‘เยาวชนชาติพันธุ์’ หวั่น ‘เหมือง-เขื่อน’ ทำลายชุมชน วิถีทำกินดั้งเดิม

หวังสื่อสาร สะท้อนปัญหาการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ โดยไม่ฟังเสียงชาวบ้าน ไม่สนเสียงคัดค้าน กระทบระบบนิเวศน์ การพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติ สร้างความเดือดร้อน ชุมชน

เมื่อวันที่ 6 ส.ค.65 The Active ร่วมกับภาคีเครือข่ายชาติพันธุ์กว่า 60 กลุ่ม จัดกิจกรรมเฉลิมฉลองวันชนเผ่าพื้นเมืองสากล หนึ่งในกิจกรรมที่น่าสนใจ คือ การแสดงผลงานวิดีโอ “เสียงชนเผ่าพื้นเมืองกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” และการเสวนาเรื่อง “พื้นที่สื่อสิทธิ พื้นที่ส่งเสียง” เพื่อสะท้อนความห่วงกังวลที่อาจมาพร้อมกับโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ในพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับการเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศ และกระทบต่อวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวบ้าน แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีความพยายามคัดค้านการเดินหน้าก่อสร้างในหลายโครงการแต่ยากที่จะขัดขวางแนวนโยบายของภาครัฐ กลุ่มนักกิจกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมและชนเผ่าพื้นเมือง จึงได้รวมกลุ่มกันออกแบบกิจกรรม เพื่อสร้างพื้นที่ในการสื่อสารประเด็นปัญหาในพื้นที่ทั้ง 4 แห่ง ดังนี้

คลิปที่ 1 เรื่อง “ชุมชนบ้านกะเบอะดิน” กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโผล่ง จ.เชียงใหม่ พื้นที่ที่กำลังริเริ่มโครงการเหมืองแร่ถ่านหินอมก๋อย โดยสะท้อนผลกระทบต่อวิถีชีวิตของผู้คนในชุมชนที่พึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติ หากปล่อยให้โครงการเหมืองเกิดขึ้นในหมู่บ้าน เช่น ลำห้วยผาขาว สายน้ำสำคัญของหมู่บ้านที่ชาวบ้านใช้อุปโภค บริโภค เกษตรกรรม เพาะปลูกกะหล่ำปลี และมะเขือส้ม พืชเศรษฐกิจหลักของชุมชน ซึ่งหากมีเหมืองเกิดขึ้นจะมีผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศน์ของป่าและลำน้ำ สภาพภูมิอากาศ และวิถีชีวิตของผู้คนในชุมชน

คลิปที่ 2 เรื่อง “ชุมชนบ้านห้วยมะกอก” กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงสะกอ จ.แม่ฮ่องสอน กำลังได้รับผลกระทบจากโครงการเหมืองแร่ฟลูออไรต์ อ.แม่ลาน้อย ที่กำลังเกิดขึ้นใหม่ และทางโครงการที่ขอสัมปทานเหมืองแร่นั้น กำลังอยู่ในระหว่างกระบวนการจัดทำเวทีรับฟังความคิดเห็นเพื่อนำไปประกอบรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม EIA โดยปัจจุบันชาวบ้านกำลังร่วมกันต่อสู้และคัดค้านโครงการดังกล่าว

พิชยา เกตุอุดม ตัวแทนเยาวชนเมืองจากกลุ่มบ้านห้วยมะกอก ระบุว่า อยากให้เรื่องสิทธิมนุษยชน สิทธิชาติพันธุ์ และวิกฤตภาวะโลกร้อนอยู่ในแบบเรียน เพราะที่ผ่านมาพบว่า การเรียนรู้ของชาติพันธุ์ยังขาดเรื่องนี้ ทั้งที่ควรเป็นวิชาหลักเพื่อคืนความเป็นมนุษย์ให้กับตัวกลุ่มชาติพันธุ์ ถึงเวลาแล้วที่จะต้องคืนความเป็นมนุษย์ให้กับทุกคน

