พบข้อมูลเด็กยากจนในกทม. รายได้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยประเทศ เสี่ยงหลุดจากระบบ

กสศ. เผยข้อมูล กทม.เหลื่อมล้ำสูง เด็กบางคนยังเข้าไม่ถึงไฟฟ้า ห่วงระบบการศึกษาเพื่อความเป็นเลิศ ทำให้เด็กกลุ่มเปราะบางไม่มีที่ยืน ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ขานรับนโยบายแก้มหานครแห่งความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

กรุงเทพมหานคร-เมืองหลวงที่มีโรงเรียนค่าเทอมหลักล้าน แต่ข้อมูลจากภาคีด้านการศึกษาพบว่าในช่วงเรียนออนไลน์ ยังมีครอบครัวเด็กยากจนที่เข้าไม่ถึงแม้กระทั่งไฟฟ้า หรือสาธารณูปโภคเบื้องต้น ยิ่งไปกว่านั้นยังพบว่า เด็กที่อาศัยอยู่ใน กทม. ครอบครัวมีรายได้ต่ำกว่า เส้นความยากจนของประเทศ

ขณะที่ ศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัย (0-6 ปี) ที่พึ่งของครอบครัวเด็กและเยาวชนที่มีฐานะยากจน กลับยังมีไม่ครอบคลุมทั้ง 50 เขตของ กทม. และบางแห่งก็ยังไม่มีคุณภาพ นี่ยังไม่นับรวม ระบบการศึกษาของ กทม. ที่ยังคงเน้นความเป็นเลิศ และไม่คำนึงถึงความหลากหลาย

ทั้งๆ ที่เรียกตัวเองว่าเป็น กรุงเทพฯ-รูปแบบการปกครองแบบพิเศษ และเป็นอิสระ ทั้งหมดนี้คือ เสียงสะท้อนภาคประชาชน คนหน้างานที่ต้องเจอกับปัญหาการดูแลเด็กยากจนพิเศษ ที่ติดล็อกจากระบบ และงบประมาณ ของ กทม. คำถามใหญ่ คือ

เหตุใด “มหานคร” เมืองหลวงที่เต็มไปด้วย งบประมาณ และทรัพยากร ฯลฯ ถึงมีความเหลื่อมล้ำสูงได้มากขนาดนี้ ถึงเวลาแล้วหรือไม่ ? ที่ นโยบายด้านการศึกษา ควรถูกให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ ในการหาเสียงของ ว่าที่ผู้สมัคร กทม. ที่กำลังจะมาถึง แม้ “เด็กยากจน” จะไม่ใช่ฐานเสียง แต่พวกเขา คือ พลเมืองที่จะเติบโตเป็นวัยแรงงาน ของมหานครในอนาคต หรือไม่ ?

เวทีระดมสมอง “ปลดล็อกกรุงเทพฯ เมืองแห่งความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา” 26 มีนาคม 2565

26 มีนาคม 2565 – กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กสศ. ร่วมกับ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา, OKMD, ภาคีด้านการศึกษา และไทยพีบีเอส จัดเวทีระดมข้อเสนอแก้ปัญหาด้านการศึกษา ครั้งที่ 1 สะท้อนปัญหา และข้อเสนอเชิงนโยบายผ่านหัวข้อ กรุงเทพ : เมืองแห่งความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เพื่อปลดล็อกกรุงเทพฯ ให้มีการศึกษาที่ทั่วถึงแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอย่างยั่งยืน

เปิดข้อมูล เด็กยากจนที่สุดอยู่ใน กทม. มหานครแห่งความเหลื่อมล้ำ

โดยในช่วงแรก ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค รักษาการผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (วสศ.) และนักเศรษฐศาสตร์การศึกษา ได้เปิดข้อมูล กสศ. พบว่า เมืองใหญ่อย่าง กทม. มีความเหลื่อมล้ำสูงมาก เห็นได้จากการมีคุณภาพการศึกษาที่หลากหลาย ตั้งแต่ โรงเรียนที่มีคุณภาพสูงมาก ไปจนถึงโรงเรียนในชุมชนยากจนที่ขาดแคลนทรัพยากร

อ.ภูมิศรัณย์ ฉายภาพต่อว่า สภาพัฒน์ฯ กำหนด เส้นความยากจนทั่วประเทศ อยู่ที่ 2,762 บาทต่อคนต่อเดือน แต่ครอบครัวนักเรียนยากจนในกรุงเทพ ฯ มีรายได้เพียง 1,964 บาทต่อคนต่อเดือน นั่นหมายความว่า เด็กยากจนใน กทม. จนกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศ

