‘รถบัสรับจ้างไม่ประจำทาง’ ไม่ผ่านมาตรฐานด้านลุกไหม้ นับหมื่นคัน

‘ทีดีอาร์ไอ’ เผย ช่องโหว่ ประกาศกรมการขนส่งฯ เพิ่งบังคับใช้ปี 2565 กลับไม่มีผลย้อนหลัง ขณะที่ ผู้ประกอบการ ไม่พร้อมแบกภาระ เปลี่ยนใช้วัสดุกันไฟ ชี้ไม่ต่างระเบิดเวลาบนท้องถนน เสนอรัฐ หนุนผู้ประกอบการปรับปรุงมาตรฐาน ช่วยซื้อเวลาไม่นำไปสู่เหตุความสูญเสีย

วันนี้ (3 ต.ค. 67) สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัย ด้านนโยบายการขนส่ง และโลจิสติกส์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวถึง มาตรฐานความปลอดภัยของรถทัศนาจร หรือรถรับจ้างไม่ประจำทาง ภายหลังเกิดเหตุไฟไหม้รถบัสทัศนศึกษาว่า แม้ว่ากรมการขนส่งทางบกจะมีความพยายามในการปรับปรุงมาตรฐานรถโดยสารขนาดใหญ่ในหลายประเด็น รวมถึงมาตรฐานด้านการลุกไหม้มาตั้งแต่ปี 2559 โดยออกประกาศกรมการขนส่งทางบก เรื่องกำหนดคุณสมบัติด้านการลุกไหม้การลามไฟของวัสดุที่ใช้ตกแต่งภายในรถโดยสาร

สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัย ด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์ ทีดีอาร์ไอ

แต่ปรากฎว่า ประกาศดังกล่าวถูกเลื่อนการบังคับใช้อยู่เรื่อย ๆ ด้วยเหตุผล เพราะผู้ประกอบการไม่มีความพร้อมแบกรับต้นทุนจากการเปลี่ยนไปใช้วัสดุกันไฟที่มีราคาแพง จนสุดท้ายเพิ่งบังคับใช้ได้จริงในปี 2565 แต่กลับไม่มีผลย้อนหลัง หมายความว่าใช้บังคับได้เฉพาะกับรถที่จดทะเบียนใหม่ หรือมีการปรับปรุงตัวถังใหม่ในปี 2565 เท่านั้น โดยรถคันที่เกิดเหตุเป็นหนึ่งในกรณีที่ไม่เข้าเงื่อนไขของประกาศฉบับนี้เนื่องจากมีการจดเบียนใหม่ในปี 2561

สุเมธ ระบุด้วยว่า ในปัจจุบันรถทัศนาจร หรือรถรับจ้างไม่ประจำทาง ในกลุ่มมาตรฐาน 1 ซึ่งเป็นประเภทเดียวกับรถคันที่เกิดเหตุ มีจำนวน 5,896 คัน และรถมาตรฐาน 4 หรือรถ 2 ชั้น มีจำนวน 4,972 คน จากการตรวจสอบพบว่า ในจำนวนทั้งหมดกว่า 1 หมื่นคันนี้ มีจำนวนเพียง 5% เท่านั้น ที่ผ่านมาตรฐานด้านการลุกไหม้ จึงอนุมานได้ว่า ส่วนที่เหลืออีก 95% ที่เป็นรถจดทะเบียนก่อนประกาศดังกล่าวบังคับใช้ ยังไม่ถูกกำหนดให้มีมาตรฐานนี้ ขณะที่ในต่างประเทศเวลากำหนดมาตรฐานในเรื่องเหล่านี้จะให้มีผลบังคับใช้ย้อนหลังด้วยและต้องเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 1-2 ปี 

ถ้าดูเรื่องวัสดุทนไฟต่าง ๆ คาดว่ามีรถที่ไม่ผ่าน หรือไม่ได้มาตรฐานใหม่ตามที่กรมการขนส่งทางบกกำหนดเป็นหมื่นคัน จำนวนนี้แสดงให้เห็นถึงขนาดของปัญหาที่วิ่งอยู่บนท้องถนนตอนนี้ เสมือนกับเป็นระเบิดเวลาที่เราไม่รู้ว่าจะเกิดเหตุขึ้นอีกเมื่อไหร่ ดังนั้น กรมการขนส่งทางบกควรติดตามตรวจสอบรถในกลุ่มนี้ที่ยังวิ่งอยู่ในระบบ เช่น ด้านมาตรฐานทนไฟ การชนด้านหน้า สภาพรถเป็นอย่างไร ติดก๊าซหรือไม่ ฯลฯ โดยเร่งกำหนดมาตรการอย่างเข้มข้นในรถกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงก่อน”

สุเมธ องกิตติกุล

สุเมธ ระบุด้วยว่า เหตุที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของมาตรฐานความปลอดภัยของรถทัศนาจร ซึ่งความเสี่ยงนี้กระทบต่อสวัสดิภาพของประชาชน โจทย์ใหญ่ของรัฐ คือ จะดำเนินการเปลี่ยนแปลงให้รถเหล่านี้มีมาตรฐานด้านวัสดุทนไฟให้ดีขึ้นได้อย่างไร ซึ่งภาครัฐอาจจะต้องเข้ามาร่วมกับผู้ประกอบการให้ปรับปรุงมาตรฐานดีขึ้น โดยสร้างแรงจูงใจต่าง ๆ เช่น

