“ข้ามขอบรั้วโรงเรียน” ติดอาวุธการเรียนรู้ สู่โลกยุคใหม่ เด็กไทยต้องไม่ทุกข์

หลายภาคส่วน จับมือ สร้างกระบวนการเรียนรู้ใหม่ ภายใต้ “โครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา” นำร่อง 4 โรงเรียน จ.พิจิตร ดึงครู-นักเรียน-ชุมชน ปรับแนวคิด มีส่วนร่วมเปลี่ยนการศึกษา

เมื่อวันที่ 11 ธ.ค.65 เวทีเครือข่ายแสดงพลังสื่อสารสังคม โรงเรียนร่วมพัฒนา จ.พิจิตร จัดกิจกรรมสื่อสารถึงการเปลี่ยนแปลงของโรงเรียนในระดับพื้นที่ จ.พิจิตร 4 โรงเรียน คือ โรงเรียนวังตะกูราษฎร์อุทิศ, โรงเรียนบางมูลนาก (ราษฎร์อุทิศ), โรงเรียนบ้านน้อย “ปรึกอุทิศ”, และ โรงเรียนวัดบ้านห้วยยาว  ซึ่งพบว่า หลังเข้าร่วม “โครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา” เห็นผลลัพธ์ของครู และนักเรียนที่เปลี่ยนไปจากการศึกษาที่เคยอยู่แต่ในกรอบ สู่ การศึกษาที่เป็นระบบนิเวศการเรียนรู้ที่มีความสุข และมีความหมายแก่ผู้เรียนมากขึ้น โดยตั้งเป้าหมายสูงสุดต้องการเห็นการข้ามขอบรั้วโรงเรียน ทั้งวิธีคิดและกระบวนการเรียนการสอน

ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช  นักการศึกษา และผู้เชี่ยวชาญด้านการเรียนรู้ เปิดเผยว่า เป็นเรื่องน่าเสียดายเมื่อหลักสูตรการเรียนฐานสมรรถนะเงียบหายไป ทำให้เวลานี้ผู้บริหาร ครู และโรงเรียน ยังต้องจัดการศึกษากันตามคู่มือการเรียนการสอนโดยไม่มีอิสระในการออกแบบการเรียนรู้ที่เหมาะสมให้กับเด็กจริง ๆ สวนทางกับสิ่งที่ควรจะเป็น เพราะการศึกษาที่ดีต้องอาศัยการทำความเข้าใจเด็กเป็นรายบุคคล และออกแบบการเรียนรู้ที่เหมาะสมให้กับผู้เรียนแต่ละคน

ศ.นพ.วิจารณ์ ยังมองว่า โครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา ที่กำลังนำร่องเป็นพื้นที่การทดลอง 4 โรงเรียน กำลังเดินมาถูกทาง และเป็นสิ่งที่ท้าทายของสังคมไทย เพราะต้องต่อสู้กับอุปสรรคระบบการศึกษาภาพใหญ่อีกด้วย ทั้งนี้หัวใจสำคัญของการเรียนรู้ คือ ต้องเรียนรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลา ไม่เฉพาะในห้องเรียน ดังนั้นทั้งครู ผู้ปกครอง ชุมชน ต้องเข้าใจเรื่องนี้ไปด้วยกัน เพราะสุดท้ายแล้ว การเรียนรู้ไม่ใช่แค่การเอาความรู้ไปใช้ได้ แต่ต้องใช้ได้ในอนาคต การเรียนรู้ทักษะอนาคตจึงเป็นเรื่องสำคัญ ที่ต้องเรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติให้เห็นจริงด้วยตัวเอง ทั้งยังย้ำว่า การเรียนที่สำคัญไม่ใช่มีทักษะ แต่ต้องสร้างค่านิยมที่ถูกต้อง มีคุณธรรม-จริยธรรม ทัศนคติที่สามารถกำหนดอนาคต ชีวิตได้ด้วย

ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช 

สำหรับโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา เริ่มนำร่อง 4 โรงเรียนใน จ.พิจิตร ตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายน 2565 โดยความร่วมมือจากภาคเอกชน อย่าง มูลนิธิใจกระทิง จับมือกับ คณะวิทยาการเรียนรู้ และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในนาม เครือข่ายก่อการครู ร่วมออกแบบ ใช้เครื่องมือพัฒนาครู นักเรียน ห้องเรียน และชุมชน, สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขึ้นพื้นฐาน (สพฐ.) ร่วมกันจัดหลักสูตร ใส่กระบวนการเรียนรู้ที่สำคัญเพื่อพัฒนาผู้เรียน ครู ผู้บริหาร และชุมชน โดยใช้กระบวนการเปลี่ยนแปลงจาก “ขบวนการก่อการครู” อาทิ วิธีการ เสริมพลัง (empowering) ผู้บริหาร ครู นักเรียน ผู้ปกครอง ชุมชน, เชื่อมสัมพันธ์ (re-connecting) ให้กิจกรรมที่เป็นเหมือนพื้นที่ในการเชื่อมร้อยผู้คนที่เกี่ยวข้อง และ ร่วมสร้างการศึกษาที่ตอบโจทย์พื้นที่ (collaborating) โดยการมีส่วนร่วมของโรงเรียน เครือข่ายผู้ปกครอง กรรมการสถานศึกษา และเขตพื้นที่การศึกษา

สราวุฒิ อยู่วิทยา

สราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มธุรกิจทีซีพี (TCP) กระทิงแดง และ มูลนิธิใจกระทิง ถือเป็นภาคเอกชนที่ให้ความสำคัญในมิติการศึกษามาอย่างต่อเนื่อง มองในมุมภาคธุรกิจที่กังวลถึงสถานการณ์ปัจจุบัน พบว่า ระบบการศึกษายังอยู่ในกรอบเดิม ขณะที่ไทยมีปัญหาเด็กจบน้อยลง ภาคแรงงานลดลง ภาคเอกชนที่ไม่มีความเชี่ยวชาญมิติการศึกษามากนัก จึงร่วมมือกับมหาวิทยาลัยธรรมศาตร์ ในนามของเครือข่ายก่อการครู สร้างกระบวนการให้โรงเรียน โดยเริ่มนำร่องใน จ.พิจิตร 4 โรงเรียน

โดยตั้งโจทย์จากการศึกษาจำเป็นต้องเรียนรู้ตลอดเวลา และไม่จำกัดอยู่ในห้องเรียน ดังนั้นโรงเรียนจึงไม่ได้เป็นเพียงที่ป้อนความรู้เพียงในตำรา แต่จะทำอย่างไรที่จะสร้างความพร้อมให้กับผู้เรียนได้ตลอดเวลา เพื่อให้การศึกษาผลิตบัณฑิต และแรงงานที่ตอบโจทย์ภาคธุรกิจ และสังคมในอนาคต โดยคาดว่าจะวัดผลจากการนำร่องในพื้นที่เล็ก ๆ ก่อนหากสำเร็จจะขยายผลไปยังพื้นที่อื่น ๆ ต่อไป

สราวุฒิ อธิบายด้วยว่า โครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา เป็นแนวคิดสร้างนวัตกรรมการศึกษา โดยมีเป้าหมายพัฒนาคุณภาพ 4 ด้าน ผู้เรียน ครู สถานศึกษา และการบริหารจัดการ เน้นพัฒนาโรงเรียนให้เป็นสถานที่การเรียนรู้ตลอดชีวิตของชุมชน การศึกษาจึงเป็นสิ่งที่ มูลนิธิใจกระทิงให้ความสำคัญโดยมีจุดมุ่งหมายให้เด็กรักการเรียนรู้ เห็นคุณค่า และอยากพัฒนาสิ่งรอบตัว  นอกจากนี้ทางมูลนิธิฯ ยังมองเห็นแล้วว่า การศึกษาในปัจจุบัน เด็กหางานทำยากขึ้น โลกยุคใหม่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การเรียนรู้ข้ามขอบซึ่งไม่ได้จำกัดอยู่ในห้องเรียนจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง จึงอยากเป็นกำลังใจให้ครู ผู้เชี่ยวชาญ สานต่องานพัฒนาการศึกษาซึ่งถือเป็นภาระหนักให้สำเร็จ

