วันผู้สูญหายสากล ‘อังคณา นีละไพจิตร’ ย้ำ เราจะไม่ตระหนักเรื่องนี้ จนกว่าจะถูกพรากอะไรไป

เปิดสถานการณ์อุ้มหายทั่วโลก พบภูมิภาคเอเชียน่าเป็นห่วง เร่งไทยให้สัตยาบัน ตั้งข้อสังเกตกฎหมาย อาจเปิดช่องลอยนวลพ้นผิด

เนื่องในวันที่ 30 สิงหาคมของทุกปี สหประชาชาติกำหนดให้เป็นวัน ‘วันผู้สูญหายสากล’ (International Day of the Disappeared) เมื่อวานนี้ (27 ส.ค. 65) ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา อังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชน ในฐานะสมาชิกคณะทำงานด้านการบังคับสูญหายโดยไม่สมัครใจของสหประชาชาติ (Working Group on Enforced or Involuntary Disappearances – WGEID) ได้กล่าวปาฐกถา ระบุถึงสถานการณ์การบังคับให้บุคคลสูญหายทั่วโลก พบว่า ประเทศในทวีปเอเชียมีความน่าเป็นห่วง และมีจำนวนการแจ้งบุคคลสูญหายสูงขึ้นเรื่อย ๆ

อังคณา นีละไพจิตร

อังคณา กล่าวถึง คณะทำงานด้านการบังคับสูญหายฯ ว่ากลไกเฉพาะเรื่องขององค์การสหประชาชาติ ที่พิจารณาเกี่ยวกับการบังคับสูญหายของบุคคลทั่วโลก ปัจจุบันอยู่ในการดูแลกว่า 60,000 ราย จนถึงทุกวันนี้ คณะทำงานนี้เป็นช่องทางด้านการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และเป็นช่องทางสื่อสารระหว่างรัฐบาล และผู้สูญหาย ที่ผ่านมาคณะทำงานฯสามารถชี้แจงถึงรายละเอียดของการถูกบังคับให้สูญหายได้มากถึง 13,000 กรณี

สำหรับประเทศไทยแม้จะเป็นประเทศผู้ลงนามในอนุสัญญาห้ามกระทำให้บุคคลสูญหายของสหประชาชาติ แต่ยังไม่ได้ให้สัตยาบันให้อนุสัญญาดังกล่าว อย่างไรก็ตาม อังคณา บอกว่า ประเทศไทยยังอยู่ภายใต้อาณัติที่ต้องปฏิตามปฏิญญา ว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ 1992 โดยคณะทำงานฯ ได้ให้บริการผู้เสียหายและครอบครัวในการแสวงหาสิทธิในความจริง การยุติความทุกข์ทรมาน และส่งมอบความยุติธรรมให้ญาติและครอบครัวผู้ถูกบังคับสูญหายทุกคน

“ดิฉันขอพูดในนามของเหยื่อคนหนึ่ง ในฐานะครอบครัวผู้สูญหาย เราเป็นคนเล็ก ๆ ที่ถูกกันออกจากกระบวนการต่าง ๆ การบังคับสูญหาย สามารถเกิดขึ้นกับใครก็ได้ เราจะไม่มีทางตระหนักเรื่องนี้ จนกว่าจะถูกพรากบางอย่างไปอาชญากรรมนี้ไม่ได้มีผลทำให้คนหายไป แต่ยังทำให้คนที่มีชีวิตอยู่เหมือนตายทั้งเป็น สิ่งที่ครอบครัวต้องเผชิญทุกลมหายใจ คือ ความคลุมเครือของการสืบสวน การต่อสู้แม้เต็มไปด้วยความพ่ายแพ้และเจ็บปวด แต่สักวันหนึ่งความจริงจะถูกเปิด ผู้กระทำผิดจะไม่มีที่หลบซ่อน และความยุติธรรมจะกลับมา”

อังคณา นีละไพจิตร

นอกจากนั้น อังคณา ยังตั้งข้อสังเกตถึงร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการกระทำทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ที่เพิ่งผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา โดยเฉพาะมาตรา 7 วรรคสอง ว่าด้วยการกระทำความผิดอุ้มหาย แม้ให้ถือเป็นความผิดต่อเนื่อง จนกว่าจะทราบชะตากรรม และกำหนดให้สืบสวนจนกว่าจะพบบุคลที่สูญหายเป็นนัยยะสำคัญที่ซ่อนเร้นบางอย่าง เพราะ การสืบสวนตามกฎหมายไทยนั้นเพียงให้ “ทราบชะตากรรม” อาจถูกตีความทางกฎหมาย คือ ไม่ได้สอบสวนเพื่อนำคนผิดมาลงโทษ

“เอากระดูกคืนครอบครัวไป แต่ไม่สอบสวนว่าเขาเสียไปอย่างไร หรือใครทำให้เขาเป็นเช่นนั้น เปิดช่องการลอยนวลพ้นผิด รวมถึงอายุความที่สั้นเท่ากับความผิดอาญาทั่วไป และการอนุญาตให้มีการนิรโทษกรรม ที่เปิดช่องให้อ้างเหตุผลการบังคับสูญหายได้” 

อังคณา นีละไพจิตร


Author

Alternative Text
AUTHOR

ธีร์วัฒน์ ชูรัตน์

เรียนจบกฎหมาย มาเป็นนักข่าว เด็กหลังห้อง ที่มักตั้งคำถามด้วยความไม่รู้