ชวนพรรคการเมืองร่วมคิด หนุนเด็กไทยเรียนรู้ใหม่ ก้าวทันโลก

ภาคีเพื่อการศึกษาไทย (TEP) ร่วมกับ Thai PBS จัดเวทีนโยบาย ชวนพรรค “ร่วมคิดฟื้นชีวิตเรียนรู้ใหม่ หนุนเด็กไทยก้าวทันโลก” ด้านสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ชี้ 3 อุปสรรคทำการศึกษาถดถอย ชู 5 ข้อเสนอ ก้าวข้ามความท้าทาย

วันนี้ (5 มี.ค.2566) ภาคีเพื่อการศึกษาไทย ร่วมกับ Thai PBS จัดเวทีนโยบายโดยชวนพรรคการเมืองต่าง ๆ มาร่วมกันคิดถึงแนวทางเพื่อฟื้นชีวิตการเรียนรู้ของเด็กไทย ให้สามารถก้าวทันโลกได้ โดย สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ได้นำเสนอข้อมูลเจาะลึกปัญหาระบบการศึกษาและแนวทางแก้ไข

สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ระบุว่า ก่อนการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2562 ภาคีเพื่อการศึกษาไทย (Thailand Education Partnerships: TEP)ได้จัดเวทีเสวนา “ชวนพรรคร่วมคิด พลิกห้องเรียน เปลี่ยนไทยทันโลก” โดยวิเคราะห์ 3 ปัญหาเก่าของระบบการศึกษาไทยที่จำเป็นต้องแก้ ทั้งปัญหาคุณภาพของระบบการศึกษาโดยรวมที่อยู่ในระดับต่ำ ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ในระดับสูง และการขาดประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากร รวมทั้งนำเสนอ 2 ความท้าทายใหม่ที่ต้องเผชิญคือ การที่สังคมไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างรวดเร็ว และการเข้าสู่ยุคแห่งความปั่นป่วนทางเทคโนโลยี และเชิญชวน 7 พรรคการเมืองมาร่วมแลกเปลี่ยนเพื่อหาวิธีในการแก้ไขปัญหาเดิมและรับมือกับ ความท้าทายใหม่ดังกล่าว

นับตั้งแต่จัดเวทีพรรคการเมืองครั้งนั้นมาจนถึงปัจจุบัน ระบบการศึกษาไทย ก็เผชิญกับความท้าทายที่ยากยิ่งขึ้นจากการสูญเสียการเรียนรู้ในช่วงการระบาดของ โควิด-19 การที่เทคโนโลยีได้พัฒนาขึ้นอย่างก้าวกระโดดเร็วขึ้นกว่าเดิม โดยเฉพาะเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ซึ่งทำให้ความสามารถในการปรับตัวได้ (Adaptability)และทักษะการคิดขั้นสูง (Higher-Order Thinking) มีความสำคัญเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก และทำให้ประเทศไทยจำเป็นต้องปฏิรูปการศึกษาเพื่อฟื้นชีวิตเรียนรู้ใหม่ หนุน “เด็กไทย” ก้าวทันโลก” อย่างเร่งด่วนมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ทิศทางการสร้างการเรียนรู้ (Learning Compass เพื่อรับมือกับโลกอนาคตคือ การพัฒนาให้เด็กไทยมีเจตคติและคุณค่า (Attitude and Value) ทักษะ (Skill และความรู้ (knowledge) ที่เหมาะสมและสามารถนำองค์ประกอบเหล่านี้มาผสมผสานกันจนเกิดเป็นสมรรถนะ (Competency) ซึ่งทำให้สามารถ แก้ไขปัญหาต่างๆ และอยู่รอดในโลกที่เต็มไปด้วยความท้าทายได้อย่างมีคุณค่า

