เช็กนโยบาย ‘คุ้มครองผู้บริโภค’ ใครโดนใจ? ก่อนเข้าคูหาเลือก ผู้ว่าฯ กทม.

‘สภาองค์กรของผู้บริโภค’ รวบรวมนโยบาย 7 ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภค 9 ด้าน ให้คนกรุงเทพฯ ไว้พิจารณา ก่อนใช้สิทธิเลือกตั้ง 22 พ.ค.นี้

  • ประเด็นด้านการขนส่งและยานพาหนะ เป็นปัญหาของคนกรุงเทพฯ มาอย่างยาวนาน เช่น รถติด, การเข้าไม่ถึงขนส่งสาธารณะ, รถไฟฟ้าราคาแพง, รถเมล์มาไม่ตรงเวลา, พนักงานขับรถไม่สุภาพ รวมถึงการเรียกร้องขอให้เปิดเผยสัญญาณสัมปทานรถไฟฟ้าให้โปร่งใส ประเด็นเหล่านี้ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ส่วนใหญ่มองว่า รัฐบาลไม่ควรต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว

‘วิโรจน์ ลักขณาอดิศร’ มองว่า ควรเปิดสัญญาสัมปทานเดิมที่ทำกับรถไฟฟ้าสายสีเขียว และ ในอนาคตไม่ควรต่อสัญญาสัมปทานอีกแล้ว โดยต้องการผลักดันให้เกิดตั๋วร่วมในราคา 15 – 45 บาทตลอดสาย

‘รสนา โตสิตระกูล’ ที่เห็นว่า รัฐไม่ควรต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว และ จะผลักดันค่าโดยสารรถไฟฟ้าในอัตรา 20 บาทตลอดสาย

‘ชัชชาติ สิทธิพันธุ์’ มองว่า ไม่ควรต่อสัญญาสัมปทาน และ ควรเปิดเผยสัญญาสัมปทานเดิมออกมา รวมทั้งยังสนับสนุนให้ค่าโดยสารต่อเที่ยวมีราคาอยู่ระหว่าง 25 – 30 บาทตลอดสาย

‘น.ต.ศิธา ทิวารี’ ก็เห็นว่า ไม่ควรต่อสัญญาสัมปทานกับรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยจะผลักดันตั๋วร่วมให้เกิดขึ้นให้ได้

ด้าน ‘พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง’ เห็นว่า การต่อสัญญาสัมปทานกับรถไฟฟ้าสายสีเขียวและการเก็บค่าโดยสารในราคาสูงสุดไม่เกิน 65 บาท จะทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการรถไฟฟ้าได้

‘สกลธี ภัททิยกุล’ ก็ความพยายามจะเชื่อมระบบล้อ ราง เรือ ให้เกิดขึ้นทั่วกรุงเทพฯ

‘สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์’ ต้องการแก้ปัญหารถติด โดยนำปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาช่วยจัดการ

  • ประเด็นอสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัย ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. แต่ละคนพยายามจะทำให้กรุงเทพฯ มีผังเมืองที่น่าอยู่ แบ่งโซนให้เป็นสัดส่วน รวมถึงนำเสนอนโยบายจัดระเบียบไม่ให้กลุ่มทุนเข้ามาครอบครองผังเมืองด้วย
  • ประเด็นด้านการเงินการธนาคาร ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ส่วนใหญ่ เน้นที่การทำให้ผู้สูงอายุ เด็ก คนพิการ หรือคนที่เกษียณอายุไปแล้ว มีรายได้ที่ได้รับการอุดหนุนจากส่วนกลางเพิ่มมากขึ้น ทั้งการเพิ่มเงินผู้สูงอายุ เพิ่มเงินของเด็กและคนพิการ รวมถึงการเพิ่มเงินบำนาญให้ประชาชน
  • ประเด็นสินค้าและบริการทั่วไป ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. อย่าง ‘วิโรจน์ ลักขณาอดิศร’ เน้นทำให้ศูนย์เด็กเล็กมีคุณภาพ มีมาตรฐานทัดเทียมเทียบกับของเอกชน

