จับตา กมธ.ประมงฯ ส่อเปิดทาง เรือปั่นไฟปลากะตัก

เครือข่ายประมง – ภาควิชาการ หวั่นตัดตอนจับสัตว์น้ำวัยอ่อน ด้าน รอง กมธ.ประมงฯ ยัน ยึดหลักการตาม มาตรา 57 เครื่องมือประมง ส่งผลต่อการจับสัตว์น้ำวัยอ่อนเกินกว่าเกณฑ์ ไม่ควรได้รับการอนุญาตทำการประมง

วันนี้ (13 มิ.ย. 67) คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ แก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ 2558 พ.ศ…ซึ่งประชุมกันมาต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 12 โดยวันนี้มีวาระการพิจารณาหลายมาตรา เช่น มาตรา 66, มาตรา 67 ซึ่งล่าสุดการประชุมยังพิจารณาแค่ มาตรา 67 และหนึ่งในมาตราสำคัญที่หลายฝ่ายจับตาคือมาตรา 69 ซึ่งร่างกฎหมายฯ ที่พรรคการเมืองต่าง ๆ เสนอ เขียนไว้ชัดเรื่อง การอนุญาตให้อวนล้อม ที่มีตาอวนน้อยกว่า 2.5 เซนติเมตร สามารถทำประมงได้ในเวลากลางคืน หรือการอนุญาตอวนล้อมปั่นไฟปลากะตัก ซึ่งตามกฎหมายเดิม อนุญาตให้อวนล้อม ที่มีตาอวนขนาดเล็กกว่า 2.5 เซนติเมตร ทำประมงได้ในเวลากลางวันเท่านั้น 

ทั้งนี้หากทำในเวลากลางคืนได้ ต้องใช้อวนตาห่างมากกว่า 2.5 เซนติเมตรขึ้นไป เพราะอวนล้อม ถือเป็นเครื่องมือประสิทธิภาพสูง วางอวนต่อครั้งกินพื้นที่รัศมีกว่าครึ่งกิโลเมตร  แถมจับกลางคืนเปิดไฟล่อปลาอีก ปลาเล็กปลาน้อยทุกชนิดมารวมกันหมด คือ ถ้าอวนตาห่างมากกว่า 2.5 เซนติเมตร ลูกปลาก็จะพอรอดไปได้  

แต่หากเปลี่ยนและอนุญาตในเวลากลางคืนได้  ทำให้มีเสียงคัดค้านจากหลายฝ่ายทันที ทั้ง กลุ่มประมงพื้นบ้าน รวมทั้งเครือข่ายสายอนุรักษ์ทรัพยากร ต่างจับตาและแสดงความกังวลต่อประเด็นนี้ เพราะกังวลว่าจะเป็นการตัดตอนจับสัตว์น้ำวัยอ่อน และปริมาณจับสัตว์น้ำที่มากเกินไป ส่งผลปริมาณทรัพยากรทางทะเลที่ลดลง 

“ไม่เห็นด้วย 100% แล้วก็ขอค้านหัวชนฝา ที่บอกว่าจับปลากะตัก แต่หากไปดูข้อมูลกันจริง ๆ ดูเรือพวกนี้ตอนเขาขึ้นปลา เราจะเห็นทันทีว่ามันไม่ใช่ สิ่งที่ติดมามันหลากหลาย และจำนวนมากด้วย ลองคิดดู ขนาดเราเปิดไฟไว้ดวงเดียว แมลงหลายชนิดยังเข้ามาตอม แล้วเรือปั่นไฟในทะเล ดวงไฟเป็นร้อย ๆ ดวง ขนาดเราขับเรือเองยังหลงไปไม่ถูกทิศไหน ปลาทุกชนิดก็เข้ามาเพราะหลงไฟ ลูกปลาตัวเล็ก ๆ ก็ไม่รอดตาอวนเล็ก ล้อมเอาไปหมด“ 

ตัวแทนเครือข่ายประมงพื้นบ้าน จ.สตูล

“อยากให้มีการควบคุมจำนวนเรือ เพราะยิ่งมากยิ่งทำลายทรัพยากร  และในการออกไปจับแต่ละครั้ง ควรมีการควบคุมปริมาณ ไม่ใช่ใครมือยาวสาวได้สาวเอา และขนาดของทรัพยากรที่จับมา ควรมีการกำหนดขนาดด้วย ถ้าทำ 3 อย่างนี้ มีมาตรการดูแลจริงจัง ให้เกิดเป็นรูปธรรม ตรงนี้มากกว่าจะช่วยให้ทะเลไทยฟื้นขึ้นมา“ 

กรรมการประมงจังหวัด ในฐานะตัวแทนผู้บริโภค 

ด้าน วรภพ วิริยะโรจน์  สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะรองประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ 2558 บอกว่า ประเด็นนี้น่าจะต้องพูดคุยกันในวันนี้ หรือถ้าไม่ทันก็จะต่อในสัปดาห์หน้า ทั้งนี้กฎหมายเดิมห้ามใช้อวนล้อมจับที่มีขนาดน้อยกว่า กว่า 2.5 ซม. ในเวลากลางคืน นั่นหมายความว่าทำได้ในเวลากลางวันอยู่แล้ว แต่ที่ชาวประมง อธิบายว่าในร่างฯ ของพรรคการเมือง พยายามบอกว่า เวลากลางคืน นอก 12 ไมล์ทะเล ควรจะต้องทำได้ เพราะว่าเป็นวิถีการทำประมง ที่มีประเด็นข้อกังวล น่าจะเป็นการใช้เรือปั่นไฟล่อ ที่อาจจะทำให้ลูกปลาเข้ามาติดในอวนตรงนี้ได้