“เด็กยากจนของกรุงเทพฯ จนกว่า ค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศ หรือ ต่ำกว่าเส้นความยากจน เด็กเหล่านี้มีความเสี่ยงสูงที่จะหลุดจากระบบการศึกษา โดยเฉพาะช่วงโควิด-19 ที่ต้องออกไปช่วยครอบครัวหารายได้… และจากการสำรวจเด็กยากจนพิเศษ 1,408 คน ยังพบว่า มีเพียง 7 คนที่เข้าถึงคอมพิวเตอร์ ช่วงการเรียนออนไลน์ และมีอีก 1.7% ที่ยังเข้าไม่ถึง ไฟฟ้า…

ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค นักเศรษฐศาสตร์การศึกษา
ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค รักษาการผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (วสศ.) และนักเศรษฐศาสตร์การศึกษา

อ.ภูมิศรัณย์ ได้เสนอวิธีแก้ปัญหาด้วย การใช้กลไกเชิงพื้นที่ (Area-based Education: ABE) โมเดลจังหวัดจัดการเรียนรู้ตนเองที่เชื่อมโยงเครือข่ายภาคเอกชน และภาคประชาชน เพื่อพัฒนาพื้นที่นำร่องการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ซึ่งหลายจังหวัดที่มีขนาดใกล้เคียงกรุงเทพมหานครทำแล้วมีประสิทธิภาพในการนำเด็กกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาได้จริง

“การทำงานของกรุงเทพฯ ในด้านการศึกษา นอกจากทำงานเพื่อเด็กกลุ่มกระแสหลักแล้ว ก็ต้องดูแลเด็กที่ยากลำบาก เด็กยากจนในชุมชนแออัด และเด็กชายขอบที่ถูกมองข้ามด้วย เพราะเด็กเหล่านี้เป็นตัวแปรสำคัญของความมั่นคงยั่งยืนในกรุงเทพฯ เพื่อให้ทั้งองคาพยพในเมืองหลวงแห่งนี้เดินไปด้วยกันได้”

ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค นักเศรษฐศาสตร์ด้านการศึกษา

นักการศึกษา แนะปลดแอกระบบการศึกษา กทม. ใช้รูปแบบการปกครองพิเศษ สร้างอิสระอย่างแท้จริง

สอดคล้องกับ ศ.สมพงษ์ จิตระดับ คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ กสศ. ที่มองว่า เวลานี้ประเทศไทยตกอยู่ในสภาพความเหลื่อมล้ำอันดับ 1 ของโลก กรุงเทพ ฯ เมืองเดียวพบครอบครัวเด็กยากจน 15 กลุ่ม อาทิ แรงงานเด็ก เด็กในชุมชนแออัด แม่วัยใส หรือเด็กชาติพันธุ์

แต่ระบบการศึกษาไทย กลับเอื้อให้เด็กกลุ่มเดียวที่มีความพร้อมและมีโอกาสเข้าถึงระบบการศึกษาที่ดี โดย อ.สมพงษ์ ตั้งคำถามถึง ระบบการศึกษาเพื่อความเป็นเลิศ ว่าจะเป็นเครื่องมือลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้อย่างไร เพราะระบบนี้จะยิ่งทำให้ เด็กกลุ่มยากจน-เปราะบาง ไม่มีที่ยืนสำหรับการศึกษาในระบบ และไม่สามารถเติบโตเป็นแรงงานที่มีคุณภาพได้

“ไปคุยกับเด็กเล็ก ๆ ในชุมชน เขาบอกว่า โตขึ้นอยากเป็นโจร

ต้องยอมรับว่า ระบบการศึกษาไทยทำให้เกิดลู่การศึกษาสำหรับเด็กแค่กลุ่มหนึ่ง จนมีเด็กหลังห้อง เด็กผู้แพ้ และออกนอกระบบการศึกษาไป

ซึ่งพบว่า เด็กที่ออกกลางคัน 50,000 คน มีกว่าครึ่งหนึ่งที่ถูกดำเนินคดี และเข้าสถานพินิจ หนึ่งในสาเหตุ คือ การจัดการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการที่ครอบงำ โรงเรียน ของ กทม. ทั้งหมด”

ศ.สมพงษ์ จิตระดับ นักการศึกษา
ศ.สมพงษ์ จิตระดับ คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

