กลุ่มเรือปลากะตัก ยกระดับปิดอ่าวปากบารา กระทบท่องเที่ยวเกาะหลีเป๊ะ

แสดงออกเชิงสัญลักษณ์กดดันภาครัฐเจรจาแก้ปัญหา การประกาศพื้นที่จับสัตว์น้ำเขตชายฝั่ง ด้าน “สมาคมรักษ์ทะเลไทย” จับตาหน่วยงานเกี่ยวข้อง เข้มงวดปฏิบัติตามกฎกระทรวงฯ กำหนดเขตทะเลชายฝั่ง

วันนี้ (17 มิ.ย. 2566) กลุ่มเรือประมงปลากะตักกว่า 20 ลำ ยังคงรวมตัวปิดร่องน้ำ คลองปากบารา อ.ละงู จ.สตูล เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์กดดันให้ภาครัฐเจรจาแก้ปัญหา เรื่องการประกาศพื้นที่จับสัตว์น้ำเขตชายฝั่งทะเลของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยวันนี้ยกระดับปิดร่องน้ำคลองปากบาราเต็มรูปแบบ ซึ่งส่งผลกระทบต่อเรือโดยสารท่องเที่ยวที่จะเดินทางไปยังเกาะหลีเป๊ะ โดยเรือท่องเที่ยวบางส่วน ต้องหลบไปใช้พื้นที่หน้าหาดอื่น 

ขณะที่ เจ้าหน้าที่ตำรวจและผู้นำท้องถิ่น พยายามเข้ามาพูดคุยและเจรจา กับตัวแทนกลุ่มเรือประมงปลากะตักเพื่อให้ชะลอการยกระดับปิดร่องน้ำ โดยขอให้หารือร่วมกัน เพราะหากปิดร่องน้ำเต็มพื้นที่จะกระทบต่อกลุ่มอาชีพอื่น ๆ ด้วย พร้อมทั้งพยายามทำความเข้าใจว่าการรวมตัวปิดร่องน้ำเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายและพยายามขอให้ยุติภายในวันนี้

สำหรับข้อเรียกร้องสำคัญของกลุ่มเรือประมงที่ออกมารวมตัวครั้งนี้ ขอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทบทวนประกาศกฎกระทรวง เรื่อง กำหนดเครื่องมือทำการประมง และพื้นที่ห้ามใช้ทำการประมงในที่จับสัตว์น้ำ เขตชายฝั่งทะเล พ.ศ. 2560 เนื่องจากเรือประมงครอบปลากะตัก เป็น 1 ใน 12 เครื่องมือที่ถูกประกาศห้ามใช้จับสัตว์น้ำในเขตทะเลชายฝั่ง ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อเรือประมงอวนครอบปลากะตัก ซึ่งล่าสุด ถูกเจ้าหน้าที่ประมงจับกุมดำเนินคดีจำนวน 3 ลำ พร้อมลูกเรืออีก 12 คน จนนำมาสู่การรวมตัวปิดร่องน้ำคลองปากบาราเพื่อให้แก้ปัญหาที่เกิดขึ้น

รายงานจาก Thai PBS News ระบุว่า ทางจังหวัดสตูล และประมงจังหวัด ยังคงสงวนท่าทีในการรับข้อเรียกร้อง เพราะหากปล่อยให้มีการทำประมงไปก่อนที่จะมีการทบทวนกฎกระทรวง พ.ศ. 2565 จะเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ 

จากกรณีดังกล่าว วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย เปิดเผยกับ The Active ว่า หากมองในข้อเท็จจริง 2-3 เรื่อง  มีความชัดเจนอยู่แล้วว่ากลุ่มเรือที่ออกมาประท้วง ไม่ได้เป็นเรือประมงพื้นบ้าน แต่เป็น “เรือประกอบการประมงพาณิชย์” เพราะมีการใช้เครื่องมือประสิทธิภาพสูง เรือบางลำมีขนาดใกล้เคียงกับเรือขนาดเกิน 10 ตันกลอส แต่เนื่องจากมีวิธีวัดเรือที่ทำให้การคำนวณขนาดตันกรอส ระวางบรรทุกเล็กลงกว่า 10 ตันกลอส จากการสังเกตเรือทั้งหมดที่จอดปิดอ่าว ตามภาพข่าว มีเพียง 4 ลำที่เป็นเรือเล็กที่ใช้หางยาว แต่ทั้งหมด เป็นเรือการประมงพาณิชย์ โดยสภาพการใช้เครื่องมือ ซึ่งไม่สมควรนำมาทำการประมงในเขตทะเลชายฝั่ง 

