หยุดเลือกปฏิบัติกี่โมง ภาคประชาชนจัดกิจกรรมเนื่องในวัน IDAHOT

สะท้อนปัญหาผ่านโควิด-19 กลุ่ม LGBTQIAN+ ผู้อยู่ร่วมกับ HIV เข้าไม่ถึงระบบบริการสุขภาพ เงินเยียวยา ชี้ พ.ร.บ. ขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลฯ คือทางออก

เมื่อวันที่ 17 พ.ค.67  ที่บริเวณสีลมซอย 4 กรุงเทพฯ เครือข่ายคนทำงานเพื่อชุมชนสนับสนุนด้านสิทธิความหลากหลายทางเพศ ร่วมจัดกิจกรรมเนื่องในวัน International Day Against Homophobia, Transphobia and Biphobia (IDAHOT) หรือวันสากลยุติความหวาดกลัว คนรักเพศเดียวกัน คนข้ามเพศ และคนรักสองเพศ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ ลดอคติ ไม่เลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ โดยธีมงาน IDAHOBIT 2024 ของปีนี้คือ  “No one left behind: equality, freedom and justice for all” ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง: ความเสมอภาค เสรีภาพ และความยุติธรรมสำหรับทุกคน”

วัฒนา  เกี๋ยงพา เจ้าหน้าที่สนับสนุนโครงการและปฏิบัติการอาวุโส  มูลนิธิแอ็พคอม ตัวแทนเครือข่ายที่ร่วมจัดกิจกรรม กล่าวว่า นอกจากกิจกรรม IDAHOT แล้ว ในวันที่ 19  พ.ค. ยังเป็นวัน International AIDS Candlelight Memorial  คือ  International AIDS Candlelight Memorial เป็นเวลาสำหรับชุมชนที่มีความหลากหลายทั่วโลกมารวมตัวกันเพื่อเป็นเกียรติแก่ชีวิตที่สูญเสียจากโรคเอดส์ แสดงการสนับสนุนผู้ติดเชื้อ HIV ทั่วโลก เครือข่าย ฯ จึงถือโอกาสในวันนี้เพื่อเน้นย้ำถึงผลกระทบของการตีตราตนเองที่มีต่อชีวิตของผู้ที่ติดเชื้อ HIV โดยใช้พื้นที่ของสีลม ซอย4 ซึ่งเป็นคอมมูนิตี้ของผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQIAN+) และเป็นย่านการค้าที่มีผู้คนและนักท่องเที่ยวจำนวนมาก เพื่อสื่อสารให้สังคมเข้าใจ และตระหนักถึงความสำคัญใน 2 ประเด็นดังกล่าว

พร้อมยกตัวอย่างสถานการณ์ช่วงโควิด-19 ว่า เป็นการบริหารที่ผิดพลาด ที่ทำให้กลุ่ม LGBTQIAN+ กลุ่มผู้อยู่ร่วมกับ HIV คนพิการ บุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียน กลุ่มอาชีพที่ยังไม่ถูกกฎหมายในประเทศไทย เช่น Sex Worker เข้าไม่ถึงวัคซีน ระบบบริการสุขภาพในกลุ่มเฉพาะ เช่น การให้ฮอร์โมน การยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย กลุ่มผู้ใช้สาร ฯลฯ รวมไปถึงการเยียวยาจากภาครัฐ ที่ผ่านมาภาคประชาชนมีความพยายามแก้ปัญหาด้วยการตั้งกองทุนฉุกเฉินสำหรับกลุ่ม LGBTIQIAN+ อย่างไรก็ตามเครือข่ายฯ มองว่า แม้สถานการณ์โรคระบาดคลี่คลายลง แต่ปัญหาการถูกละเมิดสิทธิก็ยังไม่หมดไป

“ปัจจุบันเรายังเห็นการปฏิเสธรับบริจาคเลือดของ LGBTQIAN+ อยู่ทั้งที่ข้อเท็จจริงทุกเพศมีความเสี่ยงหมด หรือแม้กระทั่งการบังคับตรวจ HIV ที่จะกระทำมิได้ แต่ก็ยังมีบางองค์กรที่ละเมิดสิทธิโดยไม่มีบทลงโทษที่ชัดเจน ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาด ไม่เห็นถึงความแตกต่างหลายหลายของพลเมือง ภาคประชาชนจึงเรียกร้องให้มี พ.ร.บ.ขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลฯ เพื่อสร้างกลไกในการร้องเรียน เยียวยา กำหนดบทลงโทษ คุ้มครองให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน”

วัฒนา  เกี๋ยงพา

นอกจากกิจกรรมในพื้นที่สาธารณะ เครือข่ายฯ ยังจัดเสวนาออนไลน์ ชวนคนในภูมิภาครวมถึงผู้ได้รับผลกระทบโดยเฉพาะในช่วง  3-4 ปี ที่ถูกละเลยจากสถานการณ์โควิด-19 เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และถอดบทเรียนในการทำงานของเครือข่ายฯ เพื่อป้องกันหากเกิดโรคอุบัติใหม่ในอนาคต 

จุดเริ่มต้นวันที่ 17 พฤษภาคม 2533 ที่ประชุมสมัชชาใหญ่องค์การอนามัยโลก (World Health Organization : WHO) ได้ถอดเรื่องการรักเพศเดียวกันออกจากบัญชีความผิดปกติทางจิต หลังจากนั้นในปี 2547 จึงได้กำหนดให้วันที่ 17 พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันสากลเพื่อยุติความเกลียดกลัว คนรักเพศเดียวกัน คนข้ามเพศ และคนรักสองเพศ โดยมีประเทศต่างๆ ทั่วโลก กว่า 130 ประเทศ จัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมให้เกิดการตระหนัก และลดอคติ ความไม่เท่าเทียมทางเพศ 

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active