อ.สมพงษ์ เสนอให้ กรุงเทพฯ ใช้ศักยภาพที่เป็นเมืองปกครองพิเศษออกแบบการศึกษาของตนเอง มีความเป็นอิสระ และไม่ต้องยึดติดกับแนวทางของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องอาศัยความเด็ดขาดของผู้ว่าราชการที่กำลังจะถูกเลือกตั้งเข้ามาในอนาคตด้วย

ปิดเทอมนี้จะมีเด็กหลุดออกจากการศึกษาเป็นจำนวนมาก เราต้องสร้างแต้มต่อให้เด็กที่มีความเสี่ยงเหล่านี้ ดังนั้น การศึกษาของกรุงเทพฯ ต้องแตกต่าง และมีลู่เป็นของตัวเอง ไม่ใช่ลู่เดียว แต่ต้องตอบโจทย์เด็กแต่ละคนได้ อาจจะตั้งโจทย์ให้เด็กมีงานทำ

แต่ปัญหา คือ เราก็ยังไม่กล้า ออกจากวังวนการศึกษาของชาติ ดังนั้น ต้องปลดแอกโดยการแยกตนเองออกมาเป็นอิสระจากกระทรวงศึกษาธิการ”

ศ.สมพงษ์ จิตระดับ นักการศึกษา

แนะถ่ายโอนอำนาจ ศูนย์ดูแลเด็กเล็ก ให้สำนักงานเขต กทม. เร่งตรวจสอบคุณภาพ และทำให้ครอบคลุม 50 เขต

รศ.สมสิริ รุ่งอมรรัตน์ รองคณบดีฝ่ายพัฒนาคุณภาพ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุ การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ต้องทำตั้งแต่ ต้นทางการศึกษา เพราะทุกคนรู้ดีว่าการศึกษาเด็กปฐมวัย (วัยแรกเกิด-6 ปี) เป็นเวลาทองสำหรับพัฒนาการของเด็กที่จะส่งผลต่อการเติบโตในอนาคต แต่ในความจริงกลับพบว่า ศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนทั้ง 290 แห่ง มีไม่ครบทุกเขต โดยจากการประเมินคุณภาพจากหน่วยงานภายนอกพบว่า มีเพียง 20% อยู่ในระดับดีมาก และกว่า 50% อยู่ในระดับปานกลางไปจนถึงปรับปรุงเร่งด่วน ซึ่งแตกต่างจากมาตรการฐานการประเมินของ กทม. อย่างมาก

รศ.สมสิริ เล่าต่อว่า ศูนย์เหล่านี้พบปัญหาในด้านหลักสูตร ที่มีการจัดการเรียนรู้แบบเดิมมาเป็นเวลาหลายปี ส่วนใหญ่ เน้นการดูแลทางกายภาพ แต่ไม่ส่งเสริมพัฒนาการตามวัยขณะที่ บุคลาการครู ในศูนย์เด็กเล็กมีเพียง 15% ที่จบปริญญาตรีด้านปฐมวัย แต่ส่วนใหญ่จบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายที่มีค่าจ้างแค่ 7,000 บาท ส่วนปริญญาตรีอยู่ที่ 15,000 บาท และมักพบปัญหาเงินเดือนออกไม่ตามเวลา ทั้งนี้ในศูนย์ยังมีปัญหาเรื่อง การจัดเก็บฐานข้อมูล ไม่เป็นระบบ และไม่ส่งต่อไปยังผู้ปกครองหรือโรงเรียนใหม่

ทั้งนี้ มีข้อเสนอให้ ถ่ายโอนให้ไปอยู่ในความดูแลของ สำนักงานเขต กทม. โดยเริ่มจากศูนย์ที่มีความพร้อม วางแผนค่อย ๆ ทำในระยะยาว 3-5 ปี รวมถึงค่าตอบแทนที่คุ้มค่าให้แก่บุคลากรอย่างครูของศูนย์เด็กเล็กด้วย

“ฝากถึง ผู้ว่า กทม.ให้นึกว่า ตัวเองเป็นพ่อแม่ที่มีลูก เป็นเด็ก 3 คน โรงเรียนรัฐ – เอกชน – กทม. ว่าจะทำอย่างไรให้ลูกทั้ง 3 คนนี้ที่มีความหลากหลาย มีการศึกษาได้เท่ากัน และต้องทำงานร่วมมือกับคนที่ทำงานในพื้นที่ให้มากขึ้นด้วย”

