‘สภาผู้บริโภค’ ชงสอบ กสทช. ปมควบรวมค่ายมือถือ-เน็ตบ้าน

เปิดรายงานอ้าง กสทช. ละเลยการทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภค จนกระทบสิทธิผู้ใช้บริการ เล็งยื่นร้อง นายกฯ-ครม.-กระทรวง DE-กมธ. ตรวจสอบเพิ่ม ปลายเดือน มี.ค.นี้

เมื่อเร็ว ๆ นี้ สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค, สุภาพร ถิ่นวัฒนากูล รองเลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค และ อิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค ยื่น “รายงานการกระทำหรือละเลยการกระทำ ของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ อันมีผลกระทบต่อสิทธิของผู้บริโภค จากกรณีการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม” ต่อคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน (กตป.) ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค โดยมี อารีวรรณ จตุทอง กรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค กสทช. เป็นผู้รับหนังสือ

สารี กล่าวว่า ข้อเสนอแนะของสภาผู้บริโภคต่อ กตป. ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค คือประเด็นการดำเนินการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานของคณะกรรมการ กสทช. และ สำนักงาน กสทช. ในการกำกับมาตรการและเงื่อนไขเฉพาะหลังการรวมธุรกิจ รวมทั้งรายงานข้อเท็จจริงหรือ ข้อสังเกตจากการปฏิบัติตาม อำนาจหน้าที่ของ กสทช. และสำนักงาน กสทช. ว่าได้ปฏิบัติหน้าที่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 60 และ มาตรา 75 และ พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 27 หรือไม่ 

“กตป. ถือเป็นหน่วยงานตรวจสอบ ที่มีหน้าที่ในการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานของ กสทช. จึงคาดหวังว่าการเปิดเผยรายงานการทำและการละเลยการทำฯ รวมถึงข้อเสนอแนะของสภาผู้บริโภคในครั้งนี้ จะเป็นอีกกระบวนการหนึ่งที่ช่วยพัฒนากลไกการคุ้มครองผู้บริโภคให้เข้มข้นมากขึ้น และเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคอย่างแท้จริง”

สารี อ๋องสมหวัง

ทั้งนี้ในช่วงปลายเดือนมีนาคม สภาผู้บริโภคจะไปยื่น รายงานการกระทำหรือละเลยการกระทำฯ ดังกล่าว ต่อคณะกรรมาธิการอีก 4 คณะ ได้แก่ 

  1. คณะกรรมาธิการคุ้มครองผู้บริโภค สภาผู้แทนราษฎร  

  2. คณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร 

  3. คณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สภาผู้แทนราษฎร 

  4. คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา โดยจะแจ้งให้ผู้บริโภคได้ทราบในลำดับต่อไป

เปิดรายงานตรวจสอบ กสทช. ปล่อยควบรวมฯ

ก่อนหน้านี้ สภาองค์กรขอผู้บริโภค ได้เปิดเผย รายงานการกระทำหรือละเลยการกระทำของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) 2 กรณี 

  • กรณีแรก การควบรวมค่ายมือถือ ระหว่าง บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE และ บริษัท โทเทิ่ลแอ็คแซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC 

  • กรณีที่สอง ควบรวมอินเทอร์เน็ตบ้าน ระหว่าง บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS กับ บริษัท ทริปเปิลบี บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) หรือทรีบีบี (3BB)  
สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค

จากรายงานฯ อ้างว่า กสทช. ได้กระทำการละเลยการทำหน้าที่จาก 2 กรณีข้างต้น เข้าข่ายเป็นการทำหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฏหมายและขัดแย้งกัน เพราะลงมติควบรวมทรู-ดีแทค ด้วยคะแนนเสียง 3:2:1  กสทช. ดำเนินการลักษณะ  รับทราบ แต่กรณี  3BB ควบ AIS ที่ประชุมได้มีมติเสียงข้างมาก 5:2  เป็นการ อนุญาต ซึ่งถือเป็นประเด็นแรกที่ชี้ให้เห็นความผิดปกติ 

