจะมีความรู้สึกที่ดีขึ้นกับวิทยาศาสตร์ สามารถนำวิทยาศาสตร์ไปใช้ประโยชน์ได้ในชีวิต ในการพัฒนาชุมชน และในการพัฒนาประเทศ แล้วเราเชื่อว่าเราจะร่วมมือกันทำวิทยาศาสตร์ให้สนุกสนานได้
“นอกจากนี้ ทาง อพวช. ยังมีพื้นที่ เดอะ สตรีท รัชดา เราเป็นจัตุรัสวิทยาศาสตร์ และเราพร้อมที่จะร่วมมือกับ กทม. ในการเริ่มบางกอกวิทยาให้เร็วขึ้น ซึ่งได้เรียนท่านผู้ว่าฯ ไปว่า ถ้าอาทิตย์หน้าพร้อม เราสามารถเริ่มได้เลย เรามีกิจกรรมที่อยู่ในมือแบบง่าย ๆ สนุกสนาน และให้คนกรุงเทพมีส่วนร่วมกับ ‘บางกอกวิทยา’ ได้เลย ยกตัวอย่างเช่น เรื่องของการถ่ายภาพ อาจจะกำหนดให้ถ่ายภาพอะไรก็ได้ที่เป็นวิทยาศาสตร์ ธรรมชาติรอบ ๆ ตัว ซึ่งเดี๋ยวทีมงานจะกำหนดธีมกัน แล้วก็ประกวดกันเลย มีติดแฮชแท็ก ให้รางวัล”
ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวเพิ่มเติมว่า อีกสิ่งที่น่าสนใจ คือ Maker Space ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญสำหรับงานเกี่ยวกับนวัตกรรม (innovation) เป็นเหมือนห้องปฏิบัติการที่คนสามารถมาสร้างหรือประดิษฐ์สิ่งของได้ เช่น มีโรงไม้ เลื่อย เครื่องพิมพ์ 3 มิติ (3D Printer) ที่สามารถพิมพ์ขึ้นรูปผลิตภัณฑ์ออกมาได้ มีอุปกรณ์ตัด เป็นต้น ในต่างประเทศที่มีศูนย์นวัตกรรมจะต้องมี Maker Space เพื่อให้คนสามารถนำไอเดียมาผลิตเป็นสิ่งของได้ ในอนาคต กทม.อาจจะสร้าง Maker Space เพื่อให้เด็ก เยาวชน ประชาชน สามารถมาผลิตสิ่งของได้ เพราะคนทั่วไปไม่สามารถซื้อ 3D Printer ได้ แต่จะสามารถมาแชร์อุปกรณ์ส่วนกลางได้ เป็นการเปิดเวทีให้คนสามารถนำไอเดียมาพัฒนาเป็นสิ่งของที่จับต้องได้ ซึ่งเป็นแนวคิดที่จุดประกายความฝันที่กทม.ตั้งใจจะทำให้เกิดขึ้นต่อไป
ด้านการบูรณาการเรื่องวิทยาศาสตร์ให้เข้ากับหลักสูตรของโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร รองผู้ว่าฯ ศานนท์ กล่าวว่า กิจกรรมที่ สวทช. จะจัดขึ้นที่พิพิธภัณฑ์เด็ก จะมีการสอนเรื่องของ coding ซึ่งเรามองว่าหลักสูตรต่าง ๆ ของกทม.ควรจะเพิ่มเรื่องของ coding และ AI เข้าไป เบื้องต้นคือลองดูผลตอบรับจากกิจกรรมที่จะจัดขึ้นก่อนว่าจะสามารถเข้าในหลักสูตรใดได้บ้าง ส่วนกิจกรรมที่ อพวช. จัดขึ้น เราจะให้เด็กในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครร่วมกิจกรรมที่สามย่านมิตรทาวน์ด้วย โดยเลือกนักเรียนห้องวิทยาศาสตร์หรือนักเรียนที่มีความสนใจไปร่วมกิจกรรมครั้งนี้
“สิ่งที่สำคัญอีกอย่างคือ กทม.ไม่ได้เก่งวิทยาศาสตร์ แต่ กทม. มีพันธมิตรที่เก่ง การจะทำงาน ‘บางกอกวิทยา’ จึงต้องหาแนวร่วม เรามีสถานที่ เราเก่งเรื่องกฎระเบียบ เพราะฉะนั้น เราต้องหาคนที่เก่ง หาพันธมิตรที่สามารถให้เนื้อหาที่ตอบโจทย์ประชาชนได้ และระยะต่อไปเราจะต้องพัฒนาข้อมูลพิพิธภัณฑ์เด็กให้มีความอัปเดต และหาพันธมิตรเก่ง ๆ เข้ามาช่วย”
