เมื่อโรงเรียน ฆ่าความคิดสร้างสรรค์? เปิดชุมทางการศึกษา สถานีมักกะสัน หวังก่อการสร้างการเรียนรู้ เชื่อมชีวิตเด็ก

“ก่อการครูออนทัวร์” ชวนคุณครู พบ พรรคการเมือง ถกปัญหาค้างคาของคุณครู หวังยกระดับการเรียนรู้ ออกจากห้องเรียน

วันนี้ (21 ม.ค. 2567) โรงงานมักกะสัน ถูกใช้เป็นพื้นที่เชิงสัญลักษณ์ เปิดวงพูดคุย “ชุมทางเครือข่ายการศึกษาไทย” นำเสนอปัญหาการศึกษาผ่านครูผู้ปฏิบัติงาน พรรคการเมือง ร่วมกับโครงการ “ก่อการครู” หวังยกระดับการเรียนรู้ในห้องเรียน เชื่อมโยงกับ ชีวิต ของผู้เรียน

เมื่อ ก่อการครู ตั้งคำถามว่าเพราะอะไร โรงเรียนในปัจจุบัน กลายเป็นพื้นที่ ฆ่าความสร้างสรรค์ ของนักเรียน เพราะถูกกำหนดกรอบความคิดจนทำให้ครูไม่กล้าตัดสินใจ ในขณะที่เด็กก็กลัวผิด ถูกสั่งห้ามคิด เป็นที่มาของแนวคิดจากคุณครูหลายคน ที่ต้องการ พาเด็กออกมาเรียนรู้นอกห้องเรียน นอกชุมชน

“โรงเรียนฆ่าความคิดสร้างสรรค์ ถูกกำหนดกรอบ ครอบความคิด

ทำให้ครูไม่กล้าตัดสินใจ เด็กก็กลัวผิด เพราะถูกสั่งห้ามคิด

ครูเลยลองตัดสินใจ เป็นเพื่อน ชวนเด็กมาร่วมเรียนนอกห้อง

พอเด็กรู้สึกเท่ากับครู เขาก็จะกล้าแสดงออกมากขึ้น”

ครูเก๋-สุดารัตน์ ประกอบมัย หัวหน้าโหนดก่อการครู Bangkok และพันธมิตร

เช่นดียวกับ ศิโรจน์ ชนันทวารี หรือ ครูอับดุลย์ ก่อนการครู Bangkok และพันธมิตร รุ่นที่ 2 ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง รองผู้อำนวยการโรงเรียนนาคนาวาอุปถัมภ์ 96 กทม. เขาเองก็มีความพยายาม จะพาเด็ก ๆ ออกมาเรียนรู้นอกห้องเรียน เพราะจากการสำรวจ พบว่า โรงเรียนที่ครูอยู่รายรอบด้วยชุมชนมากกว่า 10 ชุมชน รวมถึงมัสยิส และปราชญ์ชาวบ้าน ฯลฯ จึงริเริ่มทำฐานการเรียนรู้ชุมชน และจัดกิจกรรม 1 day trip เพื่อให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้ร่วมกับชุมชน

แต่ก็ต้องเจอกับอุปสรรคในช่วงแรก ติดขัดข้อจำกัด เช่น การขออนุญาตผู้ปกครอง, ข้อกังวลเรื่องความปลอดภัย แม้สุดท้ายจะเกิดกิจกรรมเหล่านี้ได้จากความพยายามของคุณครูและโรงเรียน แต่ครูหลายคนสะท้อนตรงกันว่า หากตัดข้อจำกัดออกได้จะยิ่งช่วยทำให้เด็ก ๆ มีพื้นที่การเรียนรู้ที่เชื่อมโยงกับชีวิต แสดงศักยภาพด้านบวกของตัวเองได้มากขึ้น