ประเด็นต่อมา คือ การที่กรรมการ กสทช. ลงมติควบรวมทรู-ดีแทค ด้วยคะแนนเสียง 3:2:1  (รับทราบ 3, ไม่อนุญาต 2 งดออกเสียง 1) โดยมีการสรุปว่า คณะกรรมการได้ตัดสินว่า กสทช. มีหน้าที่เพียง รับทราบ 3 เสียง ซึ่งชนะกรรมการที่ลงมติว่า ไม่อนุญาต ให้ควบรวมที่มีคะแนน 2 เสียง โดยมี 1 คะแนนเสียง งดออกเสียง มติดังกล่าวอาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะการกล่าวอ้างถึงคะแนนเสียงครั้งแรกที่มีผล 2:2:1 ว่าเป็นคะแนนเสียงที่เท่ากัน ถือเป็นโมฆะไปแล้ว ด้วยเหตุที่ไม่มีผลโหวตที่เป็นเสียงข้างมาก และเนื่องจากมติก็ไม่ได้มีผลเท่ากับกึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมดห้าคน ประธานจะโหวตจึงซ้ำไม่ได้ การโหวต รับทราบ ซ้ำของประธานจึงเห็นได้ว่าเป็นเจตนาอนุญาตให้เกิดการควบรวมโดยไม่ต้องขออนุญาตตามที่กฎหมายบัญญติ แม้จะมีเสียงทักท้วง และมีการวินิจฉัยจากศาลปกครอง คณะกรรมการกฤษฎีกา และอนุกรรมการทุกชุดที่ กสทช. ตั้งขึ้นมา หรือแม้แต่ อนุกรรมการด้านกฎหมาย ก็เห็นตรงกัน เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ กสทช. มีอํานาจในการพิจารณาอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ควบรวม 

ดังนั้น การที่ประธานออกเสียงเพิ่มอีกหนึ่งเสียงเพื่อตัดสินชี้ขาด อาจเป็นการกระทำที่ขัดต่อข้อ 41 แห่งระเบียบคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ว่าด้วยข้อบังคับการประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ พ.ศ. 2555 ซึ่งกรณีดังกล่าวไม่ใช่กรณีที่มีคะแนนเสียงเท่ากัน และไม่ใช่กรณีได้คะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของคะแนนทั้งหมด เนื่องจากกรรมการที่ลงคะแนนเสียงมีทั้งหมด 5 คน และมีการลงมติเห็นชอบจำนวน 2 เสียง ลงมติไม่เห็นชอบจำนวน 2 เสียง และงดออกเสียงจำนวน 1 เสียง ประธานจึงไม่มีสิทธิออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงเป็นเสียงชี้ขาดตามข้อ 41 วรรคท้ายได้ และผลการลงมติดังกล่าวถือว่าเป็นกรณีคะแนนเสียงไม่ถึงกึ่งหนึ่งตามข้อ 41 (2) เนื่องจากเป็นการประชุมที่ต้องได้รับมติพิเศษ คือ ได้รับความเห็นชอบจากกรรมการ “ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง” ของจำนวนกรรมการทั้งหมด มติดังกล่าวจึงต้องตกไป และต้องมีการลงมติใหม่ ดังนั้นการที่ประธานมีคะแนนเสียงเพิ่มอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาดและกำหนดให้การประชุมดังกล่าวมีมติรับทราบและกำหนดเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะจึงอาจเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค ยังชี้ให้เห็นประเด็นที่ 3 กรณี กสทช. ออกมาตรการบังคับหลังควบรวมทรู-ดีแทคโดยให้ค่ายมือถือต้องลดราคาเฉลี่ยร้อยละ 12 แต่สิ่งที่ผู้บริโภคได้รับ คือปัญหาค่าบริการแพงขึ้นกว่าเดิม แถมฝ่ายผู้ประกอบการยังเอาตัวเลขแพ็กเกจที่ไม่มีผู้ใช้บริการจริง เช่น ซิมฟรี มาอ้างอิงว่ามีการลดราคาเฉลี่ย 12 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งตามเงื่อนไข ของ กสทช. ต้องลดลงร้อยละ 12 ภายใน 90 วัน หลังควบรวมกิจการ อีกทั้งไม่ยอมส่งหลักฐานให้ผู้บริโภคได้เข้าไปตรวจสอบ 