สำหรับกิจกรรม “บางกอกวิทยา” คือ เทศกาลวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งเป็น 1 ใน 12 เทศกาลตลอดปีทั่วกรุงเทพฯ ที่จะจัดขึ้นในเดือนสิงหาคมนี้ เพื่อเปลี่ยนกรุงเทพให้เป็นห้องเรียนวิทยาศาสตร์ขนาดใหญ่ สร้างกิจกรรมที่คนกรุงเทพฯ และนักท่องเที่ยวจากต่างจังหวัดหรือต่างประเทศสามารถเข้าร่วม เป็นการกระตุ้นยอดขายจากงานเทศกาล เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ
ตารางกิจกรรมโดยสังเขปมีดังนี้
• ต้นเดือนสิงหาคม (ยังไม่ระบุวัน) กิจกรรม Kick off บางกอกวิทยา ณ เดอะสตรีท รัชดา เขตดินแดง เปิดพื้นที่เรียนรู้สร้างสรรค์แห่งใหม่ใจกลางกรุง เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้เสริมสร้างทักษะด้านการเป็นนักประดิษฐ์ นักวิทยาศาสตร์ สร้างแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ด้วยตัวเอง
• วันที่ 17-21 ส.ค. 65 กิจกรรม Science Carnival Bangkok โดย อพวช. ณ สามย่านมิตรทาวน์ เขตปทุมวัน เป็นกิจกรรมที่ผสมผสานระหว่างศิลปะ นวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน โดยจัดทำเป็น Immersive Experince เช่น Showcase นวัตกรรมปลุกชีวิต Innovation of life, Science alive projection mapping เล่าเรื่องวิทยาศาสตร์ ผ่านกราฟิก, ระบบ Intractive ประสาทสัมผัสทั้ง 5 ด้วยระบบเทคโนโลยี, เพราะพื้นที่พูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ จากนวัตกรหลากหลายด้าน เพื่อสร้างนวัตกรรมที่ปลุกชีวิตและสังคมยั่งยืน พร้อมการเรียนรู้เรื่องอาหารแห่งอนาคต
• วันที่ 20-21 ส.ค. 65 กิจกรรม KIDBRIGHT โดย สวทช. ณ พิพิธภัณฑ์เด็กกรุงเทพมหานครแห่งที่ 1 (จตุจักร) เขตจตุจักร เปิดสนาม formula kid 2022, formula kid 2021 สนาม AIBot Tournament ส่งเสริมการแข่งขันการสร้างหุ่นยนต์ขับเคลื่อนและการประดิษฐ์บอร์ดรับคำสั่งระยะไกล
• วันที่ 19-25 ส.ค. 65 กิจกรรม Inoovation Week ได้แก่
– 19 ส.ค. 65 กิจกรรม Techbite 4.0 Summer 2022 Demo Day ณ KX ศูนย์บริการทางการศึกษาในเมือง กรุงธนบุรี เขตคลองสาน สำหรับผู้มีไอเดียทางนวัตกรรม มุ่งพัฒนาศักยภาพต่อยอดธุรกิจ โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากอุตสาหกรรมต่างๆ ทั่วทุกมุมโลกให้คำแนะนำ
– 23 ส.ค. 65 กิจกรรม Fight to Web 3.0 (รอประกาศสถานที่) พื้นที่ทำความรู้จักกับ 3 เว็บไซต์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อวิเคราะห์มูลรอบตัวได้ใกล้เคียงกับมนุษย์มากที่สุด
– 24 ส.ค. 65 กิจกรรม Envisioning the Future ณ Gaysorn เขตปทุมวัน โดย Techsauce พบกันนักธุรกิจ unicorn startup ของประเทศไทย และการสร้าง rooftop networking