เด็กยุคใหม่ต้องมีทักษะ การแก้ปัญหาด้วยตัวเองตลอดเวลา การสอนในตำรา จำกัดกรอบในห้องเรียนอย่างเดียวจึงไม่พอ อย่างน้อยโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนาทำให้เราเห็นความเข้าใจระหว่างครู กับ นักเรียนมากขึ้น อดีต ครูใช้คำว่ามาเพื่อต่อสู้กับนักเรียน แต่วันนี้พวกเขาเข้าใจและรับฟังกันมากขึ้น และได้ทลายกำแพงบางอย่างลง หากกระบวนการเหล่านี้มาถูกทาง ภาคเอกชนก็ยินดีที่จะขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆ ต่อไป…”

สราวุฒิ อยู่วิทยา

เทคนิค “ครูปรับ นักเรียนเปลี่ยน”

ตัวแทนครูจากโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา จ.พิจิตร ร่วมกันแลกเปลี่ยนประสบการณ์ โดยการเปลี่ยนห้องเรียน ที่เริ่มจากครู ผ่านกระบวนการของ “ก่อการครู” 4 Module ประกอบด้วย การพัฒนาครู ให้มีจิตวิญญาณการฟัง, เข้าใจความต้องการของผู้เรียนอย่างแท้จริง, ตลาดวิชาการ เพื่อเลือกวิชา และเครื่องมือที่จะนำไปปรับใช้ในห้องเรียนของตัวเอง, การออกแบบหลักสูตร การพัฒนาผู้เรียน และการปรับกรอบคิดการทำงาน

นิตยา ด้วงมั่น ครูโรงเรียนบางมูลนาก (ราษฎร์อุทิศ)

นิตยา ด้วงมั่น หรือ ครูนิต ครูสอนภาษาอังกฤษ ระดับชั้นประถมศึกษา จากโรงเรียนบางมูลนาก (ราษฎร์อุทิศ) เล่าให้ฟังว่า เธอเคยพบปัญหาเด็กไม่สนใจเรียน สร้างความวุ่นวายในห้องเรียน ทั้งที่เชื่อมั่นมาตลอดว่า เธอสอนได้อย่างเต็มที่ และดีที่สุดเท่าที่ครูคนหนึ่งจะทำได้แล้ว เธอจึงพยายามใช้นวัตกรรมการศึกษา สื่อการเรียนการสอนที่หลากหลายเข้ามาส่งเสริมการเรียนรู้ เพื่อให้เด็กสนใจเรียน แต่กลับพบว่า เด็กหลายคน ยังไม่สามารถเรียนรู้ได้ดี บางคนอ่านไม่ได้ จำพยัญชนะ จำคำศัพท์ง่าย ๆ ไม่ได้ ไม่กล้าพูด

หลังเข้าโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา เป็นเวลา 3 วัน จึงเข้าใจว่า ตัวเองต้องเปลี่ยนวิธีการสอนโดยครูนิต เช่น กระบวนการเปลี่ยนครู “ครู คือ มนุษย์” ทำให้ได้ฝึกฝนการฟังด้วยหัวใจ และหันมาสอนเด็กจากการฟัง ทำความเข้าใจว่าเด็กต้องการจะเรียนรู้อะไร มากกว่า การตั้งธงว่าครูจะสอนอะไร เธอย้ำว่า สิ่งสำคัญ คือ ความสุขในห้องเรียน

“ตัวชี้วัด เกรด ผลการสอนควรเป็นเรื่องรอง ซึ่งเรื่องนี้ยังคงเป็นโจทย์ท้าทาย ให้ผู้ปกครองต้องทำความเข้าใจร่วมกับโรงเรียน โดยใช้ความสุข ความสนุกสนานของเด็กเป็นตัวตั้งมากกว่าแรงกดดันจากผลการเรียน และตัวชี้วัดภายนอก”