ปัญหาการควบทรู-ดีแทค ยังสร้างผลกระทบอีกหลายด้าน ซึ่งมีข้อมูลจาก มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และหน่วยงานประจำจังหวัดกรุงเทพมหานคร สภาองค์กรของผู้บริโภค ที่ร่วมกันทำแบบสำรวจผลกระทบของผู้บริโภคหลังการควบรวมธุรกิจโทรคมนาคม เพื่อรับฟังเสียงสะท้อนผ่าน GOOGLE FORM ตั้งแต่วันที่ 9 ถึง 23 พฤศจิกายน 2566 มีผู้ตอบแบบสำรวจทั้งสิ้น 2,924 ราย โดยผลการสำรวจพบ 5 ปัญหาใหญ่ที่สุดถึง ร้อยละ 81 คือ สัญญาณอินเทอร์เน็ตช้า, สัญญาณหลุดบ่อย, โปรโมชันเดิมหมดต้องใช้โปรโมชันที่แพงขึ้น, ค่าแพ็กเกจราคาเท่ากันหมดทำให้ไม่มีทางเลือก, และ call center โทรติดยาก ทั้งหมดนี้เป็นผลสำรวจความเห็นของผู้ใช้บริการมือถือที่ล้วนได้รับผลกระทบหลังการควบ TRUE-DTAC

แต่ปัญหาของผู้บริโภคที่เดือดร้อน กลับไม่ได้รับการดูแลแก้ไขปัญหาจาก กสทช. ที่สำคัญผลกระทบยังส่งไปถึงผู้พิการและบุคคลชายขอบที่เข้าไม่ถึงสัญญาณอินเทอร์เน็ต รวมถึง บริการแพ็กเกจราคาพิเศษที่ไม่มีอีกต่อไป และที่เห็นชัดเจนอีกอย่างนั่นคือ ไม่มีการแข่งขันกันด้านราคาเพราะแพงเท่ากันหมดทุกค่ายมือถือ แถมบริการไม่แตกต่างกัน เหล่านี้ถือเป็นการ รอนสิทธิ์ ของผู้บริโภคอย่างชัดเจน  ทำให้ผู้บริโภคไม่มีทางเลือกเพราะเกิดการผูกขาดจากเครือขายมือถือที่เหลือแค่ 2 เจ้าในตลาดโทรคมนาคม  ส่วนกรณี  3BB กับ  AIS ที่กสทช.มีมติเสียงข้างมาก 5:2 อนุญาตให้ควบรวมอินเทอร์เน็ตบ้าน  

นั่นเท่ากับว่า กสทช. ทำเป็นลืมเรื่องที่เคย รับทราบ ให้ควบรวมอินเทอร์เน็ตมือถือไปก่อนหน้าแล้ว แต่กลับมาทำเรื่องซ้ำซ้อนโดยไม่ได้ดูสภาพการณ์ที่จะเกิดการผูกขาดจนส่งผลกระทบกับผู้บริโภคต้องจ่ายค่าบริการที่แพงขึ้น ถูกเปลี่ยนแพ็กเกจอัตโนมัติ แต่สวนทางคุณภาพบริการที่ลดลง 