– 23-25 ส.ค. 65 กิจกรรม Hack BKK โดย TSTA ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เพื่อหาแนวทางการพัฒนากรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน โดยใช้เทคโนโลยีและวิธีคิดแบบสตาร์ทอัพ สร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้ริหาร กทม. และสตาร์ทอัพ ขับเคลื่อนงานของกรุงเทพมหานคร และส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมระหว่างรัฐและภาคประชาชน
ขวัญข้าว คงเดชา นักวิชาการ สำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า กิจกรรม Hack BKK อาจใช้แนวทางประยุกต์จาก hackathon กระบวนการประลองความคิดการแก้ปัญหาในเรื่องต่าง ๆ อย่างสร้างสรรค์ เป็นการสร้างพื้นที่ประชาธิปไตยให้เกิดการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาของเมือง ปัญหาสังคม แต่ปัญหาของเมืองที่อยู่ในฐานข้อมูลอาจมีจำนวนมากต้องสังเคราะห์เลือกสรรว่าจะนำเรื่องใดมาเป็นโจทย์ และจะนำคำตอบที่ได้ไปแก้ปัญหาได้อย่างไร นับเป็นกิจกรรมที่น่าสนใจ ต่อยอดได้กับ แอปพลิเคชัน ทราฟฟี่ ฟองดูว์ ที่เกิดขึ้นเพื่อให้คนแจ้งเรื่องร้องเรียนแล้วก่อนหน้านี้ แต่โจทย์ที่ตั้งใจ Hack BKK ต้องทำให้เห็นว่า กทม. มีปัญหาเรื่องไหนเป็นสำคัญ เร่งด่วน ก็นำมาหาโจทย์แก้ปัญหา
“เป็นกระบวนการที่ท้าทายไอเดีย เปิดการแข่งขันได้ทุกวัย ทั้งเด็ก เยาวชน ผู้ใหญ่ ทำให้เห็นมุมมองที่แตกต่างมากกว่าองค์กรหรือหน่วยงาน นอกจากผู้จัดจะได้ข้อมูล ยังเป็นการกระตุ้นความสนใจของผู้คน ให้ประชาชนเป็น active citizen หรือพลเมืองตื่นรู้ ซึ่งโจทย์ต้องเป็นหัวข้อที่น่าสนใจ หากประชาสัมพันธ์ดี ๆ จะดึงคนจากหลากหลายกลุ่มมาเจอกัน”
ขวัญข้าว ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า วิธีการหาไอเดียในรูปแบบของ hackathon หรือ Hack BKK ผู้ที่เข้าร่วมยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับเรื่องอื่น ๆ ได้ด้วย เป็นวิธีการระดมความคิดอย่างเปิดกว้างและสร้างสรรค์
นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมเวิร์กช็อปอีกกว่า 130 กิจกรรม ที่พิพิธภัณฑ์เด็กกรุงเทพมหานคร แห่งที่ 1 (จตุจักร) และแห่งที่ 2 (ทุ่งครุ) รวมถึงศูนย์เยาวชน/ศูนย์สร้างสุขทุกวัยทั้ง 3 แห่ง และห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้ และห้องสมุดเคลื่อนที่อีก 27 แห่ง
และกิจกรรมอื่นๆ ที่ยังคงเดินหน้าตามนโยบาย 12 เทศกาล ตลอดปี ทั่วกรุงเทพฯ คือ ‘บางกอกกำลังดี’
วันที่ 7 ส.ค. 65 ณ สวนเสรีไทย (สวนน้ำบึงกุ่ม)
วันที่ 14 ส.ค. 65 ณ สวนสันติภาพ (อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ)
วันที่ 21 ส.ค. 65 ณ สวนหลวง ร.9 (ลานวงศ์ชบา)
วันที่ 28 ส.ค. 65 ณ สวน 60 พรรษาสมเด็จพระนางเจ้าน พระบรมราชินีนาถ (สวน 60 พรรษา เคหะร่มเกล้า)
แนะในเดือนกันยายนนี้จะเป็นเทศกาลเด็ดและเยาวชน Youth Festival เดือนตุลาคม เทศกาลกีฬากรุงเทพฯ Sports Festival เดือนพฤจิกายน เทศกาลศิลปะสร้างสรรค์ Creative Arts Festivl เดือนธันวาคม เทศกาลแสงสี Illumination Festival