สังคมตั้งคำถาม ‘บุ้ง เนติพร’ ถูกเลือกปฏิบัติหรือไม่ นักวิชาการ เรียกร้องราชทัณฑ์ แจงความจริงให้สังคมกระจ่าง ขณะที่ อดีตรองปลัด ก.ยุติธรรม แนะอะไรที่ยังสงสัย ควรได้รับการตรวจสอบ
จากกรณีการเสียชีวิตของ เนติพร เสน่ห์สังคม หรือ บุ้ง นักเคลื่อนไหว และผู้ต้องขังคดีการเมือง หลังจากแสดงออกด้วยการอดอาหารประท้วง เพื่อเรียกร้องให้ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม
โดย กรมราชทัณฑ์ ได้ออกแถลงการณ์ถึงกรณีการเสียชีวิตของบุ้ง โดยระบุว่า เมื่อช่วงเช้าวันที่ 14 พ.ค.ที่ผ่านมา ทีมแพทย์ได้ทำการกู้ชีพบุ้ง จากนั้นได้ส่งตัวออกไปรักษาที่ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ซึ่งทีมแพทย์ของทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ และแพทย์โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ ได้พยายามกู้ชีวิตผู้ป่วยอย่างสุดความสามารถ ตั้งแต่เวลา 06.20 – 11.22 น. แต่ร่างกายผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการรักษา และถึงแก่กรรมอย่างสงบ
พร้อมกับระบุอีกว่า โรงพยาบาลราชทัณฑ์ ได้รับตัวบุ้งจากโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ มาเมื่อวันที่ 4 เม.ย. ได้รับประทานอาหารและน้ำปกติ ซึ่งแพทย์ และพยาบาลได้ทำการรักษาดูแลอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง แต่ยังมีอาการขาอ่อนแรงและบวมเล็กน้อย ผลเลือดมีภาวะโลหิตจางเล็กน้อย เกลือแร่ต่ำโดยบุ้งปฏิเสธการรับประทานเกลือแร่ และวิตามินบำรุงเลือด จนเกิดอาการดังกล่าวและเสียชีวิตในที่สุด
กรณีที่เกิดขึ้นสังคมได้ตั้งคำถาม ถึงการดูแลรักษาผู้ป่วยของกรมราชทัณฑ์ โดยหยิยกรณีของ อำพล ตั้งนพคุณ หรือ อากง SMS เมื่อปี 2555 ที่ป่วยหนักในเรือนจำ ก่อนถูกส่งตัวไปยังโรงพยาบาลราชทัณฑ์ แต่ไม่มีแพทย์รักษาเนื่องจากติดวันหยุด จนเสียชีวิต ส่วนกรณีของบุ้ง อดอาหารจนอาการหนัก แล้วจึงส่งตัวไปที่ โรงพยาบาลราชทัณฑ์ พอหัวใจหยุดเต้น จึงส่งตัวต่อไปยังโรงพยาบาลภายนอก ซึ่งถูกนำไปเปรียบเทียบกับกรณี ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่กรมราชทัณฑ์ พิจารณาให้ส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลตำรวจ ชั้น 14 ด้วยอาการนอนไม่หลับ แน่นหน้าอก ความดันโลหิตสูง ออกซิเจนปลายนิ้วต่ำ
มองกรณี ‘ทักษิณ’ ละไว้ในฐานที่เข้าใจ ?