รศ.สมสิริ รุ่งอมรรัตน์ รองคณบดีฝ่ายพัฒนาคุณภาพ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
รศ.สมสิริ รุ่งอมรรัตน์ รองคณบดีฝ่ายพัฒนาคุณภาพ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

เครือข่ายเด็ก เสนอ ว่าที่ผู้สมัคร กทม. สร้างที่เรียนรู้ รอบกรุงฯ ให้เด็กยากจน

ด้านประสบการณ์ของคนทำงานในพื้นที่อย่าง “ครูอ๋อมแอ๋ม” ศิริพร พรมวงศ์ ผู้จัดการโครงการคลองเตยดีจัง กล่าวต่อว่า หากศูนย์เด็กเล็กที่ไม่มีคุณภาพ อยู่ในชุมชนที่แออัด ก็จะยิ่งส่งผลกระทบต่อเด็กและเยาวชนที่อยู่ในชุมชนด้วย ขณะที่บางครอบครัว ยังพบว่ามี ย่า-ยาย ป่วยติดเตียง แม่ติดยา พอเด็กอายุ 15 ปี ก็ต้องออกจากระบบการศึกษา

ทั้งนี้ จากการทำงาน ครูอ๋อมแอ๋ม พบว่า เด็ก 100 กว่าคน มีเพียง 1 คนเท่านั้นที่เรียนจบมัธยมศึกษาตอนปลาย ทำให้เด็กที่เรียนดีแค่ไหน หรือ อยากเรียนต่อขนาดไหน ก็ไม่สามารถทนต่อความยากจนนี้ได้ แม้กระทั่งหลักสูตรการศึกษาเอง ก็เป็นอุปสรรค เพราะมีสิ่งที่ไม่จำเป็น หรือไม่ส่งเสริมทักษะให้สามารถนำมาใช้ได้ในชีวิตจริง

เด็กอยากเป็นโจร เด็กทำบทบาทสมมติ เล่นขายประเวณี มีแม่เล้าเป็นเด็ก 6 ขวบ เด็กไม่รู้ว่า คือ การเล่นอะไร แต่เขารับรู้จากวิถีชุมชนจากการเล่าของครอบครัวที่เด็กซึมซับโดยไม่รู้ตัว…

เขาเห็นพ่อถูกตำรวจจับ ขึ้นรถมอเตอร์ไซค์ แต่เด็กกลับเฉย ๆ และระบายสีต่อเพราะเป็นเรื่องเคยชินของพวกเขา

“ครูอ๋อมแอ๋ม” ศิริพร พรมวงศ์ ผู้จัดการโครงการคลองเตยดีจัง
ครูอ๋อมแอ๋ม- ศิริพร พรมวงศ์ ผู้จัดการโครงการคลองเตยดีจัง

แม้ที่ผ่านมา เครือข่ายจะพยายามแก้ปัญหาเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา ด้วยการจดทะเบียนโรงเรียนเอง แต่กลับพบว่า ไทยมีกฎหมายให้เปิด ศูนย์การเรียนได้มานานแล้ว แต่รัฐไม่มีเงินอุดหนุนการจัดการศึกษาเหล่านี้ จึงมีข้อเสนอให้รัฐเร่งสร้างพื้นที่การเรียนรู้ เพื่อตอบโจทย์ความหลากหลายของเด็ก เพราะที่ผ่านมาเคยมีความพยายามจะสร้างพื้นที่การเรียนรู้ในชุมชนมาโดยตลอด เช่น การขอพื้นที่รกร้างใน กทม.มาใช้ แต่มักถูกปฏิเสธ

สนามบาส ในชุมชนคลองเตย ถูกยุบไป 1 แห่ง เพื่อเป็นที่ตั้งเสาโฆษณา

การที่เด็กไม่มีพื้นที่เขาก็สร้างพื้นที่ตนเอง อย่างร้านเกม หรือ รวมตัวหลังชุมชนต้มน้ำกระท่อม