  1. ความถดถอยของการเรียนรู้ในช่วงโควิด-19 ระบาด
    องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) รายงานว่า รัฐบาลใน 188 ประเทศได้ ประกาศปิดโรงเรียนเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้เด็กและเยาวชน 1.5 พันล้านคนไม่ สามารถเข้าเรียนได้แบบปกติ เด็กและเยาวชนไทยก็ได้รับผลกระทบอย่างมากจากการปิดโรงเรียน เช่นเดียวกับเด็กทั่วโลกจากการเรียนรู้ที่ถดถอยลงและการหลุดออกนอกระบบการศึกษามากขึ้น ซึ่งทำให้ คุณภาพการศึกษาลดลงและมีความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้นอีก

ระบบการศึกษาของไทยมีปัญหาเรื่องคุณภาพและความเหลื่อมล้ำมาตั้งแต่ก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 แล้ว โดยผลการทดสอบ PISA 2018 ชี้ว่า เด็กไทยอายุ 15 ปี จำนวน 59.6% ไม่สามารถอ่านจับใจความได้  52.7% ไม่สามารถนำความรู้คณิตศาสตร์มาประยุกต์ใช้ในสถานการณ์ที่ไม่ซับซ้อน และ 44.5% ไม่สามารถใช้ความรู้วิทยาศาสตร์มาอธิบายปรากฏการณ์ที่คุ้นเคยและไม่ซับซ้อนหมายความว่าขาดความเข้าใจพื้นฐานที่เพียงพอต่อการใช้งานจริง (Functionally illiterate) นอกจากนี้ยังพบว่ามีความเหลื่อมล้ำในการศึกษาเพิ่มขึ้นตามเวลา

การระบาดของโควิด-19 ยังทำให้มีเด็กยากจนเพิ่มขึ้น และเสี่ยงต่อการหลุดออกจากระบบการศึกษาในช่วงชั้นรอยต่อ การสำรวจของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) พบความยากจนฉับพลันเพิ่มขึ้นในกลุ่มนักเรียนไทย โดยจำนวนเด็กยากจนพิเศษ (รายได้ครัวเรือนเฉลี่ยต่อคนต่ำกว่า 1,200 บาทต่อเดือน) ในภาคเรียนที่ 1 ในปีการศึกษา 2564 เพิ่มขึ้นจากในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 ถึง 250,163 คน โดยมีรายได้ลดลงจาก 1,159 บาทต่อเดือน เหลือ 1,094 บาทต่อเดือน

  1. ความท้าทายใหม่แห่งโลกอนาคต
    ในอนาคต เด็กและเยาวชนไทยต้องมีสมรรถนะที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตอยู่ในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่าง รวดเร็ว ไม่แน่นอนและซับซ้อนมากขึ้น ความท้าทายต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศและความเสื่อมโทรมของทัรัพยากรธรรมชาติ การเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจสังคมอย่างรวดเร็ว รวมทั้งพัฒนาการอย่าง ก้าวกระโดดของเทคโนโลยีต่างๆ โดยเฉพาะปัญญาประดิษฐ์ จะส่งผลให้ทักษะในการปรับตัวและความสามารถในการใช้ชีวิตให้อยู่รอดอย่างมีความสุขมีความสำคัญมากยิ่งขึ้น ระบบการศึกษาไทยจึงควรเร่งสร้างสมรรถนะใหม่ ๆ ที่จำเป็นให้เด็กไทย ได้แก่

วิกฤตสภาพอากาศและทรัพยากรณ์ธรรมชาติเสื่อมโทรม: จากการประเมินผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศพบว่า หากอุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้น 2.3 องศาเซลเชียสภายในปี 2050 ความสามารถของแรงงานที่ทำงานกลางแจ้งจะลดลง 7 -12% เพราะคนงานจะเหนื่อยง่ายและต้องพักถี่มากขึ้น อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นยังจะสร้างความผันผวนในการผลิตผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งทำให้รายได้ของเกษตรกรไม่แน่นอนเพิ่มขึ้นด้วย

การพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยี AI: การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้เร่งให้โลกเข้าสู่ยุคดิจิทัลรวดเร็วขึ้น เช่น จากการสำรวจหลังจากเกิดการเริ่มแพร่ระบาดเป็นเวลาประมาณ 6 เดือน (ตุลาคม 2563) พบว่า ธุรกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเร่งนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการติดต่อสื่อสารกับลูกค้าเร็วขึ้นประมาณ 7 ปี ซึ่งชี้ให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญของรูปแบบการทำงานและการใช้ชีวิตในอนาคต

  1. ความท้าทาย 4 ประการในการปฏิรูประบบการศึกษาไทย
    การปรับหลักสูตรแกนกลางครั้งใหญ่ให้เอื้อต่อการเรียนรู้สมรรถนะ: หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานของไทยที่ใช้อยู่ในปัจจุบันถูกใช้มาตั้งแต่ปี 2551 หรือผ่านมาแล้วเกือบ 15 ปี จึงค่อนข้างล้าสมัยและไม่ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้สมรรถนะที่จำเป็นต่างๆ  แม้ในปี 2560 จะมีการปรับปรุงมาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัดกลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และภูมิศาสตร์ โดยเน้นสมรรถนะของผู้เรียนมากขึ้น

การบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กและบุคลากรครูเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ: การฟื้นฟูการเรียนรู้ที่ถดถอยและการสร้างสมรรถนะใหม่จำป็นต้องมีทรัพยากร ทั้งงบประมาณและบุคลากรครูที่เพียงพอทั้งในด้านจำนวนและคุณภาพ อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมาจำนวนโรงเรียนขนาดเล็กได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการที่ประชากรวัยเรียนมีแนวโน้มลดลง โดยนักเรียนในสังกัด สพฐ. ลดลงจาก 7.2 ล้านคน ในปี 2556 เหลือ 6.5 ล้านคน ในปี 2565 ทำให้โรงเรียนสังกัด สพฐ. จำนวน 21,341 แห่ง จากทั้งหมด 30,764 (ร้อยละ 69.4 มีนักเรียนลดลง และมีโรงเรียนขนาดเล็กเพิ่มขึ้นอีก 2,246 แห่ง การเปลี่ยนแปลงนี้ทำ ให้ต้นทุนต่อหน่วยในการจัดการศึกษาเพิ่มสูงขึ้น และส่งผลกระทบต่อเนื่องไปถึงการบริหารบุคลากรทั้ง การบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กอย่างมีประสิทธิภาพจึงเป็นโจทย์ที่มีความสำคัญในการยกระดับคุณภาพการศึกษาโดยรวม อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องทำควบคู่กันไปคือการบริหารบุคลากรครูที่ต้องโยกย้ายหรือเกลี่ยภายในหรือระหว่างเครือข่ายทั้งหลายอย่างเหมาะสม

การป้องกันการละเมิดสิทธิเสรีภาพของนักเรียน: อีกปัญหาหนึ่งในระบบการศึกษาไทยคือ การละเมิดสิทธิเสรีภาพของนักเรียน โดยโรงเรียนหลายแห่งใช้มาตรการรุนแรงจนเข้าข่ายละเมิดสิทธิเสรีภาพของเด็ก เพื่อให้เด็กปฏิบัติตามข้อกำหนดหรือคำสั่ง แม้กระทรวงศึกษาธิการได้เคยประกาศห้ามลงโทษนักเรียนด้วยความรุนแรง แต่ก็ยังปรากฎข่าวอยู่บ่อยครั้งว่า ครูกล้อนผมนักเรียนเพราะผมยาว หรือด่าทอนักเรียนด้วยถ้อยคำที่รุนแรง หรือในบางกรณีก็รุนแรงถึงขั้นล่วงละเมิดทางเพศด้วย นอกจากนี้ การกลั่นแกล้ง (Bullying) กันเองระหว่างนักเรียนก็เป็นอีกปัญหา