คลิปที่ 3 เรื่อง “ชุมชนบ้านท่าตาฝั่ง” เป็นกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงปกาเกอะญอ จ.แม่ฮ่องสอน ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาเขื่อนในแม่น้ำสาละวิน โดยปัจจุบันชุมชนได้ร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชนคัดค้านโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ต่าง ๆ ในแม่น้ำสาละวินทุก ๆ ปี เพราะหากเกิดโครงการพัฒนาเขื่อนขึ้นจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศของแม่น้ำโดยตรง ตลอดรวมไปถึงพื้นที่ป่าที่จะถูกทำลายเพื่อใช้สร้างโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ ทำให้ไม่มีป่าให้ใช้ชะลอกระแสน้ำในฤดูน้ำหลาก กักเก็บน้ำในช่วงแล้ง ปลาในแม่น้ำสูญพันธุ์หรือหายไป และสมุนไพรพื้นบ้านที่มีสรรพคุณเป็นยาก็จะหายไปด้วย สิ่งนี้จะทำให้วิถีชีวิตของชาวบ้านบ้านท่าตาฝั่งเปลี่ยนแปลงไปด้วย

“คนที่จะให้การสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงในชุมชน คิดว่าควรที่จะให้มีส่วนร่วมกับชุมชนที่จะแสดงออกทางความคิด เป็นความคิดร่วมกันของภาครัฐและคนในชุมชน”

กฤษดาพันธ์ หงส์อาจหาญ ตัวแทนเยาวชนเมืองจากกลุ่มบ้านห้วยมะกอก
ศุภชัย เสมาคีรีกุล ตัวแทนเยาวชนเผ่าจากกลุ่มบ้านเบ๊อะบละตู

คลิปที่ 4 เรื่อง “ชุมชนบ้านเบ๊อะบละตู” เป็นกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงปกาเกอะญอ จ.ตาก โดยคนบ้านเบ๊อะบละตู กำลังเผชิญปัญหากับการจะถูกประกาศเป็นเขตอุทยาน และผลกระทบจากนโยบายการจัดการป่าของรัฐ เช่น การที่ห้ามเผานอกฤดูกาลที่กำหนด และคล้ายกับการถูกบังคับให้เปลี่ยนวิธีการทำกิน จึงมีการเรียกร้องสิทธิ์ในการกำหนดวิถีชีวิตของตนเอง มีความมั่นคงในอาหาร และชีวิต ตลอดจนกระทั่งมีสิทธิ์ในการมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย

ศุภชัย เสมาคีรีกุล ตัวแทนเยาวชนเผ่าจากกลุ่มบ้านเบ๊อะบละตู กล่าวว่า วิถีชีวิตของพื้นที่ และปัญหาของแต่ละแห่งคล้ายกันมาก ทั้งการดำเนินชีวิตและความต้องการของชุมชนทั้ง 4 แห่งเหมือนกัน คือการพัฒนาที่ดินกระทบวิถีชีวิตของชาวบ้าน คนออกกฎหมายควรที่จะเห็นปัญหานี้ และอยากให้สื่อมวลชนทำสื่อเพื่อสื่อสารข้อมูลจริง ไม่ใช่แค่ทำไปเพื่อต้องการยอดชมเพราะมันไม่ดีต่อผู้ที่ได้รับความเสียหาย

รัชชา สถิตทรงธรรม ตัวแทนเยาวชนเมืองจากกลุ่มบ้านเบ๊อะบละตู บอกว่า การทำไร่เลื่อนลอยเป็นสิ่งที่ผิด นี่คือสิ่งที่รู้มาจากหนังสือเรียนตลอด แต่เมื่อได้สื่อสารกับชาวบ้านจริง ๆ ได้ลงพื้นที่จริง ๆ สิ่งที่เราได้เห็นวิถีชีวิตของพี่น้องกะเหรี่ยง เห็นว่าไร่หมุนเวียนเป็นยังไง มีกระบวนการหมุนแปลง รักษาพื้นที่ ดินน้ำป่าอย่างไร ทำให้เข้าใจบริบทของชาติพันธุ์มากขึ้น และเข้าใจถึงปัญหาที่เข้าใจผิด จึงอยากจะสื่อสารให้สังคมเข้าใจถูกต้อง และก้าวต่อไปคือความพยายามรักษาวิถีดั้งเดิมไม่ให้ถูกทำลายไป

รัชชา สถิตทรงธรรม ตัวแทนเยาวชนเมืองจากกลุ่มบ้านเบ๊อะบละตู

“การที่มีกระบอกเสียงช่วยทำให้เสียงของพี่น้องดังขึ้นจะทำให้มีกำลังใจทื่จะต่อสู้เพื่อรักษาพื้นที่ สิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิตดั้งเดิมของชุมชน อยากให้เกิดความร่วมมือในการสื่อสารของสื่อหลัก สื่อท้องถิ่น และสื่อชุมชน”

รัชชา สถิตทรงธรรม ตัวแทนเยาวชนเมืองจากกลุ่มบ้านเบ๊อะบละตู

Author

Alternative Text
AUTHOR

พิชญาพร โพธิ์สง่า

นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้