รศ.สิทธิชัย วิชัยดิษฐ อาจารย์คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ย้ำว่า ก่อการครู อยากลงมือทำให้ครูมีระบบนิเวศที่สร้างสรรค์ เป็นหลังพิงให้ครูรู้สึกไม่ต้องกังวล เสริมพลัง เปิดพื้นที่ให้ครูกล้าการลงมือก่อการเพื่อประโยชน์ของเด็ก ๆ โดยไม่ต้องกังวลระเบียบ ข้อจำกัดต่าง ๆ โดย รศ.สิทธิชัย มองว่าเสียงสะท้อนของครูส่วนใหญ่ไม่ได้เรียกร้องอะไรไปมากกว่า การลดข้อจำกัดเพื่อประโยชน์สูงสุดที่ผู้เรียนควรได้รับ และเหตุผลที่เลือกพื้นที่มักกะสันเป็นชุมทางของการพูดคุยเพราะเห็นองค์ประกอบของแรงงานที่อยู่ในพื้นที่ที่กำลังส่งเสียงเรียกร้องสิทธิด้านแรงงาน ซึ่งไม่ต่างจาก ชีวิตครู ที่กำลังเรียกร้องสิทธิบางอย่าง ปลดล็อกบางอย่าง เพื่อสร้างการเรียนรู้สูงสุดให้กับเด็กเรียน

ขณะที่ กมลวัฒน์ มนูญภัทราชัย ตัวแทนจากพรรคชาติไทยพัฒนา ระบุว่า ปัญหาหนึ่งที่พบหลังการพูดคุย คือ ผู้ปฏิบัติงานอย่างครู กับ พรรคการเมือง มีข้อมูลไม่ตรงกัน จึงเห็นว่าทั้งฝ่ายการเมืองและก่อการครู ควรผลักดันการสร้างพื้นที่กลาง และให้เป็นวาระระดับชาติ เพื่อให้คุณครูได้พูดคุยกันโดยตรงกับระดับนโยบาย และยังเห็นด้วยกับการทลายรั้วโรงเรียน เพื่อสร้างการเรียนรู้นอกห้องเรียนให้เกิดขึ้นได้จริง

ก่อการครูสิทธิเด็ก สลัดความกลัว ปกป้องเด็กถูกล่วงละเมิด

ท่ามกลางกระแสสังคมที่เห็นความรุนแรงเกิดขึ้นจากเด็กและเยาวชนอายุน้อย รวมไป ถึงเด็กเองที่ถูกกระทำล่วงละเมิดในโรงเรียน ทั้งที่ควรเป็นพื้นที่ปลอดภัย ส่วนหนึ่งจากมุมมองของ ครูแจง-ศิริพร ทุมสิงห์ ครูแนะแนว รร.สาธิตนวัตกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี และบทบาก่อการสิทธิเด็ก มองว่าปัญหาสำคัญมาจากพื้นที่ครอบครัว โรงเรียน ที่ไม่มีความรัก และไม่มีความสุข ทำให้เด็กหาพื้นที่ปล่อยแสงในมุมมืด หรือกลัวที่จะส่งเสียงว่าถูกละเมิด หรือกระทำความรุนแรง

คำถามสำคัญของทีมงาน ก่อการครู คือ แล้วใครจะต้องเป็นคนแก้ปัญหานี้ สุดท้ายจึงได้ข้อสรุปว่า ในเมื่อคุณครูเป็นคนที่อยู่ใกล้ชิดเด็กมากที่สุด ก็ควรจะเป็นครูที่ลุกขึ้นมาทำงานเชิงรุก เป็นที่มาของ ก่อการครูสิทธิเด็ก เป็นอีกพื้นที่รวมตัวของคุณครูที่เจ็บปวดกับการเห็นเด็กนักเรียนถูกล่วงละเมิดทางเพศ ละเมิดสิทธิในทางการเมือง แต่ไม่ถูกช่วยเหลือ เพราะแม้จะมี กลไกรัฐที่ดูแลเรื่องนี้อยู่แล้ว แต่ เด็กไม่กล้าออกมาเรียกร้อง ทำให้ ก่อการสิทธิเด็ก เริ่มก่อกำเนิดขึ้นตั้งแต่ปี 2563-ปัจจุบัน