จนถึงขณะนี้ สภาองค์กรของผู้บริโภค ยังไม่เห็นรายงานรับรองการประชุมของกสทช.เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 ที่ต้องมีกติกาเป็นเงื่อนไขกำกับดูแลผู้ประกอบการไม่ให้เอาเปรียบผู้บริโภค ดังนั้น สภาองค์กรขงผู้บริโภคจะเกาะติดเรื่องนี้ต่อไป รวมถึงขอเรียกร้องไปยัง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ  สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค  กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รวมถึง คณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎร และ วุฒิสภา อย่างน้อย  4 คณะ  ขอให้สนับสนุนสภาองค์กรของผู้บริโภคเพื่อช่วยกันตรวจสอบการทำงานของ กสทช.ในแง่การกระทำที่มิชอบ หรือ ละเลยการกระทำที่ไม่ปกป้องผลประโยชน์ของผู้บริโภค 

สุภิญญา กลางณรงค์ ประธานคณะอนุกรรมการด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาองค์กรของผู้บริโภค ในฐานะอดีตกรรมการ กสทช. ได้เรียกร้องให้ กสทช. ต้องเปิดเผยรายงานการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบการโทรคมนาคมที่ควบรวมกิจการ  ทุก ๆ 6 เดือน เพื่อให้เห็นภาพรวมได้ลดราคาค่าบริการหรือไม่อย่างไร ต้องสำรวจผลกระทบของผู้บริโภคที่ต้องเผชิญหลังการควบกิจการของผู้ประกอบการโทรคมนาคม ต้องเร่งรัดการลดราคาค่าบริการเฉลี่ยร้อยละ 12 ซึ่งเป็นกติกาที่กสทช.กำหนดเพื่อเปิดทางให้ทรูควบกิจการกับดีแทค ที่สำคัญนั่นคือ เงื่อนไขที่ว่าต้องเปิดเผยรายการส่งเสริมการขายทุกรายการ และเปิดเผยเงื่อนไขพิเศษสำหรับผู้บริโภคที่มีรายได้น้อยโดยต้องมีการประชาสัมพันธ์อย่างทั่วถึง อีกทั้ง กสทช.ต้องตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐานการให้บริการของเอกชนอยู่เสมอ

“ที่สำคัญอย่างยิ่ง คือ รัฐบาล ที่ต้องลงมากำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม เพราะนอกจากการคุ้มครองผลประโยชน์ของประชาชน ยังเป็นการปกป้องความมั่นคงปลอดภัยของประเทศชาติโดยรวมด้วย เพราะหากเกิดปัญหาเครือข่ายล่มในขณะที่มีผู้ให้บริการแค่ 2 เจ้าในตลาดเท่ากับมีความเสี่ยงถึง 50 เปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้นจึงขอเสนอให้เปิดทางรัฐวิสาหกิจมาเป็นผู้ประกอบการรายที่ 3 หรือ เปิดเสรีให้รายใหม่เข้ามาแข่งขันกับเอกชนรายเดิม เพื่อส่งเสริมทางเลือกความมั่นคงปลอดภัยด้านกิจการโทรตมนาคมและประชาชนมีทางเลือกใช้บริการ ซึ่งทางออกมีหลายด้าน ขึ้นอยู่กับว่า รัฐบาลจะมีเจตจำนงทางการเมือง (Political will) เพื่อแก้ปัญหาเรื่องนี้ด้วยความจริงจังอย่างไร” 

สุภิญญา กลางณรงค์

ทั้งนี้ สภาผู้บริโภค จะส่งรายงานดังกล่าวไปยัง 11 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง บอร์ดกสทช., สำนักงาน กสทช., นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี โดยแยกออกมาเฉพาะสำหรับ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลฯ และคณะกรรมมาธิการของสภาผู้แทนราษฏร 3 คณะ และคณะกรรมมาธิการวุฒิสภา รวมไปถึง ป.ป.ช. เพื่อให้ตรวจสอบการทำงานของ กสทช.ต่อไป  

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active