  • การให้เงินช่วยเหลือโดยตรงไปยังผู้ประกอบการ

  • มีเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เพื่อให้ผู้ประกอบการมีทุนในการปรับปรุงมาตรฐานรถ ทั้งการเปลี่ยนวัสดุไวไฟ เช่น เบาะที่นั่ง, ม่าน, พรม ให้เป็นไปตามมาตรฐาน UNECE ซึ่งคือการใช้วัสดุที่ทนไฟได้ในระดับหนึ่ง เมื่อเกิดเหตุการณ์ไฟลุกไหม้จะไม่เร็วและแรง สามารถช่วยซื้อเวลาให้ผู้โดยสารหนีออกภายนอกตัวรถได้
เหตุการณ์อุบัติเหตุไฟไหม้รถบัสทัศนศึกษา (1 ต.ค. 67)

สำหรับกรณีระยะเวลาการใช้งานของรถคันเกิดเหตุ ที่พบว่ามีการจดทะเบียนมาตั้งแต่ปี 2513 นั้น สุเมธ ระบุว่า องค์ประกอบหลักของรถจะมี 2 ส่วน คือ โครงหลัก หรือที่เรียกว่า แชสซี ที่เปรียบเสมือนกระดูกสันหลังของรถ ซึ่งอยู่ด้านใต้ตัวรถติดกับโครงล้อ ปกติรถขนาดใหญ่ จะจดทะเบียนครั้งแรกด้วยแชสซี ซึ่งส่วนนี้มีอายุการใช้งาน 70 – 80 ปี และ อีกส่วน ที่เป็นโครงสร้างที่มีปัญหา คือ ตัวถังรถ ซึ่งประกอบไปด้วย หลังคา ประตู เบาะที่นั่ง โดยตัวถังรถมีอายุการใช้งาน 8 – 10 ปีเท่านั้น จึงต้องมีการปรับเปลี่ยนเป็นระยะ อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจว่าจะปรับปรุงตัวถังรถหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับผู้ประกอบการเป็นหลักว่าต้องการเปลี่ยนหรือไม่ เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่มีมาตรการกำหนดอายุรถ หรือระยะเวลาการปรับปรุงสภาพรถ มีแต่การตรวจสอบตามมาตรฐานความปลอดภัยโดยกรมการขนส่งทางบก 2 ครั้งต่อปี

“ความเสื่อมสร้างความเสี่ยง จะมีการปรับปรุงความเสี่ยงเหล่านี้อย่างไร การตรวจสอบมีความเข้มงวดมากน้อยขนาดไหน ตรงนี้ล้วนเป็นประเด็น เพราะมาตรฐานการติดตั้ง ยังเป็นสิ่งที่มีความท้าทายในการตรวจสอบอยู่ หากการติดตั้งทำโดยช่างผู้ชำนาญการก็จะได้มาตรฐานสูง แต่ถ้าติดตั้งโดยไม่รัดกุมมากนักก็จะทำให้เกิดปัญหาต่างๆ เช่น ประกายไฟ ได้”

สุเมธ องกิตติกุล

ผู้อำนวยการวิจัย ด้านนโยบายการขนส่งฯ ทีดีอาร์ไอ ระบุด้วยว่า รถทัศนาจรยังคงต้องมีอยู่ แต่จะต้องแก้ไขในเรื่องมาตรฐานความปลอดภัย เพื่อทำให้ประชาชนมีความมั่นใจเพิ่มมากขึ้น ซึ่งถือเป็นโจทย์ที่จะต้องรีบทำ และควรมีข้อกำหนดให้มีการสื่อสารวิธีการเอาตัวรอดให้กับผู้โดยสารได้รับทราบเวลาเกิดเหตุฉุกเฉินเหมือนกับการเดินทางด้วยเครื่องบิน ซึ่งในปัจจุบันไม่ได้มีกระบวนการเป็นข้อบังคับนี้ในรถทัศนาจรทุกคัน ขณะเดียวกันควรยกระดับพนักงานขับรถด้วย

ในส่วนของประชาชนเอง ควรต้องมีความเข้าใจในการเลือกรถที่มีความปลอดภัยเป็นพื้นฐาน โดยเฉพาะรถโดยสารไม่ประจำทาง ไม่ควรจ้างรถสภาพไม่ดีแต่มีราคาราคาถูก อีกทั้งควรต้องสังเกตความพร้อมของอุปกรณ์ความปลอดภัยและประตูหนีไฟ ซึ่งหากผู้บริโภคส่งสัญญาณแบบนี้ ผู้ประกอบการจะเกิดการต้องปรับตัว นอกจากนี้ หากโดยสารรถแล้วรู้สึกว่ามีอะไรที่ไม่เหมาะสมไม่ปลอดภัย ต้องรีบแจ้งสายด่วนของกรมการขนส่งทางบกทันที

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active