‘พีมูฟ’ ท้า ‘กรมอุทยานฯ’ ตอบให้ชัด หลังแจงชาวบ้านติดคุก ไม่เกี่ยว One Map

กรมอุทยานฯ แจงกะเหรี่ยงหนองหญ้าปล้อง ทำผิดคดีรุกป่าจริง ฝั่ง ‘พีมูฟ’ จี้ตอบให้ตรงประเด็น ปฏิบัติผิดหลักแก้ปัญหาคนกับป่า สะท้อนผ่านงบฯ ’66 เน้นปราบปราม มากกว่าแก้ปัญหาช่วยชาวบ้าน

ภาพจาก Facebook : พชร คำชำนาญ

ภายหลัง รัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ชี้แจงกรณี วันเสาร์ ภุงาม ชาวกะเหรี่ยงบ้านท่าเสลา อ.หนองหญ้าปล้อง จ.เพชรบุรี ถูกศาลฎีกาพิพากษา จำคุก 2 ปี 8 เดือน ให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่รัฐเป็นเงิน 310,000 บาท ไม่รอลงอาญา รวมถึงให้รื้อถอนบ้านและสิ่งปลูกสร้าง ในคดีบุกรุกอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน โดยยืนยันเป็นการดำเนินคดีในความผิดต่อ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ, พ.ร.บ.ป่าไม้ และ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ ซึ่งเจ้าหน้าที่และคณะทำงานกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ตามคำสั่ง ที่97/2558 ลงวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2558 ได้ร่วมพิจารณา จากเส้นแนวเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ตามแผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน พ.ศ. 2524 และถ่ายทอดเส้นแนวเขตเป็นระบบเชิงเลข (shape file) แล้ว ซึ่งการดำเนินคดีกรณีบุกรุกอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ในครั้งนี้ไม่เกี่ยวข้องกับการปรับปรุงแนวที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ (One Map) นั้น

ล่าสุด วันนี้ (29 ก.ค.65) พชร คำชำนาญ กองเลขานุการขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ถึงกรณีดังกล่าว โดยระบุ คำถามเดียวที่กรมอุทยานฯ ต้องตอบสังคมคือ “จับเขาทำไม” ไม่ใช่มาชี้แจงเรื่อง One Map หรือการออกมา บอกว่า พื้นที่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ

พชร คำชำนาญ กองเลขานุการขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ)

พชร ระบุอีกว่า กรมอุทยานฯ ต้องตอบให้ชัดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับชาวบ้าน เป็นแนวทางตามคำสั่ง คสช. ที่ 64/2557 เป็นนโยบายที่ได้ร่วมกันกับคณะรัฐประหารจัดการชาวบ้าน ตอบมาให้ชัดว่าอยู่ในแผนแม่บทป่าไม้ฯ คณะกรรมการนโยบายป่าไม้แห่งชาติ และแผนแม่บทพัฒนาการป่าไม้แห่งชาติ ที่ต้องการพื้นที่ป่า 40% ของพื้นที่ประเทศ โดยไม่ต้องสนใจประวัติศาสตร์ของชุมชนใด ๆ ที่อยู่มาก่อนการประกาศเขตป่าทุกประเภท

โดยตัวเลข 40% นั้น แบ่งเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 25% เป้าหมายต้องทำให้ได้ภายในปี 2567 ฉะนั้นถ้าชี้แจงโดยการอ้างว่าเป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ก็ต้องหมายรวมถึงข้อมูลตามผลการดำเนินการสำรวจการถือครองที่ดินในเขตป่าอนุรักษ์ ตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ และ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ที่พบว่ามีชุมชนอาศัยอยู่มากถึง 4,192 หมู่บ้าน เนื้อที่รวมถึง 4,295,501.24 ไร่

พชร ระบุต่อว่า ในเมื่อกรมอุทยานฯ เห็นแล้วว่ามีคนอาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์จริง ซึ่งความจริงคือป่าอนุรักษ์ไปประกาศทับคน ทำไมจึงยังต้องให้ชาวบ้านอยู่อาศัย ใช้ชีวิตภายใต้เงื่อนไขกฎหมายที่ลิดรอดสิทธิประชาชน 

“คำถามคือ แล้วจากกรณีที่เกิดขึ้นกับนางวันเสาร์ ภุงาม จะต้องมีอีกกี่คนที่ต้องเดินหน้าเข้าคุกเข้าตาราง ถูกแย่งยึดที่ดิน หรือพวกเขาทำได้เพียงใช้ชีวิตอย่างระส่ำระสาย หวาดระแวง ชะตากรรมต้องถูกชี้และกำหนดจากพวกท่านหรือว่าต้องติดคุกเมื่อไร ถ้าชี้แจงว่าเพราะนางวันเสาร์อยู่ในเขตอุทยานฯ ก็หมายความว่าอีกกว่า 4 พันชุมชนที่อยู่ในเขตป่าอนุรักษ์ก็มีโอกาสจะต้องลงเอยแบบนางวันเสาร์หรือไม่ “ 

พชร คำชำนาญ กองเลขานุการขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม

ตั้งคำถามงบฯ เน้นปราบปราม มากกว่า แก้ปัญหาช่วยชาวบ้าน

พชร ยังระบุอีกว่า กรมอุทยานฯ กรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ต้องออกมาชี้ให้ชัด ว่า การแย่งยึดที่ดินคือนโยบายหลักในตอนนี้ สิ่งที่บ่งชี้คืองบประมาณของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในปี 2566 รวม 30,638.5 ล้านบาทนั้น ถูกจัดสรรเพื่อกิจการด้านการ “ป้องกันและปราบปราม” มากถึงเกือบ 3,000 ล้านบาท ในขณะที่งบประมาณด้านการแก้ไขปัญหาที่ดินมีเพียงประมาณ 400 ล้านบาท นั่นหมายความว่ากระทรวงฯ ให้ความสำคัญกับการปราบปราม มากกว่าการแก้ไขปัญหาที่ดินที่เรื้อรัง ซึ่งมีงบประมาณต่างกันถึงเกือบ 8 เท่าตัว