อย่างไรก็ตามเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ก็ยืนยันว่า การพิจารณาประเด็นดังกล่าว หรือเรื่องอื่น ที่มีผลกระทบต่อปริมาณการจับสัตว์น้ำที่มากเกินไป โดยเฉพาะสัตว์น้ำวัยอ่อน จะยึดหลักการตามมาตรา 57 

“ที่คุยกันไว้ว่า ถ้าเครื่องมือไหน อุปกรณ์ไหน มีการจับสัตว์น้ำวัยอ่อนเกินกว่าเกณฑ์ที่กำหนด เครื่องมือนั้น ก็ไม่ควรจะได้รับการอนุญาต ทำการประมง ซึ่งสิ่งนี้เป็นหลักการที่เห็นตรงกันใน กมธ.แล้ว“ 

วรภพ วิริยะโรจน์  
วรภพ วิริยะโรจน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล

ขณะที่ในเวทีเสวนาวิชาการ “สู่การดูแลทะเลร่วมกันอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน” เสียงสะท้อนจากภาควิชาการ และภาคประชาชนต่อการแก้ไขกฎหมายการประมง ที่จัดขึ้น ณ ห้องประชุม CU Social Innovation Hub จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อร่วมกันแลกเปลี่ยนมุมมองและวิเคราะห์ผลกระทบต่อร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง ได้มีการสรุปภาพรวมถึงข้อกังวล 8 ด้าน ประกอบด้วย

  1. การผ่อนปรนบทลงโทษเชิงป้องกันที่ถูกออกแบบเพื่อขัดขวางการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม (IUU) 

  2. การรื้อฟื้นการขนถ่ายสัตว์น้ำกลางทะเลมาตรา 85/1 และมาตรา 87 

  3. การรื้อฟื้นการเปลี่ยนย้ายลูกเรือกลางทะเล มาตรา 83/1 

  4. การลดทอนกลไกการติดตาม ควบคุม และเฝ้าระวังการทำประมง มาตรา 81(1) 

  5. การลดทอนกลไกเฝ้าระวังและคุ้มครองแรงงาน มาตรา 82 และมาตรา 83  

  6. การลดทอนการควบคุมเครื่องมือประมงทำลายล้าง มาตรา 67 และ 69 

  7. การผ่อนคลายกฎระเบียบที่คุ้มครองสัตว์น้ำที่หายากหรือใกล้สูญพันธุ์ มาตรา 66  

  8. ความพยายามกีดกันทางการค้าด้วยข้อกำหนดการนำเข้าและกำแพงการค้า มาตรา 97

ตัวแทนภาควิชาการ จากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ที่มีคณะประมง สังคม การจัดการทรัพยากรสิ่งแวดล้อม ต่างตบเท้าร่วมเวทีนี้ เห็นตรงกันว่า หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขกฎหมายประมง ต้องไม่ลืมว่ากฎหมายไทยอย่างเดียวไม่เพียงพอต่อการทำประมงอย่างยั่งยืน เพราะการที่ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันไว้ในหลักการระหว่างประเทศว่าด้วยการป้องกันการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU) เป็นสิ่งสำคัญที่กฎหมายไทยจะต้องออกไปไปในทิศทางเดียวกันกับข้อกำหนดดังกล่าว รวมทั้งเรื่องของการประมงอาจจะไม่ใช่เรื่องของผู้มีส่วนได้เสียแค่ชาวประมงเพียงอย่างเดียว แต่มคือเรื่องของทุกคน 

ศ.สุริชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ช่วงหลังจะเห็นว่าการตัดสินใจในรัฐสภาหลายเรื่องสำคัญมาก แต่บางเรื่องทำให้รู้สึกว่าไม่มีข้อต่อกับผู้ได้รับผลกระทบเลย สิ่งสำคัญจะทำยังให้สถาบันประชาธิปไตย ทำหน้าที่สมกับชื่อและบทบาทมีความเป็นตัวแทนของผู้ได้รับผลกระทบ หรือคนที่เป็นด่านหน้าของปัญหา ซึ่งการพิจารณากฎหมายสำคัญต้องให้มีส่วนร่วม ไม่ใช่แค่ผู้มีส่วนได้เสียไม่กี่กลุ่ม 

“เราอยากทำให้เรื่องนี้ มีความเคลื่อนไหวความรู้ร่วมกัน ไม่ใช่ปล่อยให้กฎหมายที่มีช่องว่าง กลายเป็นเสียงข้างมากพาไป ให้เป็นโอกาสของการตั้งสติสำหรับรัฐบาลเอง โอกาสสร้างจุดยืนให้สอดคล้องกับความยั่งยืนของรัฐสภาเองภายใต้การถกเถียงเรื่องนี้ต่อไป ก็จะเป็นโอกาสสำคัญมาก หวังว่าวันนี้ และครั้งต่อ ๆ ไป จะเป็นโอกาสกระตุ้นให้วิชาการในรั้วมหาลัยหลายแห่งได้ร่วมงานกันมากขึ้นด้วย “ 

ศ.สุริชัย หวันแก้ว 

ศ.สุริชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ตอนนี้ถือเป็นโอกาส ที่ภาควิชาการ มหาวิทยาลัยต่าง ๆ จะช่วยให้มีพื้นที่แลกเปลี่ยนสำหรับคนหลายส่วน คนที่ถูกลืม ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ก็ได้เป็นที่ได้มาแลกเปลี่ยนด้วย สิ่งสำคัญคือการสรุปความรู้เหล่านี้ ส่งให้ถึงฝ่ายที่ต้องตัดสินใจ และ กมธ.พิจารณากฎหมายควรเปิดกว้างรับฟัง พิจารณาเรื่องนี้ให้รอบคอบ 

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active