สิทธิเด็กหากถูกละเมิด จะส่งผลถึงพัฒนาการทางสมองของเด็ก แต่เรื่องนี้ถูกพูดถึงน้อยในสังคม แม้กระทั่งในแวดวงการศึกษา… กลไกรัฐมีอยู่ แต่เด็กไม่กล้าออกมาเรียกร้อง เพราะไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัย ครูแนะแนว ไม่ได้ทำงานเชิงรุกเพราะระบบไม่เอื้อ และโรงเรียนเป็นพื้นที่แห่งความกลัว”

ครูแจง-ศิริพร ทุมสิงห์ ครูแนะแนว ก่อการครูสิทธิเด็ก

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาใหญ่ในวงการการศึกษาไทย อย่างเรื่องเสียงสะท้อนของครูที่ไม่ค่อยมีใครได้ยินปัญหา จึงเป็นความตั้งใจของทีมงานก่อการครู เปิดพื้นที่ให้ครูได้ส่งเสียงสะท้อน เพื่อให้ รร.มีความสุขมากขึ้น ผ่านชื่อ “ก่อการครูหิวเสียง” ธนา เอี่ยมบำรุงทรัพย์ รร.พานทอง จ.ชลบุรี ก่อการครูหิวเสียง จุดเริ่มต้นคือ ความตั้งใจที่จะเป็นพื้นที่ให้คุณครูปล่อยเสียง ส่งเสียงสะท้อนและมีพื้นที่รับฟัง เพื่อให้ห้องเรียนมีความสุข

รวมถึง ก่อการครู “PLC Reform” สร้างกระบวนการพูดคุยชุมชนทางวิชาชีพ สู่ การเรียนรู้ของเด็ก โดย ครูกั๊ก-ร่มเกล้า ช้างน้อย จตัวแทนจาก ก่อการครู PLC Reform เล่าให้ฟังว่า คำจำกัดความของ PLC: Professional Learning Community ทำให้การทำงานเคยล้มเหลว เพราะเป็นวงคุยที่เอาครูมานั่งประชุม ถ่ายภาพ พูดถึงแต่ปัญหา แต่ไปไม่ถึงการแก้ปัญหาระดับนโยบาย ก่อการครู จึงมีแนวคิดปรับคำนิยามใหม่มาเป็น PLC: Policy Learning Community เพื่อเชื่อมงานการเมือง กับงานครูให้เจอกัน

ให้ทุกภาคส่วนได้มามีส่วนร่วมในการพูดคุยหาทางออกไม่ได้มีเพียงแค่ “ครู” เท่านั้น แต่รวมถึงภาคการเมือง พรรคการเมืองต่างๆ, เอกชน, ภาคประชาชน ฯลฯ ขณะเดียวกันก่อการครู ยังสร้างพื้นที่การรับฟัง แลกเปลี่ยนอีกหลากหลายตั้งแต่ช่วงการเลือกตั้ง เช่น
กิจกรรม “ห้องพรรคครู” ที่ไลฟ์ผ่านเพจครูขอสอน เพื่อทำให้งานครูเชื่อมโยงกับการเมือง และ รายการเกี่ยวกับมิติการศึกษา เช่น รายการ “เรียนไปได้ใช่ป่ะ” เป็นต้น สะท้อนทิศทางก่อการครูที่กำลังขับเคลื่อนไปข้างหน้าร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ ในสังคม

สอดคล้องกับ ความคิดเห็นของ ครูทิว ธนวรรธน์ สุวรรณปาล กลุ่มครูขอสอน มองว่าการศึกษาควรถูกเชื่อมโยงกับทุกมิติในสังคม รวมถึงมิติการเมือง ที่ถือเป็นความจำเป็นอย่างหนึ่ง แต่ที่ผ่านมามักถูกครอบงำให้เรื่องของครู นักเรียน โรงเรียน ต้องไม่ข้องเกี่ยวกับการเมือง แต่การเมืองในแง่ของการจัดสรรทรัพยากร ทำอย่างไรให้ครูได้มีสิทธิส่งเสียง มีส่วนร่วม หากตั้งคำถามชัดแล้วว่า เด็กไม่ได้อะไรจากกิจกรรมที่จะทำ ก็ไม่ต้องทำ ต้องร่วมสร้างสรรค์สังคมใหม่ในสังคม