นิตยา ด้วงมั่น

เช่นเดียวกับ พรทิพย์ ดำรงชัย และ นิษณา วัลลภ ครูจากโรงเรียนวังตะกูราษฎร์อุทิศ เล่าถึงการใช้กิจกรรม “จิตศึกษา” มาเป็นส่วนสำคัญในการปรับห้องเรียน พัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ เข้าใจตนเอง และผู้อื่นให้กับนักเรียน พบว่าหลังเข้าร่วมกิจกรรม มีเด็ก ๆ บางคนกล้าแสดงออกมากขึ้น ขณะเดียวกันการเข้าห้องเรียนทุกครั้ง ก็จะใช้วิธีการจัดกิจกรรมเป็นฐาน จัดห้องเรียนแบบ Active Learning และ Game Base Learning ผสมผสาน กับ สาระการเรียนรู้ในห้องเรียน เช่น การเลือกใช้บอร์ดเกม ร่วมกับการเรียนวิชาฟิสิกส์ โดยทุกครั้งที่ใช้เครื่องมือนี้ครูจะเชื่อมโยงกับชีวิตประจำวันของเด็ก และให้เด็ก ๆ นำเรื่องที่ตัวเองสนใจกลับไปทำสื่อการเรียนรู้เองให้เด็ก ๆ ได้ตกผลึกในการเรียนรู้ของตัวเอง

วิสัยทัศน์ ผู้บริหาร หัวใจสำคัญ เปลี่ยนห้องเรียน “ข้ามขอบการเรียนรู้”

พรพิพัฒน์ ตั้งจิตรวัฒนากุล ผู้อำนวยการโรงเรียนวังตะกูราษฎร์อุทิศ

ขณะที่ พรพิพัฒน์ ตั้งจิตรวัฒนากุล ผู้อำนวยการโรงเรียนวังตะกูราษฎร์อุทิศ มองว่า การเปลี่ยนครูสำคัญมากที่สุด และยังจำเป็นต้องเชื่อมโยงกับชุมชนด้วย เพราะการเรียนรู้ในห้องเรียนเพียงอย่างเดียวอาจจะใช้ไม่ได้กับยุคนี้ที่เด็ก ๆ ควรรับรู้การเปลี่ยนแปลงจากภายนอก โดยเฉพาะการเข้าใจ และรู้จักชุมชนท้องถิ่นของตัวเอง ซึ่งโรงเรียนวังตะกูราษฎร์อุทิศ เริ่มต้นจากการสำรวจองค์ความรู้ในชุมชนท้องถิ่น และดึงเด็กลงพื้นที่ชุมชนจริง ให้เกิดความรู้ ความรักและหวงแหนท้องถิ่น ซึ่งความรู้ที่หลากหลายจากนอกห้องเรียนจะเป็นประสบการณ์ และพื้นฐานสำคัญที่นำมาต่อยอดในห้องเรียนต่อไป

“ครูเป็นส่วนสำคัญของการเปลี่ยนห้องเรียน แต่หากไร้การสนับสนุนจากผู้บริหาร การเปลี่ยนแปลงก็ไปต่อไม่ได้ วิสัยทัศน์ของการบริหารงานที่ตั้งต้นมาจากความอยากเห็นห้องเรียน กับ คุณค่าที่มีอยู่แล้วในชุมชน ถูกเชื่อมร้อยกันจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะเปลี่ยนห้องเรียนได้”

พรพิพัฒน์ ตั้งจิตรวัฒนากุล

“ละครโยงปัญหาชุมชน” เครื่องมือ ข้ามขอบรั้วโรงเรียน

ละครชุมชน กลายเป็นเครื่องมือหนึ่งที่โครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา ใช้เป็นสื่อการสอนให้เด็กกับชุมชนได้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน The Active พูดคุยกับ เสาวนีย์ วงศ์จินดา ผู้ก่อตั้ง Play Spirit studio หนึ่งในทีมงานกระบวนการสร้างการเรียนรู้ด้วยละคร ให้กับเด็ก ๆ ทั้ง 4 โรงเรียนโครงการร่วมพัฒนา ระบุว่า สิ่งสำคัญที่เด็ก ๆ จะได้รับจากการทำละคร คือ การได้สร้างความภาคภูมิใจ (Self esteem) ให้เกิดขึ้นภายในจิตใจ ขณะเดียวกันเด็ก ๆ ยังได้ลงไปสัมผัสชุมชน เรียนรู้ปัญหาที่เกิดขึ้นร่วมกับชุมชน 