‘พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง’ เน้นทำให้หน่วยงานราชการ กทม. โปร่งใส เชื่อมโยงข้อมูลต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว

‘รสนา โตสิตระกูล’ เน้นทำให้การค้าขายเป็นไปอย่างถูกกฎหมายมากยิ่งขึ้น เน้นความสะอาด ปลอดภัย และมีพื้นที่ทำเลที่ดีในการรองรับการค้าขาย

  • ประเด็นบริการสุขภาพ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ส่วนใหญ่เน้นนำเสนอนโยบายที่ดูแลสุขภาพประชาชน ให้รวดเร็ว ทั่วถึง ครอบคลุมทุกพื้นที่ และมีระบบที่ทันสมัยมากยิ่งขึ้น
  • ประเด็นบริการสาธารณะ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ทั้ง 7 คน เน้นหนักไปที่การเพิ่มพื้นที่สีเขียว เพิ่มสวนสาธารณะ จัดการปัญหาขยะ จัดเก็บขยะให้เป็นระบบ แยกขยะให้มากขึ้น และเปลี่ยนขยะให้เป็นรายได้

‘วิโรจน์ ลักขณาอดิศร’ ชูนโยบายเปลี่ยนที่รกร้างเป็นสวนสาธารณะ

‘สกลธี ภัททิยกุล’ พยายามลดขยะ และ แยกขยะให้มากขึ้น อีกทั้งต้องการเพิ่มสวนสาธารณะขนาดเล็กทั่วเมือง

‘สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์’ ต้องการปฏิวัติระบบการจัดเก็บขยะ, จัดการฝุ่น PM2.5 และ ผลักดันสวนสาธารณะฉบับกระเป๋า

‘พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง’ จะเดินหน้าปลูกต้นไม้เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว และทำคลองต่าง ๆ ให้น้ำใสขึ้น

‘รสนา โตสิตระกูล’ เน้นไปที่การทำกองทุนหลังคาบ้านโซลาร์เซลล์

‘ชัชชาติ สิทธิพันธุ์’ นำเสนอแนวคิดเปลี่ยนขยะเป็นรายได้ และ ผลักดันเรื่องสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น

‘น.ต.ศิธา ทิวารี’ จะผลักดันให้มีพื้นที่รองรับสังคมผู้สูงอายุ รวมถึงเพิ่มพื้นที่สีเขียวใน กทม. ให้มากขึ้น

  • ประเด็นระบบสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ ผู้สมัคร ผู้ว่าฯ กทม. แต่ละคนพยายามทำให้ กทม. กลายเป็นเมืองดิจิทัล ติดตั้งไวไฟฟรีทั่วเมือง เตรียมพร้อมความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ รวมถึงการปรับเปลี่ยนระบบการยื่นขอใบอนุญาตต่าง ๆ ให้เป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์
  • ประเด็นอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. อย่าง ‘สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์’ เน้นนโยบายเรื่องอาหารดี มีคุณภาพ

‘รสนา โตสิตระกูล’ เน้นนโยบายทำให้อาหาร ยา ผลิตภัณฑ์สุขภาพต่าง ๆ ถูกกฎหมาย มีคุณภาพ ปลอดภัย มากยิ่งขึ้น

ส่วนประเด็นสุดท้าย การศึกษา แต่ละคนนำเสนอนโยบายที่ทำให้โรงเรียนเป็นสถานที่ที่ตอบโจทย์นักเรียน ปรับหลักสูตรมีคุณภาพและเหมาะสมขึ้น รวมถึงสนับสนุนให้โรงเรียนมีพื้นที่ให้เอื้อต่อการทำกิจกรรมอื่น ๆ สำหรับเด็ก

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active