หากพิจารณาดูในส่วนพื้นที่ทางทะเลอ่าวสตูล มีปากอ่าวหรือเส้นทางของสัตว์น้ำ แค่ 3 ทาง คือ หนึ่ง ด้านที่ติดกับชายแดนมาเลเซีย ซึ่งประเทศไทยบริหารจัดการไม่ได้มากนักอยู่แล้ว, สอง คือ เส้นจากร่องกลาง ผ่านร่องหินเซี่ยนซึ่งมีพื้นที่แคบ แค่ประมาณ 30 เมตร ใช้เป็นเส้นทางเดินเรือประมงที่ทุกชนิด ใช้เป็นเรือสัญจร  และ สาม คือ ปากร่องน้ำมานะ คือ พื้นที่ระหว่าง เกาะตะรุเตา กับ เกาะเขาใหญ่ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่คาดว่าผู้ประท้วงต้องการจะให้ยกเลิกการประกาศเขตทะเลชายฝั่ง แต่พื้นที่ดังกล่าว เป็นพื้นที่ล่อแหลม และมีความเสี่ยงในการทำลายทรัพยากรสัตว์น้ำมาก จึงควรได้รับการปกป้องเป็นเส้นทางเดินของสัตว์น้ำเพิ่มเป็นพื้นที่เขตทะเลชายฝั่ง โดยที่ผ่านมาส่วนใหญ่เห็นพ้องกันมาแล้ว หากมองด้วยความเป็นธรรม ตรงนี้ถือเป็นประโยชน์ต่อสัตว์น้ำ และเรืออีกกว่า 5 พันลำ  

“ขณะที่เรือปั่นไฟจับปลากะตัก กฎหมายระบุให้เป็นการประมงพาณิชย์ เพราะมีประสิทธิภาพสูง ที่ผ่านมาทุกจังหวัดยอมรับเงื่อนไขนี้และเป็นเรือประมงพาณิชย์ มีแค่ในจังหวัดสตูลไม่กี่ลำนี้เท่านั้น ที่ยังคงออกมาเรียกร้องอยากทำในเขตทะเลชายฝั่ง ดังนั้น ที่บอกว่าเขตทะเลชายฝั่งไม่เป็นธรรมนั้น ต้องถามกลับเรือสิบกว่าลำที่ไม่ยอมรับว่า แล้วการใช้เครื่องมือประสิทธิภาพสูง จนทำให้ทรัพยากรเสียหาย มันเป็นธรรมกับคนอื่น ชาวประมงอื่น ๆ และสัตว์น้ำหรือเปล่า “

วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย
วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี 

วิโชคศักดิ์ ระบุอีกว่า ก่อนหน้านี้ เคยมีการเรียกร้องให้ยกเลิกเครื่องมือชนิดนี้ด้วยซ้ำ แต่มีการเสนอทางออกว่าไม่ต้องยกเลิก แต่ให้ใช้มาตรการควบคุมแทน โดยอาจควบคุมจำนวนด้วยการให้มีใบอนุญาตการประมงเรือปั่นไฟปลากะตัก และควบคุม ไม่ให้ทำการประมงในเขตทะเลชายฝั่ง หรือพื้นที่สุ่มเสี่ยงแทน เพื่อลดผลกระทบต่อสัตว์ทะเล แต่ก็ไม่ยอมกัน ทุกวันนี้ ต้องบอกว่าเรือประมงดังกล่าวเป็นเรือประมงเถื่อน และอ้างว่าเพิ่งทำประมงชนิดนี้ช่วงหลังปลดไอยูยูปี 2562 ที่ผ่านมาเท่านั้น ก็ต้องตั้งคำถามว่าตกลงจะเอาอย่างไรแน่ หรือคิดเฉพาะทางที่เป็นประโยชน์ต่อกลุ่มตนเอง ไม่สนใจผู้อื่น และทรัพยากรที่ทุกวันนี้ก็ลดน้อยลงไปมาก 

ส่วนเรื่องข้อเรียกร้องให้มีการทบทวนแนวเขตทะเลชายฝั่งใหม่ อันนี้ตนไม่มีคำถามต่อผู้เรียกร้อง เพราะก็เรียกร้องไปเพื่อผลประโยชน์ส่วนตน แต่ที่อยากตั้งคำถามคือหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องว่า ตกลงจะแก้ไขทบทวนเขตทะเลชายฝั่งใหม่ เพื่อคนหรือเรือแค่สิบกว่าลำนี้หรือไม่ โดยที่ฝ่ายปกครองมีความรู้เรื่องประมงจำกัดมากพยายามอ้างเรื่องใช้รัฐศาสตร์มาแก้ปัญหา ว่าประชาชนเขาเดือดร้อน ต้องแก้ไขให้ ก็ต้องถามว่าถ้าใช้รัฐศาสตร์ กับ คนอื่น ๆ อีกกว่า 5 พันลำอย่างไร สรุปคือจะเอื้อให้ใคร ใช้หลักรัฐศาสตร์เพื่อใคร 