โดยขั้นตอนการทำละครจะเริ่มจากการสอนทักษะพื้นฐานการเล่นละคร และการสร้างเรื่องราว นักเรียนจะได้รับโจทย์ให้ไปสำรวจ มองหาปัญหาในชุมชน แล้วจึงค่อยสื่อสารเรื่องราวออกมา ตัวอย่างเช่น ชุมชนใกล้วัดห้วยยาว ด้านหน้าโรงเรียนมีปัญหาน้ำเน่าเสียจากขยะ และไม่สามารถใช้สอยได้ เด็ก ๆ ก็นำประเด็นปัญหานี้มาทำเป็นละครสะท้อนปัญหา โดยมีทั้งครู และชาวบ้านเป็นผู้ชมละคร เล่นในตลาด คล้ายกับละครเร่ในสมัยโบราณ ที่จะเล่นการแสดงกันบนพื้น ใกล้ชิดกับคนดู  หรือ ละครที่สะท้อนความทุกข์ใจของนักเรียน ที่ต้องอยู่ในรั้วโรงเรียนในแบบที่ตัวเองไม่รู้จักคุณค่าและเป้าหมายในชีวิต เช่น ละคร เรื่องวุ่น ๆ ของวัยรุ่นคริสมัสต์, ละคร วันเพ็ญเดือนสยอง, รวมถึงละครที่สะท้อนปัญหาการสารเคมีในพื้นที่จังหวัดพิจิตร เป็นต้น

ผู้ทำกระบวนการย้ำว่า ละครชุมชน จะไม่เน้นการแต่งกาย การแสดงโชว์ แต่เน้นเนื้อหาที่ผู้แสดงต้องการสื่อสารเพื่อให้คนในพื้นที่ได้รับรู้ปัญหา และเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้เด็กๆ เห็นคุณค่าในตัวเอง 

“สารคดี หนังสั้น” สื่อสร้างการเรียนรู้ ห้องเรียน กับ ชุมชน

อีกเครื่องมือหนึ่งคือ “การผลิตสารคดี หนังสั้น” สรรชัย หนองตรุด จากสถาบันรามจิตติ หน่วยงานที่ทำวิจัยด้านการศึกษา และใช้สารคดีเป็นเครื่องมือในการพัฒนาการเรียนรู้ มองว่า การผลิตสารคดี หนังสั้น เป็นกระบวนที่น่าสนใจ และน่าจะนำไปใส่ไว้ในโรงเรียน เพราะเป็นเครื่องมือที่สร้างความสนุก แปลกใหม่ และเหมาะกับเด็ก ๆ ที่ไม่ถนัดใช้ฐานกาย แต่ถนัดใช้เทคโนโลยี 

จากการลงพื้นที่หลายโรงเรียน ผลิตสารคดีมากกว่า 16 ชิ้น พบว่า กว่า 90% เป็นผลงานที่เกิดขึ้นจากเด็ก โดยล่าสุดจากการเข้าร่วมโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนายังได้ขยายผลการใช้เครื่องมือลักษณะนี้ไปถึงเด็กระดับชั้นประถมศึกษาอีกด้วย โดยพบว่า เด็ก ๆ สามารถสร้างตำนานใหม่ ๆ ที่ยังคงแฝงไว้ด้วยคุณค่า วิถีชีวิตของชุมชนได้เป็นอย่างดี โดยทีมกระบวนการมีความคาดหวังให้ เครื่องมือเหล่านี้ เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยสร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันให้โรงเรียน และชุมชน สามารถเชื่อมต่อกันได้ในรูปแบบข้ามขอบการเรียนรู้

โครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา ข้ามขอบการเรียนรู้ เพิ่งเริ่มต้นได้เพียงไม่ถีง 1 ปี ทีมกระบวนการ เห็นตรงกัน ว่า อย่างน้อยได้เริ่มเห็นการทลายกำแพงระหว่างครู กับ ศิษย์ ที่ชัดเจนมากขึ้น ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะทำให้ระบบการศึกษาไทยถูกรับฟังกันมากขึ้น แต่ยังต้องมีการติดตามประเมินผลอย่างต่อเนื่องว่าผลลัพธ์นั้นเกิดขึ้นกับเด็กอย่างแท้จริงหรือไม่ ซึ่งก็เป็นโจทย์ท้าทายหากต้องการขยายผลโมเดลนี้ไปยังพื้นที่อื่น ๆ ให้สามารถข้ามขอบการเรียนรู้ได้อย่างแท้จริง และทำให้ทุกภาคส่วนทั้งครู ผู้บริหาร ผู้ปกครอง โรงเรียนและชุมชนเป็นหุ้นส่วนทางการศึกษาอย่างเป็นรูปธรรมด้วย

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active