จับตา! หลังสงกรานต์ เดินหน้ารื้อรีสอร์ทผิดกฎหมายเกาะหลีเป๊ะ

เตรียมเพิกถอนเอกสารสิทธิออกโดยมิชอบ พร้อม Set Zero พัฒนาเกาะระดับโลก สร้างความยั่งยืนทุกด้าน แก้ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชนดั้งเดิม

วันนี้ (13 เม.ย.66 ) รศ.ธนพร ศรียากูล กรรมการตรวจสอบข้อมูลและข้อเท็จจริงกรณีปัญหาข้อพิพาทในที่ดินที่เกี่ยวข้องกับชุมชนชาวเล เกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล เปิดเผยว่า หลังสงกรานต์นี้ จะเห็นความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาเกาะหลีเป๊ะหลายเรื่อง 

ประเด็นแรก เรื่องที่ดิน นส.3 ก เลขที่ 11 ในพื้นที่ข้อพิพาทเกาะหลีเป๊ะ ซึ่งรวมไปถึงบริเวณเอกลนปิดทางเข้าออกโรงเรียนและเกาะหลีเป๊ะ ซึ่งเป็นประเด็นปัญหาสำคัญ ขณะนี้ทางกรมที่ดินได้ตั้งกรรมการตามมาตรา 61 กฎหมายที่ดินไว้แล้ว เพื่อดำเนินการเพิกถอนที่ดิน ซึ่งในการวินิจฉัยการเพิกถอน ก็เป็นไปตามที่ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อมูลและข้อเท็จจริงฯเกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูลได้บอกไว้ว่า ประมาณไม่เกินกลางเดือนพฤษภาคมนี้ จะสามารถยุติปัญหาได้  

ส่วนการบังคับใช้กฎหมายอุทยานแห่งชาติ ต่อโรงแรมรีสอร์ทต่าง ๆ ซึ่งศาลได้ตัดสินแล้วว่ามีความผิด ซึ่งต้องมีการรื้อถอน มีการเอาตัวเจ้าของ ผู้จัดการ มาดำเนินคดี และเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ก็ไปตามจับมาได้อีก 1 คน ดังนั้นหลังสงกรานต์ จะได้เห็นกระบวนการวางแผนเริ่มรื้อถอนรีสอร์ทเหล่านี้ 

“สำหรับที่ดินแปลงอื่น ที่อยู่นอก นส.3 ก เลขที่11 ที่ดีเอสไอมีหลักฐานชัดเจน ว่าได้ครอบครอง ไ่ด้เอกสารสิทธิที่ดินมาโดยมิชอบ หรือได้ นส.3ก มาโดยมิชอบ อาจจะเนื่องมาจากการออกเอกสาร สค.1 บิน ดังนั้นวันที่ 18 นี้  พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ก็จะนำทีมลงพื้นที่เกาะหลีเป๊ะ และนำเจ้าหน้าที่กรมอุทยาน กรมที่ดิน ดีเอสไอ ไปชี้แนวเขตที่ดินแปลงเหล่านี้ร่วมกัน แล้วก็จะดำเนินคดีกับผู้ที่บุกรุกครอบครอง หรือการได้มาซึ่งเอกสารสิทธิที่ไม่ถูกต้องเหล่านี้ นี่คือการขยายผลออกไปยังแปลงอื่น นอกจากแปลง นส.3 ก เลขที่ 11 เพราะฉะนั้นทั้ง 3 ส่วนนี้ จะได้เห็นความคืบหน้าชัดเจนหลังสงกรานต์นี้แน่นอน “ 