“PLC แปลว่า ชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพครู เป็นการเอาครูมานั่งประชุมกัน ถ่ายภาพ รู้แค่ปัญหาแต่ไม่เคยไปถึงนโยบาย

ก่อการครู นิยาม PLC ใหม่ เป็น Policy Learning Community
เพื่อเชื่อมงานการเมือง กับงานครูให้เจอกัน และสร้างพื้นที่ให้ครู นักเรียน พรรคการเมือง ได้มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาการศึกษาจริงๆ”

ร่มเกล้า ช้างน้อย ก่อการครู PLC Reform

ก่อการครู รักษาใจครู แล้วค่อยฟื้นฟูใจเด็ก

ด้วยสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงเด็กไทยมีสถิติของการเกิดโรคทางสุขภาพใจมากขึ้น มีภาวะความเสี่ยงสูงที่จะเกิดโรคซึมเศร้ามากขึ้น สิ่งที่น่าสนใจอีกประเด็กในโลกยุคปัจจุบัน คือ “การปรับสุขภาพใจของครู และนักเรียนให้มีความรัก และความสุข” โดยจะเริ่มจากการ “รักษาใจครู แล้วค่อยฟื้นฟูใจเด็ก” ปัจจุบันสิ่งที่น่าตกใจคือ ครูมีความอ่อนแอจนไม่สามารถกลับไปดูเด็กได้

แต่หลายครั้ง เรื่องสุขภาพจิต กลับถูกจัดไปอยู่ฝ่ายแนะแนว และถูกปัดเป็นเรื่องรอง จึงต้องการจะสร้างกระบวนการให้คุณครูมีสุขภาพใจที่ดี ก่อนจะไปดูและเด็ก ๆ ต่อไป

“ที่ผ่านมาครูแนะแนว รับภาระแนะแนวอาชีพ เลือกคณะ
แต่ส่วนใหญ่ทำไมเด็กไปไม่ถึงฝัน ?

เพราะเด็กเติบโตมาในระบบการศึกษา ที่ไม่เคยชวนคุยเรื่อง “การกลับมาเห็นคุณค่าของตัวเอง” หรือ Seft concept ทำให้มองไม่เห็นภาพว่า ชอบอะไร

ขณะเดียวกัน ครูไม่แข็งแรง จึงไม่สามารถช่วยเด็กได้
ต้นตอ คือ ผู้ดูแล หรือ ครู ไม่มีความสุข เช่นกัน”

ชนมล พูลสวน นักจิตวิทยาเด็กวัยรุ่น และครอบครัว และทีมงานก่อการรัก

มัดรวมปัญหาจาก หัวใจ “ชุมทางเครือข่ายการศึกษา”

ภายในเวทีเสวนาวันนี้ ยังมีเสียงสะท้อนจากผู้เข้าร่วมในหลายมิติปัญหาของครู ทั้งเรื่องภาระงานหนักจนไม่ได้โฟกัสพันธกิจหลักอย่างเรื่องการศึกษา, การรักษาสุขภาพทางใจของบุคลากรทางการศึกษา, รวมถึงมิติของการศึกษาที่ควรเชื่อมโยงกับการเมืองในมิติของการพัฒนานโยบายที่ต่อเนื่อง และเป็นความหวังของการศึกษาอย่างแท้จริง

