รถบัส 196 คัน ติดตั้งถังก๊าซ CNG ไม่ผ่านตรวจสภาพ เหลือรอคิวอีกนับหมื่น

ที่ปรึกษาคณะกรรมการพิจารณาศึกษาแนวทางการป้องกันและลดอุบัติเหตุฯ ชี้ ควรเพิ่มบทบาทเจ้าหน้าที่ประจำจุดเช็คพ้อยท์รถโดยสารวิ่งระหว่างเมืองให้เข้มงวดมากขึ้น

จากกรณีอุบัติไฟไหม้รถบัสทัศนศึกษาเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 67 ที่ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 23 คน บาดเจ็บ 3 คน ซึ่งจากข้อมูลพบว่ารถโดยสารคันดังกล่าวเป็นรถโดยสารชั้นเดียวที่มีการปรับแต่งโครงสร้าง และต่อมา วันที่ 2 ต.ค. 67 สุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม มีข้อสั่งการให้ กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เรียกรถโดยสารสาธารณะทั้งประจำทางและไม่ประจำทาง ที่ใช้เชื้อเพลิง CNG ทั้งหมดจำนวน 13,426 คัน เข้ารับการตรวจสภาพรถภายใน 60 วัน หรือต้องแล้วเสร็จภายในวันที่ 30 พ.ย. 67  นั้น

ข้อมูลล่าสุดของ ขบ. ระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 4 – 20 ต.ค. 67 ตรวจสภาพรถโดยสารสาธารณะไปแล้วทั้งสิ้น 1,973 คัน ในจำนวนนี้มี รถที่ไม่ผ่านการตรวจสภาพ 196 คัน และคงเหลือรถที่ยังไม่ได้รับการตรวจสภาพอีก 11,453 คัน

สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ที่ปรึกษาคณะกรรมการพิจารณาศึกษาแนวทางการป้องกัน และลดอุบัติเหตุเพื่อสร้างความปลอดภัยทางถนน สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมาให้ความเห็นต่อกรณีใกล้ครบรอบ 1 เดือน กรณีรถทัศนศึกษาไฟไหม้ กับอนุกรรมการด้านขนส่งและยานพาหนะ สภาผู้บริโภค ระบุว่า จากข้อมูลของกรมการขนส่งทางบกจะเห็นว่า มีรถโดยสารอีกมากกว่า 10,000 คัน ที่ยังไม่ได้ตรวจสภาพรถ และคาดว่าไม่สามารถตรวจสอบให้แล้วเสร็จได้ภายในเวลาที่หน่วยงานของรัฐประกาศกําหนด

แต่รถโดยสารเหล่านั้นยังคงวิ่งให้บริการอยู่บนท้องถนน ซึ่งค่อนข้างที่จะมีผลกระทบต่อเรื่องของหลักประกันความปลอดภัยของประชาชนที่เป็นผู้ใช้บริการ ถือเป็นบริการสาธารณะที่ยังขาดมาตรฐานความปลอดภัยอย่างเพียงพอ เพราะฉะนั้นเรื่องนี้จะต้องเริ่มต้นและแก้ไขให้เสร็จสิ้นโดยหน่วยงานของรัฐ อาจเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่โดยตรงในการดูแลเรื่องของรถโดยสารสาธารณะ หรือหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ที่ปรึกษาคณะกรรมการพิจารณาศึกษาแนวทางการป้องกัน
และลดอุบัติเหตุเพื่อสร้างความปลอดภัยทางถนน สภาผู้แทนราษฎร