การปรับวัฒนธรรมการทำงานให้กล้าทำสิ่งใหม่: การปฏิรูปการศึกษาให้สำเร็จจำเป็นต้องอาศัยการทดลองทำสิ่งใหม่และการสร้างนวัตกรรมต่างๆ ทั้งในด้านวิชาการและการบริหาร ที่ผ่านมา รัฐบาลได้ประกาศให้มี “พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา” เพื่อเป็นพื้นที่ทดลองนำร่องให้โรงเรียนและหน่วยงานในพื้นที่มีอิสระในการจัดการการศึกษามากขึ้น โดยปลดล็อกด้าน กฎระเบียบต่างๆ ทั้งในด้านวิชาการ การบริหารบุคลากร และการบริหารงบประมาณ

4.ข้อเสนอแนะเพื่อก้าวข้ามความท้าทาย 

-ควรเร่งปรับให้มีหลักสูตรแกนกลางใหม่ภายใน 3 ปี โดยออกแบบให้เป็นหลักสูตรที่อิงกับฐานสมรรถะ จากการเปิดให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการพัฒนาหลักสูตร และไม่ยอมให้กลุ่มผลประโยชน์บางกลุ่มสามารถยับยั้งการปรับหลักสูตรได้ 
 

-กำหนดนโยบายให้กระทรวงศึกษาธิการมีเป้าหมายและแผนการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กที่ชัดเจน โดยอาจนำข้อเสนอของธนาคารโลกเป็นจุดตั้งต้น และเสริมด้วยการให้แรงจูงใจแก่ครูในการย้ายไปสอนในโรงเรียนฮับ (Hub School) หรือโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ ห่างไกล (Small Protected School โดยพิจารณาปรับเกณฑ์การประเมินเลื่อนขั้นเงินเดือนหรือวิทยฐานะของครู

-กำหนดนโยบายให้กระทรวงศึกษาธิการและประสานหน่วยงานต้นสังกัดสถานศึกษาอื่น ให้ทบทวนและยกเลิกโครงการต่างๆ ที่มีอยู่ ซึ่งไม่ตอบโจทย์การเรียนรู้ของนักเรียนหรือการพัฒนาทักษะที่จำเป็นในการสอนของครูตามหลักสูตรใหม่ให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี

-ประกาศนโยบายไม่ยอมรับความรุนแรงในสถานศึกษาในทันทีที่รับตำแหน่ง และรณรงค์ให้บุคลากรที่เกี่ยวข้องเข้าใจเรื่องสิทธิเสรีภาพของเด็ก ตระหนักถึงผลเสียจากการถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพต่อพัฒนาการของเด็ก และให้เด็กทราบแนวทางปกป้องตนเองหากมีการละเมิด ทั้งนี้กระทรวงศึกษาธิการสามารถ บูรณาการมาตรการที่มีอยู่แล้วเข้าด้วยกัน

-สร้างตัวอย่างให้ผู้บริหารของกระทรวงศึกษาธิการมีวัฒนธรรมแบบใหมในการทำงานที่เปิดกว้างในการรับฟังความเห็น กล้าทดลองสิ่งใหม่ ไม่สั่งการจากเบื้องบนลงไปโดยไม่เข้าใจผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อโรงเรียน โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการอาจแสดงตัวอย่างโดยการไปรับฟังสภาพปัญหาของโรงเรียน ให้กำลังใจและสนับสนุนการดำเนินการของโรงเรียน และอาจจัดให้มีพื้นที่สำหรับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเผยแพร่นวัตกรรมของครู

เวทีวันนี้ ยังได้มีการเชิญ 8 ตัวแทนพรรคการเมืองมาเข้าร่วมในเวทีเสวนาหัวข้อ “นโยบายแบบไหน เปลี่ยนการศึกษาไทยได้จริง” โดยเปิดโอกาสให้มีการถามสดโดยผู้เข้าร่วมในเวที ผู้ชมทางบ้านสามารถมีส่วนร่วมในเวทีโดยส่งคำถามเข้ามาถามตัวแทนพรรคการเมืองได้

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active