  • มิติของ ผู้บริหาร ต้องแบกรับภาวะความเครียด จากทั้งระดับนโยบาย และระดับปฏิบัติการ ทักษะในการฟัง บริหารจัดการความขัดแย้ง ความเสี่ยง อาจไม่ได้ส่งถึงผู้บริหารโดยตรง พอมาใช้หมวกของผู้บริหารแว่นตาอาจจะเปลี่ยนไปโดยลืมความเป็นครู ความเป็นเด็ก โจทย์ใหญ่ คือ จะบริหารจัดการโรงเรียนไปต่อได้โดยเกิดการเรียนรู้ร่วมกัน และฝ่ายบริหารไม่ละเลยนโยบายดีดี
  • ตัวแทน ศึกษานิเทศ เป็นคนกลางระหว่างครู กับ ฝ่ายบริหารในระดับนโยบาย มองว่า ภาระงานของครูในปัจจุบันล้น มีโครงการที่มหาศาล ผ่านกำหนด KPI ขณะที่หลักสูตรการเรียนรู้ก็ไม่ได้ถูกปรับมาเป็นเวลานาน พันธกิจหลักอย่างเรื่องการเรียน เป็นภารกิจท้ายๆ ที่ได้ทำ จึงไม่แปลกที่ เมื่อจบหลักสูตรแล้วพบว่า เด็กไม่ได้พัฒนาทักษะที่สอดคล้องกับยุคสมัย
  • ครูฝึกสอน นิยามตัวเองว่าเป็น ชนชั้นล่างสุดของห่วงโซ่อุปทานของระบบการศึกษา ทำงานทุกวัน อยู่กับนักเรียนมีความสุขมากที่สุด แต่หลายๆครั้งที่ทำงานแทนคุณครูก็ต้องไปทำงานอื่น ทำให้ไม่มีเวลาอยู่กับนักเรียน และต้องการให้ “คืนนักเรียน ให้นิสิตฝึกสอนครู” นอกจากนี้ยังตั้งข้อสังเกตถึงระบบการผลิตครู ที่ไม่จูงใจให้คนไทยอยากเรียนครู ส่งผลมาถึงห้องเรียนที่ส่วนใหญ่ได้ครูที่ไม่อยากเป็นครู หรือบางคนที่มีพลังของการเป็นครู แต่สุดท้ายก็ถูกระบบบีบให้ไฟในการทำงานมอดลงอย่างน่าเสียดาย

นอกจากนี้ยังมี ยังมี สรชัด สุจิตต์ สส.ตัวแทนพรรคการเมือง ที่เคยทำงานในมิติการศึกษามาก่อน สะท้อนว่า ภายใต้ งบประมาณค่อนข้างมีจำกัด คงต้องกลับมาคิดว่าจะบริหารจัดการอย่างไรให้ลูกหลาน บรรลุผลลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาได้ สิ่งที่ทำคือพยายามมองหานวัตกรรมต่างๆ เข้ามา เชื่อมั่นว่าไม่มีอะไรพัฒนาการศึกษาได้ดีเท่ากับ “การพัฒนาครู”

ปารมี ไวจงเจริญ สส.พรรคก้าวไกล และคณะกรรมาธิการการศึกษา ระบุ ระบบราชการเป็นปัญหาใหญ่มาก ย้ำอย่าไปฟังข้าราชการชั้นผู้ใหญ่มาก หากจะแก้ได้จริงต้องกระจายอำนาจให้โรงเรียน และให้ครูได้มีอำนาจในการออกแบบการเรียนการสอน ยกเลิกหลักสูตรเก่า และใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะได้แล้ว ควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก และต้องอำนายความสะดวกให้กับครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากการควบรวมโรงเรียน

สำหรับกิจกรรมก่อการครู ที่จัดขึ้นในโรงงานมักกะสัน เกิดขึ้นเป็นเวทีที่ 3 หลังจากออนทัวร์ไปในภาคเหนือ จ.เชียงราย และภาคใต้ จ.สงขลา เพื่อฟังเสียงสะท้อนและสร้างพลังก่อการเพื่อประโยชน์ของเด็ก ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยมีความหวังจะเห็นระบบการศึกษาเปลี่ยนได้โดยเริ่มจากพลังเล็ก ๆ ที่ค่อย ๆ รวมกันเป็นเครือข่ายยิ่งใหญ่ต่อไป

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active