“เมื่อ 2 พ.ค. ที่ผ่านมา กลุ่มนี้ไปยื่นหนังสือที่จังหวัด ขอให้ทบทวนแนวคิดที่จะแก้ไขเขตทะเลชายฝั่งเพื่อเรือ 18 ลำนี้  ซึ่งทางเราได้พบประมงจังหวัด ได้พูดคุยกัน บอกว่า เพราะมีหนังสือร้องเรียน ขอให้แก้ไข เราก็มองว่าควรใช้กลไกคณะกรรมการประมงประจำจังหวัดพิจารณาเรื่องนี้ ซึ่งก็รับปาก แต่ปรากฏว่า วันนั้นก็ไม่ได้เรียกกรรมการประมงฯ หารือแก้ไข “

วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย

นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย บอกว่าได้ทราบมาว่าสำนักงานประมงจังหวัดสตูล อ้างถึงการประชุมเมื่อวันที่ 14 มิ.ย. ที่ผ่านมา ว่ามีการกลับมาคุยกับผู้ชุมนุม ตนขอตั้งคำถามว่าประชุมกับใคร และหลักการที่จะแก้ไขเรื่องนี้ สุดท้ายไม่ใช่เพื่อเรือ 18 ลำเท่านั้น แต่เอื้อประมงพาณิชย์ทุกขนาด ทุกชนิด ให้สามารถเข้ามาประมงในเขตทะเลชายฝั่งได้หมด จึงถือเป็นการสมรู้ร่วมคิดวางแผนหรือไม่ เหตุใดจึงไม่รายงานเรื่องคดีให้ประชาชนรับทราบข้อเท็จจริง ตนมองว่า ไม่ควรเอาใจตามข้อเรียกร้องของผู้ประท้วงไม่กี่ลำเพียงอย่างเดียว เพราะการกำหนดเขตทะเลชายฝั่งเป็นมติที่เห็นพ้องกันทุกฝ่าย บนหลักความเป็นธรรมและทรัพยากรทางทะเลที่ยั่งยืน 

นอกจากนี้ เขายังมองว่า ช่วงสุญญากาศที่การเมืองยังไม่นิ่ง และการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ล่าช้า เอื้อให้กลุ่มทำประมงผิดกฎหมายไม่มีความเกรงกลัว ประกอบกับความไม่ชัดเจนของฝ่ายที่เตรียมจัดตั้งรัฐบาล แม้จะมีการเซ็น MOU และตั้งคณะทำงานเปลี่ยนผ่านการปฏิรูปประมงยั่งยืน แต่ความไม่ชัดเจนในรายละเอียดการปฏิรูปและแก้ไขกฎหมาย ทำให้เกิดความคลุมเครือ ซึ่งก่อนการเลือกตั้งมีกลุ่มประมงไปยื่นข้อเรียกร้องและการแก้ไขปัญหาหลายเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อตนเอง การไม่ชัดเจนตรงนี้ จึงทำให้บางกลุ่มไม่เกรงกลัว โดยที่หน่วยงานไม่คิดทำอะไร เช่น เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมาแถบทะเลสตูล มีขบวนเรือคราดปลิงทะเลตรงชายฝั่งแบบไม่เกรงกลัวใด ๆ จึงเป็นเรื่องที่กังวลต่อทรัพยากรที่ถูกทำลายมากขึ้น

ภาพเจ้าหน้าที่เข้าจับกุม เมื่อวันที่ 20 ก.พ.2566

สำหรับกรณีดังกล่าว เป็นผลมาจากเมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2566 เจ้าหน้าที่ได้เข้าจับเรือประมงอวนลาก ที่ลักลอบทำประมงในพื้นที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา ได้ 27 ลำ โดยเป็นผลสืบเนื่องมาจากการลงพื้นที่ติดตามปัญหาข้อพิพาทที่ดินเกาะหลีเป๊ะ ของ พลตำรวจเอก สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. เมื่อช่วงปลายเดือนก่อน และตรวจสอบพบเรือประมงขนาดใหญ่ลากอวนทำการประมงอยู่ในทะเลใกล้เกาะหลีเป๊ะ ในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา ถือเป็นการกระทำผิดกฎหมาย และส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและความหลากหลายของทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล จึงได้มอบหมายให้ กรมประมง และกรมอุทยานฯ ตรวจสอบเรื่องนี้ จนมาสู่การจับกุมเรือดังกล่าว ถือเป็น การกระทำผิดตาม พรบ.อุทยานฯ ปี 2562 ในหลายข้อหา

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active