ฟื้นย่านหนังสือ ให้กำลังใจร้านย่านพระนคร

สำรวจ 9 ร้านหนังสือย่านพระนคร ปลุกกรุงเทพฯ เมืองหนังสือ ‘ภาค ปชช.’ ชวนคนรักการอ่านให้กำลังใจร้านหนังสือในตำนาน ‘กทม.’ จัดกิจกรรมนั่งรถไฟไปห้องสมุด พัฒนาคลังความรู้ที่ทุกคนเข้าถึงได้

เมื่อวันที่ 3 ก.ย. 2565 เพจ JUST READ ภาคประชาชนที่รณรงค์เรื่องของการอ่านหนังสือ จัดกิจกรรม “คลับ เที่ยวอ่าน” ชวนผู้ที่รักการอ่านหนังสือ เดินสำรวจ 9 ร้านหนังสือในความทรงจำย่านพระนคร ขณะเดียวกัน ก็กำลังถูกท้าทายจากหลายปัจจัย อาจหลงเหลือไว้เพียงตำนานหากไม่ได้รับการสนับสนุน

หนังสือ
ปิติ ทวีวัฒนสาร เจ้าของร้านหนังสือ “รวมสาส์น”

ร้าน “รวมสาส์น” คือร้านหนังสือที่เกิดขึ้นในช่วงยุคทองของวังบูรพา ผ่านมากว่า 60 ปี ที่ร้านต้องหยุดตีพิมพ์หนังสือเนื่องจากต้นทุนที่มีราคาสูง เหลือเพียงจัดจำหน่ายหนังสือที่อัดแน่นไปด้วยความรู้ โดยเฉพาะพจนานุกรมหลากหลายภาษา เช่น จีน-ไทย ที่ได้รับลิขสิทธ์จาก เธียรชัย เอี่ยมวรเมธ แต่เพียงผู้เดียว และยังมีนวนิยายไทยในยุคโบราณ แต่ทุกวันนี้คนอ่านที่แวะเวียนเข้ามาหน้าร้านลดลงมาหลายปีแล้ว

“สมัยหนุ่ม ๆ เคยเข้าไปบอกกระทรวงฯ ขอให้สนับสนุนการอ่านหน่อยนะ แต่ก็เงียบไป ขอให้ลดภาษีกระดาษก็เงียบไป ก็เลยช่วยตัวเองมาโดยตลอด ถ้าเป็นสำนักพิมพ์ในต่างประเทศมีข่าวจะปิดตัว ทุกคนต้องแห่ไปซื้อเพื่อให้ร้านจะยังไม่ปิด แต่ตอนบ้านเรา “สกุลไทย” ปิดรัฐบาลเฉย ๆ ทั้งที่เป็นหนังสือทรงคุณค่ามาก ๆ”

ปิติ ทวีวัฒนสาร

นอกจากนี้ยังมีร้านบูรพาสาส์น ร้านหนังสือเก่าแก่ที่ปรับตัวเพิ่มในส่วนของร้านกาแฟ, ร้านโอเดียนสโตร์, ร้าน WorldAtTheCorner ในบ้านไม้เก่าแต่ปรับปรุงให้เป็นร้านหนังสือจากทั่วโลกที่มีแรงบันดาลใจจากการเดินทาง , ร้านเปียบุ๊ค ที่อัดแน่นไปด้วยนิตยสาร, ร้านริมขอบฟ้า หนังสือแนวประวัติศาสตร์ บนโค้งอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย, ร้านหนังสือเดินทางที่กำลังต้องออกเดินทางอีกครั้ง หลังถูกเวนคืนดินสร้างเป็นสถานีรถไฟฟ้า ปิดท้ายกิจกรรมล้อมวงคุยบอกเล่าเรื่องราวร้านหนังสือ กับ “น้าหนอม จอมอ่าน” (ถนอมวงศ์ ล้ำยอดมรรคผล) ภายในร้านสวนเงินมีมา และร้านศึกษิตสยาม

สหัสวรรษ ธนสุขสวัสดิ์ เจ้าของเพจ JUST READ

สหัสวรรษ ธนสุขสวัสดิ์ เจ้าของเพจ JUST READ กล่าวว่า กิจกรรมในวันนี้ต้องการพาทุกคนมาร่วมเปิดประสบการณ์ และความหลากหลายของย่านหนังสือฝั่งพระนคร ที่สำคัญเป็นร้านอิสระที่บางคนอาจจะเคยได้ยินชื่อ ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของร้านหนังสือในประเทศไทย ว่ามีความเป็นมาอย่างไร และตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง ขณะเดียวกันก็อาจทำให้คนที่รักการอ่านหนังสือเกิดแรงบันดาลใจ ในการที่จะสนับสนุนร้านหนังสือในวิธีของตัวเอง

“เห็นความเปลี่ยนแปลงมากขึ้นเยอะกว่าแต่ก่อนโดยเฉพาะหลังโควิด มีกิจกรรมเกี่ยวกับห้องสมุด หรือร้านหนังสือมากขึ้น มีในส่วนของภาครัฐที่เริ่มสนใจมากขึ้น เรารู้สึกว่ามันเป็นการกระเตื้องของวงการหนังสือระดับหนึ่ง อาจจะไม่ได้ใหญ่มากแค่ในระดับ กทม. แต่มันทำให้เราเห็นว่าทุกคนสนใจ และอยากจะช่วยวงการหนังสือจริง ๆ แต่แค่ไม่รู้จะทำยังไง”

สหัสวรรษ ธนสุขสวัสดิ์

ด้านกรุงเทพมหานคร ได้ร่วมกับ OKMD,  TK Park อุทยานการเรียนรู้  และ Matichon Book – สำนักพิมพ์มติชน ร่วมจัดกิจกรรม Library Alive : ห้องสมุดมีชีวิต จะจัดขึ้นตั้งแต่ ก.ย. 65 – ม.ค. 66 เปิดพื้นที่สาธารณะของห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้กรุงเทพมหานคร 34 แห่ง ให้เป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับคนทุกเพศทุกวัย และพัฒนารูปแบบการให้บริการและกิจกรรม ใน 3 ระดับ คือ การสร้างแรงบันดาลใจให้กับบุคลากรห้องสมุดผ่านการออกแบบกิจกรรมที่น่าสนใจ การจัดอบรมเชิงปฏิบัติการให้บุคลากรของกรุงเทพมหานคร และระดับนโยบาย จัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย 

สำหรับกิจกรรมแรกคือการ “นั่งรถไฟไปห้องสมุด” กรุงเทพฯ วันที่ 4 ก.ย. 65 ตั้งแต่เวลา 07.00 – 16.00 น. เริ่มต้นที่ห้องสมุดการเรียนรู้วัดราชโอรสาราม พร้อมทัศนศึกษาศึกษาศิลปะและประวัติศาสตร์ในสมัยรัชกาลที่ 3 ต่อเนื่องไปที่ห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้บางบอน ร่วมกิจกรรมซ่อมหนังสือแสนรัก ผ่านวิทยากรธนภัทร์ ลิ้มหัสนัยกุล แฟนพันธุ์แท้วัดไทย และศักดิ์ศรี บุญยรักษ์โยธินนักจัดการความรู้อาวุโส TK Park

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active