ดังนั้น พื้นที่การเรียนรู้ของเด็กจึงควรถูกสนับสนุน และมีทุกชุมชน

“ครูอ๋อมแอ๋ม” ศิริพร พรมวงศ์ ผู้จัดการโครงการคลองเตยดีจัง

ไม่ต่างจากการทำงานของ “ครูเชาว์” เชาวลิต สาดสมัย ครูอาสาของเด็กยากจน ที่ทำงานกับศูนย์สร้างโอกาสทั้ง 7 แห่งในกรุงเทพมหานคร เขาเล่าในฐานะของคนที่ทำงานในพื้นที่มาตลอด 15 ปี พบว่า หลักสูตรการศึกษาตอบสนองเฉพาะเด็กที่มีฐานะและครอบครัวที่มีความพร้อม รัฐไม่ได้ออกนโยบายที่เข้าใจปัญหาของเด็กยากจนหรือขาดโอกาสและส่วนตัว

นอกจากนี้ ครูยังเป็นตัวแปรสำคัญที่รัฐต้องทำให้ครูมีความมั่นคง มีใจในการทำงาน และสร้างแรงบันดาลใจให้เขามีชีวิตดีขึ้น รวมทั้งศูนย์สร้างโอกาสที่ช่วยเหลือเด็กเชิงรุกซึ่งขณะนี้มีเพียง 7 แห่ง ก็ควรทำให้เกิดขึ้นทุกเขตในกรุงเทพฯ ให้ครบทั้ง 50 เขต

ขณะที่ เชษฐา มั่นคง ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก กล่าวในฐานะคนทำงานมาตลอด 20 ปี ที่เคยขอ พื้นที่ใต้ทางด่วน พื้นที่รกร้างว่างเปล่าเป็นพื้นที่เรียนรู้ให้กับเด็กแต่ไม่เป็นผลเช่นกัน และจากการสำรวจพื้นที่การเรียนรู้ Learning Space ในกรุงเทพมหานครพบว่าหลายแห่งยังขาดอุปกรณ์ที่จำเป็น ไม่กระจายครบทุกเขต บางแห่งอยู่ไกลจากชุมชน หรือมีค่าใช้จ่ายที่ทำให้ครอบครัวของเด็กยากจนไม่สามารถเข้าถึงได้

ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก ยังเห็นว่า นโยบายเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้าเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ แต่ที่ผ่านมารัฐไม่สามารถนำมาปฏิบัติได้จริง ซึ่งงบประมาณจำนวนนี้สามารถสร้างเป็น Smart City เพื่อปรับพื้นที่เรียนรู้สร้างสรรค์ที่จะตอบโจทย์คนทุกช่วงวัย ทั้งเด็กเยาวชน และครอบครัวทั่วกรุงเทพฯ จึงจำเป็นต้องสร้างความร่วมมือ และแก้กฎระเบียบต่าง ๆ ที่ทำให้ การผลักดันนโยบายนี้มีความต่อเนื่อง และสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนได้จริง

ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. และทีมวางแผนเชิงนโยบายของผู้สมัครฯ

โดยในเวทีระดมสมอง ในประเด็นการศึกษา ครั้งนี้ ยังมีว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม. อย่าง น.ต.ศิธา ธิวารี ว่าที่ผู้สมัคร ผู้ว่าฯ กทม.ของพรรคไทยสร้างไทย และ รสนา โตสิตระกูล ว่าที่ผู้สมัคร ผู้ว่าฯ กทม. ในนามอิสระ รวมถึง ผศ.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ ตัวแทน ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ และ กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ ตัวแทน วิโรจน์ ลักขณาอดิศร มาร่วมแลกเปลี่ยนและรับฟังปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาด้วย

โดยทั้ง 4 ท่านเห็นสอดคล้องกับข้อเสนอที่เกิดขึ้นบนเวทีรอบนี้ และให้คำมั่นสัญญาจะนำเอาข้อเสนอเหล่านี้ไปวางแผนต่อยอดในระดับนโยบาย คงต้องติดตามกันต่อไปว่า … การชิงชัย ผู้ว่า กทม. จะได้เห็นนโยบายการศึกษา แก้ความเหลื่อมล้ำ กทม. โดดเด่นอยู่ในสนามการเลือกตั้งรอบนี้หรือไม่ และจะตอบโจทย์ข้อเสนอของภาคประชาชนในครั้งนี้แค่ไหน ก็คงต้องให้ เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์

Author

Alternative Text
AUTHOR

บุศย์สิรินทร์ ยิ่งเกียรติกุล

เรียนจบสายวิทย์-สังคมฯ-บริหารรัฐกิจฯ ทำงานไม่ตรงสาย และกลายเป็น "เป็ด" โดยไม่รู้ตัว สนใจการเมือง จิตวิทยาเด็ก วิธีคิดการมองสังคม และรักการสัมภาษณ์ผู้คน