The Active ชวนคุยประเด็นนี้กับ รศ.กฤตยา อาชวนิจกุล อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับผู้ต้องขังในเรือนจำ ให้ความเห็นว่า ตามลักษณะอาการที่อดีตนายกรัฐมนตรีป่วย หากเป็นนักโทษทั่วไปในฐานะที่เคยทำงานวิจัยในเรือนจำ มองว่า เป็นการยากที่จะได้ถูกส่งตัวออกไปรักษาที่โรงพยาบาลภายนอก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นระยะเวลาติดต่อกันหลายเดือน
โดยเชื่อว่า กรณีทักษิณ เป็นกรณียกเว้นแน่นอน ไม่ใช่กรณีปกติทั่วไป เพราะในงานวิจัยไม่พบกรณีลักษณะนี้ ถึงแม้ว่าทางกรมราชทัณฑ์ หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม จะอธิบายแล้ว แต่ก็พบว่ายังไม่สามารถตอบคำถามสังคมได้ชัดเจน
รศ.กฤตยา ยอมรับด้วยว่า อาจไม่สามารถนำกรณีทักษิณ มาเปรียบเทียบกับกรณีบุ้งได้ แต่ถ้าจะให้เปรียบเทียบจริง ๆ ขอเปรียบเทียบกับกรณี ตะวัน – ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ เพราะได้ถูกส่งตัวไปที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ ส่วนกรณีบุ้งนั้นมีความรู้สึกว่า “ได้รับความดูแลเอาใจใส่ การระมัดระวังเรื่องนี้น้อยกว่า”
“จากที่ได้รับทราบจากข่าว ที่มีรายงานว่ารับรู้ว่าบุ้งมีอาการหัวใจหยุดเต้น ไม่มีสัญญาณชีพตั้งแต่ 6 โมงเช้า แต่กว่าจะไปถึงโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ ก็ 9 โมงกว่า มันก็นานเกินไป เพราะฉะนั้นถ้าหากสังคมอยากตั้งคำถาม มันก็ตั้งคำถามได้ หากพิจารณาจากอาการบุ้ง จริง ๆ ควรถูกส่งตัวก่อนที่จะหยุดหายใจ”
รศ.กฤตยา อาชวนิจกุล
รศ.กฤตยา ยังได้ตั้งข้อสงสัยหลายอย่างจากแถลงการณ์ของกรมราชทัณฑ์ เชื่อว่า ทำให้รู้สึกสับสน เพราะในข่าวบอกว่า อาการดีขึ้นกลับมารับประทานอาหารได้ แต่สิ่งที่รับรู้จากข้อเท็จจริงคือบุ้ง ตั้งใจจะอดอาหารตลอด แต่แถลงการณ์ของทางราชทัณฑ์ บอกว่า มีการกลับมารับประทานอาหาร ซึ่งไม่แน่ใจในข้อเท็จจริงที่ได้จากทางราชทัณฑ์ เป็นสิ่งที่ต้องตั้งข้อสงสัย อาจไม่สามารถกล่าวในรายละเอียดได้
ผู้ต้องขังเรือนจำไทย ถูกเลือกปฏิบัติ ?
เมื่อถามถึงปัญหาการเลือกปฏิบัติในกระบวนการยุติธรรมไทย รศ.กฤตยา ยอมรับตอบยากว่า เลือกปฏิบัติหรือไม่ แต่มีความเป็นไปได้ที่จะถูกเลือกปฏิบัติ ถ้าพูดถึงลักษณะอาการที่เกิดขึ้นบุ้งควรถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลภายนอก รวมถึงกรณี อากง SMS และ เอกชัย หงส์กังวาน ด้วย โดยมองว่า ถ้าสังคมให้ความสนใจ เรื่องเหล่านี้จะถูกดูแลอย่างระมัดระวัง