 รศ.ธนพร ศรียากูล 
 รศ.ธนพร ศรียากูล 

และ เรื่องที่ 4 คือการบังคับใช้กฎหมายเรื่องการอนุญาตก่อสร้างของรีสอร์ททั้งหลาย ก็จะดำเนินการต่อไป โรงแรมไหน รีสอร์ทไหน ไม่มีใบอนุญาตถูกต้อง จาก อบต.ก็จะมีคำสั่งให้ระงับการใช้อาคาร คือคำสั่งปิดรีสอร์ท และดำเนินคดี ถ้าเกิดพบเจ้าหน้าที่ส่วนไหนรู้เห็นเป็นใจไปด้วยก็จะดำเนินการกับเจ้าหน้าที่ 

ส่วนกรณีที่ทางผู้ประกอบการบนเกาะหลีเป๊ะ เรียกร้องและยื่นขอความเป็นธรรม ขอผ่อนปรน การอนุญาตให้ใช้พื้นที่ บนกาะหลีเป๊ะ หลังจากที่มีคำสั่งให้ ทุกรีสอร์ท ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ และไม่มีอนุญาตการก่อสร้างอาคารรวมถึงอนุญาตประกอบกิจการโรงแรมบนเกาะหลีเป๊ะ นั้น ร.ศ.ธนพร ย้ำว่า คณะกรรมการฯ จะหลีกเลี่ยงการบังคับใช้กฎหมายเพื่อความเท่าเทียมไม่ได้  ทุกอย่างต้องอยู่บนหลักการ เริ่มจากต้องยอมรับก่อนว่า เกาะหลีเป๊ะมีปัญหาจริง มีทั้งปัญหาด้านการละเมิดสิทธิมนุษยชน ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องผู้มีอิทธิพลปัญหาเรื่องสิ่งของผิดกฎหมายทั้งหลาย 

และปัญหานี้เหล่านี้ล้วนถูกปล่อยปะละเลยจากเจ้าหน้าที่รัฐมานาน แต่ตนขอไม่พูดว่าเป็นเจ้าหน้าที่ระดับไหนเอาเป็นว่าถูกปล่อยปละละเลยมาเป็นเวลานานมาก เพราะฉะนั้นวันนี้ การที่ พล.ต.อ.สุรเชษฐเข้ามา สิ่งแรก ที่ท่านทำคือต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน เพราะว่าถ้าไม่บังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน เจ้าหน้าที่ไปเลือกปฏิบัติ การแก้ปัญหาที่มันยืดเยื้อเรื้อรังแบบนี้จะทำอะไรไม่ได้ เพราะฉะนั้นต้องเอาเกณฑ์กฎหมายเป็นตัวตั้งก่อน ใครที่ปฏิบัติไม่ตรงตามกฎเกณฑ์นี้ ก็ต้องดำเนินคดีทุกคน   

“ถ้าเราไม่เอาการบังคับใช้กฎหมายนำ ปัญหาจะหมักหมม เหมือนเราไปกวาดขยะไว้ใต้พรม แล้วยิ่งกวาดขยะไว้ใต้พรมเท่าไหร่ แม้คนจะไม่เห็นขยะ แต่กลิ่นมันออกมาแน่ แล้วเมื่อกลิ่นมันโชยออกมามากๆ เกาะหลีเป๊ะ ก็จะไม่มีใครมาเที่ยวอีกต่อไป เพราะไม่มีใคร อยากมาเห็นเกาะซึ่งทรัพยากรธรรมชาติเสื่อมโทรม ไม่มีใครอยากมาท่องเที่ยวเกาะ ซึ่งไม่มีหลักประกันเรื่องความปลอดภัย ก็เต็มไปด้วยมาเฟีย ไม่มีใครอยากมาเที่ยวเกาะที่มีชื่อเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นคุณค่านิยมของสากล “

 รศ.ธนพร ศรียากูล  

เพราะเหตุนี้ กระบวนการทำงานของคณะกรรมการโดย พล.ต.อ.สุรเชษฐ จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่จะต้องเริ่มจากการบังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน ไม่เช่นนั้นแล้วกระบวนการอื่น ๆ ที่จะตามมา มีคนได้เปรียบตลอดกาล และคนเสียเปรียบถูกกระทำซ้ำตลอด ก็จะทำให้การแก้ไขปัญหามันเดินต่อไม่ได้