สุรชัย กล่าวอีกว่า นอกเหนือจากการเรียกรถโดยสารให้เข้ามาตรวจสอบสภาพใหม่อย่างจริงจังและอย่างโปร่งใสแล้ว ควรมีการตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง เช่น การสุ่มตรวจ ณ จุดบริการ หรือการปรับบทบาทของจุดตรวจสอบหรือเช็กพ้อยท์ (check point) ซึ่งหน่วยงานของรัฐได้กําหนดให้มีจุดเช็กพอยท์อยู่แล้วสําหรับรถที่วิ่งระหว่างเมือง จึงเสนอให้เพิ่มบทบาทของเจ้าหน้าที่ประจําจุดต่างต่างเหล่านี้ให้มีความเข้มงวดในการตรวจสอบเชิงลึกมากขึ้น มีรายการเช็กลิสต์ที่จะต้องตรวจสอบ เช่น จํานวนถังแก๊ส จุดติดตั้งถังแก๊ส อุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยประจําตัวรถ จํานวนผู้โดยสาร ข้อมูลเกี่ยวกับผู้โดยสาร ข้อมูลการเดินทางตั้งแต่จุดต้นทางไปถึงปลายทาง ต่าง ๆ เหล่านี้เป็นเครื่องมือในการกํากับดูแลผู้ประกอบการ พนักงานขับรถ รวมถึงพนักงานประจํารถให้มีระเบียบวินัยแล้วก็มีกฎเกณฑ์เพื่อความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

“ผมเชื่อว่ารถที่มีสภาพแบบนี้และยังคงวิ่งให้บริการอยู่บนท้องถนนทุกวันนี้ มีจํานวนไม่น้อยที่ยังมีความเสี่ยงต่อเรื่องของมาตรฐานความปลอดภัย ไม่ว่าเรื่องมาตรฐานความมั่นคงแข็งแรง ความถูกต้องหรือความไม่ถูกต้องของการติดตั้งถังแก๊สที่เอามาใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนน้ำมัน ทั้งนี้ การย้ายเจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่ในการตรวจสอบสภาพรถออกจากพื้นที่ไม่ใช่คําตอบ ที่จะทําให้สังคมเห็นความชัดเจนและเกิดความเชื่อมั่นว่าการตรวจสอบสภาพรถได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างถูกต้อง ตรงไปตรงมาและโปร่งใส”

สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย 

นอกจากนี้ยังชี้ถึงปัญหาความอ่อนแอเรื่องการบังคับใช้กฎหมายในประเทศไทย โดยยกตัวอย่างกรณีรถโดยสารเกิดเพลิงไหม้เมื่อวันที่ 1 ต.ค. 67 ที่สะท้อนให้เห็นถึงข้อบกพร่องของการบังคับใช้กฎหมายและการกำกับดูแลมาตรฐานความปลอดภัยได้อย่างชัดเจน ซึ่งปัจจัยร่วมที่ทําให้อุบัติเหตุรุนแรง แบ่งได้เป็น 3 ประเด็น ดังนี้

  • ประเด็นที่หนึ่ง การนําโครงของรถโดยสารเก่ามาดัดแปลง เปลี่ยนแค่ภายนอกหรือเปลี่ยนตัวเฉพาะตัวถังรถใหม่ และได้รับการจดทะเบียนใหม่ นี่คือคําถามที่หน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลให้ความสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นเกิดจากโครงรถหัก จึงเป็นหลักฐานที่ชัดเจนว่าการนําโครงรถเก่ามาดัดแปลงนั้นไม่มีความปลอดภัยเพียงพอ

  • ประการที่สอง การควบคุมตรวจสอบเรื่องจำนวนและจุดติดตั้งถังแก๊ส เนื่องจากจํานวนถังแก๊สที่ติดตั้งของรถโดยสารคันที่เกิดอุบัติเหตุ ย้อนแย้งกับรายงานผลการตรวจสอบของหน่วยงานที่บอกว่ารถคันนี้เพิ่งผ่านการตรวจสอบตามรอบเมื่อเดือนพฤษภาคม ก่อนเกิดเหตุเพียง 4 – 5 เดือน นำมาสู่คำถามว่า เหตุใดจำนวนถังแก๊สที่ปรากฏจริงจึงไม่ตรงกับจํานวนที่ปรากฏในรายงานการตรวจสอบสภาพรถ ซึ่งเป็นเรื่องที่หน่วยงานต้องออกมาให้ความชัดเจน

  • ประการที่สาม รายละเอียดอื่น ๆ ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยง เช่น ความพร้อมของอุปกรณ์นิรภัย ประตูฉุกเฉิน ฯลฯ

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active