วันเสาร์ ภุงาม ชาวกะเหรี่ยงบ้านท่าเสลา อ.หนองหญ้าปล้อง จ.เพชรบุรี

“กรณีของนางวันเสาร์ คือโศกนาฏกรรม คือสิ่งที่สาธารณชนกำลังตั้งคำถามถึงความไม่เป็นธรรมของนโยบายและ “แนวคิด” ในการจัดการป่าของหน่วยงานคุณ ผู้คนกำลังถามหาสำนึก ความรับผิดชอบ และความเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบายจากพวกคุณ ไม่ใช่คำชี้แจงแก้ต่างที่ยิ่งซ้ำเติมเหยื่อ ทับถมความโกรธแค้นให้รอวันปะทุ“ 

พชร คำชำนาญ กองเลขานุการขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม

พชร ยังตั้งคำถามเพิ่มเติมด้วยว่า กรณีเหมืองแร่, บ้านพักศาล, อุโมงค์ผันน้ำ, เขื่อน, โครงการหลวง หรือแม้แต่สัตว์ ทำไมจึงอยู่กับป่าได้ แล้วเพราะเหตุใดชาวบ้านที่อยู่มาก่อนจึงถูกผลักไส นี่คือคำถามถึงแนวคิดการจัดการทรัพยากรของรัฐไทย ที่จนถึงวันนี้ยังไม่มีใครให้คำตอบ ดังนั้นจึงยืนยันว่าทุกหน่วยงาน ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต้องมีส่วนในการรับผิดชอบต่อโศกนาฏกรรมในผืนป่า ต้องยุติแผนการ กฎหมาย และนโยบายทั้งหมดที่เกี่ยวกับการทวงคืนผืนป่าและเพิ่มพื้นที่ป่าโดยทันที และต้องคืนความเป็นคนให้เหยื่อผู้ถูกกระทำจากนโยบายรัฐด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : ‘พีมูฟ’ จี้รัฐ ‘นิรโทษกรรม’ คืนสิทธิเหยื่อ ‘ทวงคืนผืนป่า’

อธิบดีกรมอุทยานฯ แจงชาวบ้านรุกป่าจริง

ก่อนหน้านี้กรณีที่ รัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ชี้แจงถึงคำพิพากษาศาลฎีกาที่เกิดขึ้นกับชาวกะเหรี่ยงบ้านท่าเสลา อ.หนองหญ้าปล้อง จ.เพชรบุรี โดยยืนยันว่า เป็นไปตามฐานความผิดบุกรุกป่าตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ร.บ.ป่าไม้ และพ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ ไม่เกี่ยวข้องกับการปรับปรุงแนวที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ (One Map)

เนื่องจากโครงการ One Map เป็นโครงการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1 : 4000 โดยหน่วยงานของรัฐจะนำแนวเขตที่ดิน ตามกฎหมายของหน่วยงานรัฐนั้นฯ มาลงในแผนที่เดียวกันในมาตราส่วน 1:4000 แล้วทำการปรับแนวเขตที่มีการทับซ้อนกัน ให้เหลือ 1 พื้นที่ 1 หน่วยงาน 1 กฎหมาย โดยการดำเนินการต้องดำเนินการปรับแนวเขต ตามหลักเกณฑ์ที่ได้ตกลงร่วมกัน และเสนอให้ คณะรัฐมนตรีรับทราบแล้ว และเมื่อหน่วยงานได้ร่วมกันปรับแนวเขตจนเป็นที่ยุติแล้ว จะนำแนวเขตดังกล่าวเสนอคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ และ นำเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบต่อไปหลังจากนั้นหน่วยงานของรัฐ หน่วยงานใดที่มีการเปลี่ยนแปลงแนวเขตที่มีผลมาจากการปรับปรุงแนวเขตร่วมกันแล้วจะได้นำแนวเขตดังกล่าวไปประกาศให้เป็นแนวเขตที่ถูกต้องตามกฎหมายของแต่ละหน่วยงานต่อไป

ในส่วนการดำเนินการตามโครงการ One Map นั้นได้มีการแบ่งการดำเนินการ ออกเป็น 7 กลุ่ม กลุ่มละ 11 จังหวัด โดยกลุ่มจังหวัดที่ 1 ได้แก่ จังหวัดนนทบุรี, นครปฐม, อ่างทอง, สิงห์บุรี, สมุทรปราการ, สมุทรสาคร, สมุทรสงคราม, พระนครศรีอยุธยา, ปทุมธานี,  สุพรรณบุรี และ กรุงเทพมหานคร ซึ่งได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อย และคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแล้ว เมื่อวันที่ 8 ก.พ.ที่ผ่านมา และกลุ่มจังหวัดที่ 2 ได้แก่ จังหวัดจันทบุรี, ฉะเชิงเทรา, ชลบุรี, ชัยนาท, ตราด, นครนายก, นครสวรรค์, ระยอง, ลพบุรี, ศรีสะเกษ และสระบุรี ได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่าง นำเสนอ คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ สำหรับกลุ่มจังหวัด ที่ 3 – 7 อีก 55 จังหวัดที่เหลือ ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการ

Author

Alternative Text
AUTHOR

ทัศนีย์ ประกอบบุญ

นักข่าวสายลุย เกาะติดประเด็นแล้วไม่มีปล่อย รักการเดินทาง หลงรักศิลปะบนรองเท้า และชอบร้องเพลงเป็นชีวิตจิตใจ