รศ.ธนพร กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อดำเนินการตามหลักให้ทุกคนได้เข้าสู่สถานภาพเดียวกัน ก็คือถูกบังคับใช้กฎหมายเท่าเทียมกันแล้ว คือ พูดตรงๆเป็นการไป Set Zero หรือนับหนึ่งกันใหม่ จากนั้นก็จะพูดคุยกันเรื่องทิศทางที่จะเดินต่อไป ทั้งกระบวนการพื้นฟู กระบวนการท่องเที่ยวที่จะเป็นการอนุรักษ์ธรรมชาติสิ่งแวดล้อมเกื้อกูลประโยชน์อย่างยั่งยืนของคนไทย ของชาวจังหวัดสตูล ลักษณะการทำงานจะต้องเน้นและเป็นแบบนี้

“โดยผู้รับผิดชอบหลักเรื่องนี้คือ อนุกรรมการฟื้นฟูคุณภาพชีวิต ที่มีพลเอกสุรินทร์ พิกุลทอง เป็นประธาน และกรรมการชุดนี้เริ่มทำงานแล้ว ยืนยันว่าแนวทางท่านพล.อ.สุรินทร์ และท่านสุรเชษฐ สอดคล้องกันว่าทุกฝ่ายต้องมีส่วนร่วม โดยเฉพาะอย่างยิ่งพี่น้องชาวเล ที่ถูกละเมิดสิทธิมาตลอด เป็นระยะเวลานานต่อเนื่องมากว่า 60 ปีดังนั้นพวกเขาต้องมีส่วนร่วม และการพัฒนาต่อไป พี่น้องชาวเลต้องเข้ามามีบทบาทในการกำหนดวิถีชีวิตของเขาด้วย ขณะเดียวกันภาคส่วนอื่นๆซึ่งได้ประโยชน์จากพี่น้องชาวเลมากว่า 60 ปี ก็ต้องหันมาร่วมมือกับชาวเลมาคุยกันหาทิศทางการพัฒนาให้เป็นเกาะระดับโลกทุกด้าน โดยเฉพาะปราศจากมาเฟียอิทธิพลจะเดินหน้ากันอย่างไร อันนี้เป็นหน้าที่ของอนุกรรมการชุดนี้ “ 

 รศ.ธนพร ศรียากูล  

รศ.ธนพร ยังย้ำว่า ไม่ว่าใครจะเข้ามาเป็นรัฐบาล การแก้ปัญหานี้ต้องเดินหน้าต่อเนื่อง เพราะการทำงานของคณะกรรมการชุดนี้ มีความต่างจาก กรรมการที่รัฐบาลแต่งตั้งในสมัยก่อน ซึ่งที่ผ่านมาการตั้งกรรมการมาแก้ไขปัญหาแบบนี้ จะเป็นฝ่านนโยบาย มีรัฐมนตรี เลขานายกฯเป็นประธาน  และประกอบด้วยหน่วยงาน ซึ่งกรรมการลักษณะนี้ พอหมดอำนาจทางการเมืองไป ก็เดินต่อไม่ได้

“กรรมการชุดนี้ เราจะเห็นว่าตั้ง พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ เป็นประธาน และหน่วยงาน ที่มาเป็น ก็คือหน่วยงานประจำหมดเลย และในคำสั่งเขียนไว้ชัดว่าให้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ นั่นแปลว่า กรรมการชุดนี้มีอำนาจเต็มในการบังคับใช้กฎหมาย เพราะฉะนั้นไม่ว่าฝ่ายรัฐบาลจะเปลี่ยนไปอย่างไร แต่กรรมการชุดนี้ก็ยังคงดำเนินการได้ต่อเนื่อง แปลว่าการแก้ไขปัญหาเกาะหลีเป๊ะ มีความหวังที่จะเห็นความสำเร็จ”

รศ.ธนพร ศรียากูล  

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active