“เมื่อมีการนำเสนอข่าว และได้รับการถูกส่งตัวออกมา เรื่องนี้บางทีอาจจะขึ้นอยู่กับสถานการณ์สังคมภายนอกรับรู้น้อยแค่ไหน เพราะอย่างกรณีทานตะวัน มองว่าเป็นเพราะมีการรับรู้จากสังคมเยอะเหมือนการถูกจับตามองเรื่องแบบนี้ ถ้าหากยิ่งถูกจับตามองจากสังคมภายนอก และจากสื่อต่างประเทศเรื่องนี้จะถูกการดูแลและระมัดระวังมากขึ้น กรณีบุ้งเป็นเหมือนกรณีที่อาจจะมีคนให้ความสนใจน้อยเกินไป โดยส่วนตัวรู้สึกอย่างนั้น สิ่งนี้เป็นเรื่องที่เราเดาขึ้นมาเอง เพียงแต่ว่าระยะเวลา 6 โมงถึง 9 โมง มันทำให้เกิดคำถามนี้ขึ้นมา และก่อนหน้านั้นเราก็คิดว่าทำไมไม่ส่งไปที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ แต่กลับส่งไปโรงพยาบาลราชทัณฑ์”
รศ.กฤตยา อาชวนิจกุล
รศ.กฤตยา ยังพูดถึงความชำนาญของแพทย์ภายในโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ว่า หากเป็นกรณีโรคเฉพาะทางรักษายาก จะส่งตัวออกมารักษาภายนอก เนื่องด้วยปัจจัยของบุคลากรทางการแพทย์ แพทย์เฉพาะทางไม่มี ทำให้การรักษาจะถูกส่งตัวไปภายนอก เช่น มะเร็ง ซึ่งมีกรณีที่ผู้ป่วยเป็นโรคที่ต้องรับการรักษาอย่างต่อเนื่อง ก็จะมีนัดออกมาหาหมอข้างนอกอยู่เป็นประจำ โดยมีเจ้าหน้าที่เรือนจำพาไป
“แต่เรื่องนี้เราต้องเข้าใจทางกรมราชทัณฑ์ด้วยว่า มีระเบียบที่ต้องใช้เจ้าหน้าที่ 2 คน ต่อคนไข้ 1 คน ที่อาจทำให้ไม่สามารถส่งคนไข้ออกไปภายนอกได้ หรืออาจจะต้องรอ อย่างกรณีที่พาออกไปแล้วผู้ต้องหาหลบหนียังจับไม่ได้ เช่น กรณีของ เชาวลิตร ทองด้วง หรือ เสี่ยแป้ง เป็นความเสี่ยงที่ต้องระมัดระวัง”
รศ.กฤตยา อาชวนิจกุล
อย่างไรก็ตาม รศ.กฤตยา ระบุว่า กรมราชทัณฑ์มีรายละเอียดที่จะต้องชี้แจงให้กับสังคมรับทราบมากกว่านี้ โดยเฉพาะเรื่องเวลาและเรื่องการรับประทานอาหาร เพราะหากจะบอกว่ามีการรับประทานอาหารแต่ปฏิเสธการรับเกลือแร่และวิตามินบำรุงเลือด “อ่านแล้วรู้สึกว่าไม่สอดคล้อง เพราะบุ้งประกาศว่าจะไม่กินอาหารจะอดทำไมถึงกลับไปกินข้าว”
‘อดีตรองปลัด ก.ยุติธรรม’ เชื่อทำตามขั้นตอน
ขณะที่ ธวัชชัย ไทยเขียว อดีตรองปลัดกระทรวงยุติธรรม ยอมรับในทางปฏิบัติ เชื่อว่า กรมราชทัณฑ์มีเงื่อนไข มีระเบียบการจะนำตัวผู้ต้องขังออกไปรักษาภายนอก มีแต่ผู้บัญชาการแดนใช้ดุลยพินิจ แต่อย่างกรณีบุ้ง เป็นการประท้วงโดยการอดอาหาร ซึ่งลักษณะของการเจ็บป่วยไม่ใช่การเจ็บป่วยตามปกติ แต่เป็นเรื่องของการใช้ดุลยพินิจเพื่อที่จะแสดงให้เห็นถึงความไม่พึงพอใจในกระบวนการยุติธรรมด้วยการอดอาหาร เพราะฉะนั้นกระบวนการรักษาเป็น ไปตามขั้นตอนการดูแลของแพทย์ ซึ่งก็คือโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ไม่ใช่การเจ็บป่วยด้วยโรคที่ไม่สามารถรักษาได้ หรือจำเป็นต้องออกไปรักษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญภายนอก
ธวัชชัย ยังยกตัวอย่างกรณี ภาวะหัวใจหยุดเต้น เป็นภาวะที่เกิดขึ้นโดยฉับพลัน โรงพยาบาลราชทัณฑ์มีแพทย์ที่จะช่วย โดยหลักการไม่ว่าจะอยู่ที่โรงพยาบาลไหน เมื่อเกิดอาการนี้จะต้องให้การช่วยเหลือโดยเบื้องต้นอย่างเต็มที่ จึงคิดว่าตรงนี้ไม่น่าจะเป็นประเด็นอะไร เพราะว่ามีแพทย์ดูแลอยู่แล้ว
“ผมคิดว่าเป็นไปตามขั้นตอน เพราะกรณีนี้ไม่ใช่กรณีของการเจ็บป่วยที่ไม่สามารถที่จะรักษาหรือดูแลได้โดยแพทย์ภายใน จนต้องออกไปรักษาภายนอก ซึ่งมีระเบียบกำกับไว้ชัดเจนอยู่แล้วว่า โรคชนิดไหนที่จะต้องออกไปภายนอก แต่กรณีของบุ้งเป็นการอดอาหาร เพื่อประท้วงกระบวนการยุติธรรมที่ไม่ให้สิทธิ์ในการที่จะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว เป็นการดำเนินการต่อสู้ และตราบใดถ้าคำพิพากษายังไม่ไม่ถึงที่สิ้นสุดเขาก็ยังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ และมีความเห็นต่างทางความความคิดกันอยู่บางส่วน ผมไม่ก้าวล่วง ในส่วนของผู้ที่ต้องการใช้ดุลยพินิจนี้แต่หากเป็นเรื่องของการรักษาดูแลของผู้ป่วย ผู้ป่วยอาจจะถึงขั้นที่ต้องวินิจฉัยว่าจะต้องนำไปรักษาภายนอกซึ่งอยู่ในการดูแลของแพทย์น่าจะเพียงพอและเป็นไปตามขั้นตอน”
ธวัชชัย ไทยเขียว
ทุกข้อสงสัย ต้องได้รับการตรวจสอบ
ธวัชชัย บอกด้วยว่า อาจจะเปรียบเทียบกรณีอื่นไม่ได้ ต้องตามแต่กรณีไป เพราะในช่วงที่ตนยังรับราชการอยู่ และดูแลกรมราชทัณฑ์ ยืนยันว่า ไม่มีการเลือกปฏิบัติในเรื่องฐานความผิด ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของศาล ภายใต้กฎหมาย เนื่องจากการจะส่งใครออกไปรักษาภายนอกต้องมีคณะกรรมการดูแล จะพักโทษ หรืออภัยโทษ ต้องมีการปฎิบัติตามขั้นตอน จะทำตามอำเภอใจไม่ได้ ซึ่งกระบวนการเหล่านี้หากมีข้อสงสัยก็สามารถตรวจสอบ ซึ่งมีหน่วยงานที่ทำการตรวจสอบเรื่องเหล่านี้อยู่ เช่น ผู้ตรวจการแผ่นดิน, คณะกรรมาธิการ, สมาชิกวุฒิสภา, สภาผู้แทนราษฎร, หรือหากไม่มั่นใจเรื่องของแพทย์ ก็มีแพทยสภา
“ผมคิดว่าทุกอย่างมันมีขั้นตอน และกระบวนการที่สามารถตรวจสอบได้ แต่การแสดงความเห็นของสังคม ก็สามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ แต่ต้องมองความโปร่งใส หรือการตรวจสอบเป็นเรื่องที่สำคัญ การตั้งข้อสันนิษฐานแล้วกล่าวกันไปเอง ก็อาจจะมีถูกหรือผิด แต่ทุกข้อกรณี ควรได้รับการตรวจสอบ เพื่อให้สิ้นข้อสงสัย และย้ำว่าในแต่ละกรณีเปรียบเทียบกันไม่ได้ ในส่วนตัวผมเอง ผมเคารพความเห็นต่าง ผมก็รู้สึกเสียใจต่อการเสียชีวิตของคุณบุ้ง เข้าใจเรื่องของการต่อสู้ ความเข้มแข็ง หรือจิตใจหลายคนก็คงไม่กล้าที่จะเอาชีวิตเข้าไปแลกขนาดนี้ แต่ในเรื่องของความถูกต้องหรือไม่อย่างไรต้องไปดูอีกที”
ธวัชชัย ไทยเขียว